กระแสสีส้มฟีเวอร์ลามทั้งประเทศ ช็อก ก้าวไกล แลนด์สไลด์ กทม. คะแนนมาแบบสึนามิกวาดกว่า 30 เขต ลุ้นยกเมืองหลวง ปริมณฑล-สมุทรปราการ คลื่นส้มถล่มเรียบล้มทุกตัวเต็ง-ตัวตึง ระยอง-จันท์-ตราด ก็กวาดเรียบ ฐานบัญชาการเพื่อไทย เชียงใหม่ ก้าวไกลตีแตกยับ ประชาธิปัตย์ยังฟุบไม่ฟื้น ภาคใต้หลายค่ายรุมแชร์เก้าอี้ “สันติ-ธรรมนัส” ยังเจ๋ง พะเยา-เพชรบูรณ์ พปชร.รักษาเก้าอี้ไว้ครบ กกต.เผย 21.00 น. เพื่อไทยยังนำ แต่ก้าวไกลจี้ติดตูด ส.ส.เขต 99 ต่อ 90 ส่วนปาร์ตี้ลิสต์ค่ายสีส้มเหนือกว่า

ผลคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศปี 2566 พลิกความคาดหมายหลายพื้นที่โดยเฉพาะกระแสคลื่นสีส้มพรรคก้าวไกลลามฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ หลายพื้นที่แรงถึงขั้นกวาด ส.ส.ยกจังหวัด โดยเฉพาะเขตปริมณฑล ภาคตะวันออก ส่วนภาคเหนือและภาคอีสานก็สามารถเข้าไปเจาะที่มั่นของหลายพรรคการเมืองแบบเหลือเชื่อ ส่วนภาคใต้แรงมีลุ้นได้ ส.ส.ยกจังหวัดภูเก็ต

ปิดหีบโพลทุกสำนักชี้ เพื่อไทย มาที่ 1

วันที่ 14 พ.ค. เวลา 17.00 น. ภายหลังปิดหีบเลือกตั้ง ส.ส.ทั่วประเทศ สำนักโพลต่างๆทยอยเปิดเผยผลสำรวจที่ทำไว้ก่อนหน้าวันเลือกตั้งไม่กี่วัน แต่ไม่สามารถเผยแพร่ได้เนื่องจากติดเงื่อนไขกฎหมาย ทุกสำนักรายงานตรงกันว่า พรรคที่ชนะเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ส่วนใหญ่รายงานตรงกันว่าเป็นพรรคก้าวไกล ขณะที่อันดับ 3 เป็นพรรคภูมิใจไทย

...

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “สวนดุสิตโพล” มหา วิทยาลัยสวนดุสิต เผยผลสำรวจความเห็นประชาชน ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ค.2566 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 162,487 คน ปรากฏผลจำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองจะได้ดังนี้ พรรคเพื่อไทย ส.ส.บัญชีรายชื่อ 33 ส.ส.เขต 213 รวม 246 พรรคก้าวไกล บัญชีรายชื่อ 27 ส.ส.เขต 79 รวม 106 ภูมิใจไทย บัญชีรายชื่อ 9 ส.ส.เขต 36 รวม 45 ประชาธิปัตย์ บัญชีรายชื่อ 5 ส.ส.เขต 23 รวม 28 รวมไทยสร้างชาติ บัญชีรายชื่อ 10 ส.ส.เขต 15 รวม 25 พลังประชารัฐ บัญชีรายชื่อ 5 ส.ส.เขต 17 รวม 22 ชาติไทยพัฒนา บัญชีรายชื่อ 2 ส.ส.เขต 7 รวม 9 ประชาชาติ บัญชีรายชื่อ 1 ส.ส.เขต 7 รวม 8 ไทยสร้างไทย บัญชีรายชื่อ 2 ส.ส.เขต 2 รวม 4 เสรีรวมไทย บัญชีรายชื่อ 2 ส.ส.เขต 0 รวม 2 ชาติพัฒนากล้า บัญชีรายชื่อ 1 ส.ส.เขต 1 รวม 2 พรรคอื่นๆ บัญชีรายชื่อ 3 ส.ส.เขต 0 รวม 3

ช็อก!นิด้าโพล ก้าวไกลแลนด์สไลด์ กทม.

“นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คาดการณ์ผลการเลือกตั้ง ส.ส.รวม 2 ระบบ ทั้งบัญชีรายชื่อและเขต โดยสำรวจระหว่างวันที่ 1-11 พ.ค.2566 จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 6,252 คน ผลปรากฏว่าแต่ละพรรคการเมืองได้ ส.ส.ดังนี้ 1.พรรคเพื่อไทย 164-172 คน 2.พรรคก้าวไกล 80-88 คน 3.พรรคภูมิใจไทย 72-80 คน 4.พรรคพลังประชารัฐ 53-61 คน 5.พรรครวมไทยสร้างชาติ 45-53 คน 6.พรรคประชาธิปัตย์ 33-41 คน 7.พรรคชาติไทยพัฒนา 7-11 คน 8.พรรคไทยสร้างไทย 5-9 คน 9.พรรคประชาชาติ 4-8 คน 10.พรรคชาติพัฒนากล้า 2-6 คน 11.พรรคเสรีรวมไทย 0-1 คน และ 12.อื่นๆ 0-2 คน ขณะเดียวกัน “นิด้าโพล” ยังระบุว่า ส.ส.กทม.ทั้ง 33 เขต พรรคก้าวไกลมีแนวโน้มจะได้รับการเลือกตั้งถึง 32 เขต ส่วนอีก 1 เขตจะเป็นของพรรคเพื่อไทย ในเขตเลือกตั้งที่ 20

พระปกเกล้าชี้ ก้าวไกล แรงจัดตีคู่ เพื่อไทย

ด้านสถาบันพระปกเกล้าเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 1,540 ตัวอย่าง สำรวจระหว่างวันที่ 9-12 พ.ค. เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.2566 โดยปรากฏผลคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตดังนี้ ร้อยละ 27.95 ระบุเลือกพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 26.77 ก้าวไกล ร้อยละ 11.65 รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 10.75 ภูมิใจไทย ร้อยละ 8.95 พลังประชารัฐ ร้อยละ 4.95 ประชาธิปัตย์ ร้อยละ 8.96 อื่นๆ ขณะที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ร้อยละ 29.25 ระบุก้าวไกล ร้อยละ 29.13 เพื่อไทย ร้อยละ 14.13 รวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 7.80 พลังประชารัฐ ร้อยละ 7.78 ภูมิใจไทย ร้อยละ 4.27 ประชาธิปัตย์ และร้อยละ 7.64 อื่นๆ เมื่อถามว่า อยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย อันดับ 3 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯในฐานะแคนดิเดตนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติ อันดับ 4 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อันดับ 5 นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย

กกต.เริ่มรายงานผล เพื่อไทย นำ ก้าวไกล จี้ติด

กระทั่งเวลา 18.01 น. เว็บไซต์ ECT Report หรือระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เริ่มเปิดเผยการนับคะแนน มีการนับไปแล้ว 9 หน่วยเลือกตั้ง จาก 95,137 หน่วย คิดเป็น 0.01% มีผู้มาใช้สิทธิ 85,213 คน จากผู้มีสิทธิ 52,238,594 คน คิดเป็น 0.16% โดย ณ เวลา 18.01 น. พรรคที่มีคะแนนบัญชีรายชื่อนำอยู่คือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 58 คะแนน คิดเป็น 0.07% พรรคก้าวไกล รองลงมา 31 คะแนน คิดเป็น 0.04%

นับไป 2 ชั่วโมง ยังอืดได้ไม่ถึง 1%

ต่อมาเวลา 18.56 น. พบว่ามีการนับคะแนนไปแล้วจำนวน 750 หน่วยเลือกตั้ง คิดเป็น 0.79% มีผู้มาใช้สิทธิ 332,839 คน จากผู้มีสิทธิ 52,238,594 คน คิดเป็น 0.64% พรรคที่มีคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตนำอยู่คือ พรรคเพื่อไทย 34,941 คะแนน คาดการณ์ได้ 59 คน พรรคภูมิใจไทย 26,239 คะแนน คาดการณ์ได้ 27 คน พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 19,393 คะแนน คาดการณ์ 26 คะแนน พรรคก้าวไกล 25,522 คะแนน คาดการณ์ได้ 25 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 12,148 คะแนน คาดการณ์ได้ 15 คน พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 6,632 คะแนน คาดการณ์ได้ 9 คน พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 377 คะแนน คาดการณ์ 2 คน ส่วนพรรคที่มีคะแนน บัญชีรายชื่อนำอยู่คือ พรรคเพื่อไทย จำนวน 25,596 คะแนน คิดเป็น 7.69% พรรคก้าวไกลรองลงมา 21,795 คะแนน คิดเป็น 6.55% พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จำนวน 6,362 คะแนน คิดเป็น 1.91% พรรคภูมิใจไทย จำนวน 5,980 คะแนน คิดเป็น 1.80% พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จำนวน 1,123 คะแนน คิดเป็น 0.34% พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จำนวน 1,049 คะแนน คิดเป็น 0.32% พรรคประชาชาติ 743 คะแนน คิดเป็น 0.22% พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) 610 คะแนน คิดเป็น 0.18%

ฮือฮาก้าวไกลกวาด กทม.

ขณะที่ผลการนับคะแนนของสื่อมวลชน และสำนักข่าวต่างๆ จนถึงเวลาประมาณ 20.30 น. ล้วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พรรคก้าวไกล มาแรงเกินคาด ได้ ส.ส.แซงหน้าพรรคเพื่อไทยขึ้นไปเป็นอันดับ 1 มีคะแนน ส.ส.บัญชีรายชื่อนำหน้าพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับ ส.ส.เขต ตัวเลขก็ยังเหนือกว่าพรรคเพื่อไทยอีกด้วย

สำหรับการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในพื้นที่ กทม.จำนวน 33 เขต ปรากฏว่า เมื่อเวลา 20.30 น. เกือบทุกเขตเลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำแบบม้วนเดียวจบ เข้าวินมาเป็นอันดับหนึ่ง ถึง 31 เขต มีเพียงเขตเลือกตั้งที่ 20 น.ส.ธีรรัตน สำเร็จวานิช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำ และ กทม.เขต 15 ที่นายพลภูมิ วิภัติภูมิประเทศ จากพรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนนำ มีผู้สมัคร ส.ส.จากพรรคก้าวไกล มีคะแนนไล่ตามมาเป็นอันดับสองทั้ง 2 เขต ขณะที่ กทม.เขต 20 ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ จากพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำอนุสรณ์ ปั้นทอง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย อดีต 

ส.ส.หลายสมัย เช่นเดียวกับ กทม. เขต 28 น.ส.รัชนก ศรีนอก ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำนายวัน อยู่บำรุง ผู้สมัครพรรคเพื่อไทย อดีตแชมป์เก่าที่มีคะแนนตามมาเป็นอันดับสอง

บ้านใหญ่ปากน้ำโดนคลื่นส้มซัดหาย

สำหรับเมืองปากน้ำ จ.สมุทรปราการ บ้านใหญ่ตระกูลอัศวเหมที่สูญเสียเสาหลักอย่างนายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม หัวหน้าทีมไปอย่างกะทันหัน ทำให้ทีมผู้สมัครพรรคพลังประชารัฐในฐานะแชมป์เก่าเสียกระบวน และผลการเลือกตั้งก็ออกมาตามคาด เกิดการพลิกล็อกอุตลุด ทั้ง 8 เขตเลือกตั้ง ผู้สมัครของพรรคก้าวไกลมีคะแนนนำเกือบทุกเขต คนของตระกูล “อัศวเหม” มีแนวโน้มหลุดวงโคจรหมด รวมถึงอดีตพระเอกคนดังอย่างนายกรุงศรีวิไลย สุทินเผือก อดีตผู้แทนฯหลายสมัย ล้วนมีคะแนนตามอยู่ลำดับ 2 และลำดับ 3 ส่วนเจ้าของพื้นที่ดั้งเดิมอย่างพรรคเพื่อไทย เช่น นายประชา ประสพดี อดีตแกนนำกลุ่มเสื้อแดงที่หวังกลับมาทวงพื้นที่คืน ก็ไม่ติดอันดับโดนผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคก้าวไกลอาศัยความแรงของกระแสแซงเข้าป้ายแบบเหมาจังหวัด

ชายทะเลตะวันออกสีส้มยังยึดครอง

ส่วนพื้นที่ภาคตะวันออก 7 จังหวัด หัวเมืองชายทะเลกลายเป็นพื้นที่ตะวันส่องแสงสีส้มฉาบทาไปเกือบทั้งดินแดนบูรพาทิศ กวาดเก้าอี้ไปได้มากกว่าครึ่ง จาก 29 ที่นั่ง ได้ ส.ส.ยกจังหวัด ที่จันทบุรี ตราด ระยอง และแย่งที่นั่งส่วนใหญ่ที่ จ.ชลบุรี จนเรียกได้ว่าสถาปนา “บ้านสีส้ม” ผงาดเหนือ “บ้านใหญ่” และ “บ้านใหม่” โดยเฉพาะ จ.ชลบุรี ผู้สมัครก้าวไกล เบียดแต้ม นางสุกุมล คุณปลื้ม ภรรยานายสนธยา คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรี แม่ทัพใหญ่ “บ้านใหญ่เมืองชลฯ” ที่เขต 6 เกาะสีชัง, ศรีราชา ขณะที่ จ.ระยอง

เรียกว่าเกิดปรากฏการณ์คลื่นสีส้มซัด “บ้านใหญ่ปิตุเตชะ” พัง หนักหน้านายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รมช.สาธารณสุข ไม่มีที่ยืนรอบนี้ แต่จะมีเพียง จ.ฉะเชิงเทรา ที่พรรคเพื่อไทย โดยบ้านใหญ่หลักๆ ทั้งตระกูล “ตันเจริญ” และ “ฉายแสง” ช่วยรักษาฐานที่มั่นเอาไว้ได้ ส่วน จ.ปราจีนบุรี แบ่งกันระหว่างพรรคภูมิใจไทย และเพื่อไทย ขณะที่ จ.สระแก้ว 2 ปีกของบ้านใหญ่ “เทียนทอง” แบ่งเก้าอี้ ให้พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย

ปชป.ใต้ฟุบยาวหลายค่ายแย่งที่นั่ง

สำหรับพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 60 ที่นั่ง ส.ส. กลายเป็นพื้นที่ช่วงชิงของหลายพรรคการเมือง แม้พรรคประชาธิปัตย์จะยังครองพื้นที่ส่วนใหญ่ ทั้งที่ จ.สงขลา นครศรีธรรมราช พัทลุงไว้ได้ แต่พื้นที่อื่นๆ โดนพรรคการเมืองเข้าแย่งที่นั่ง ไม่มีพื้นที่ใดที่ ปชป.จะยึดยกจังหวัดเหมือนในอดีต แถมที่นั่งมีแนวโน้มลดลงจากครั้งก่อนที่เคยได้ 22 ที่นั่ง เพราะแม้กระทั่งในพื้นที่ขลัง ฐานบารมีเก่าแน่นปึ้กของอดีตนายกฯ 2 สมัยและอดีตประธานรัฐสภา อย่างนายชวน หลีกภัย ที่ จ.ตรัง ยังมีแนวโน้มโดนแย่งที่นั่ง ส.ส. ขณะที่ จ.พังงา ฐานเสียงของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ครองพื้นที่มาหลายสมัย ก็โดนเจาะ จนเสี่ยงเป็นพื้นที่ “ช้าง ปชป.ล้ม” อีกหนึ่งพื้นที่

ก.ก.จี๊ดจ๊าดยึดภูเก็ต–ภท.ขยายทำเล

นอกจากนี้พื้นที่จังหวัดต่างๆในภาคใต้ พรรคอื่นๆ เข้ามาแชร์เก้าอี้ โดยเฉพาะรวมไทยสร้างชาติ มีแนวโน้มเข้ายึดพื้นที่ จ.ชุมพร ได้ 2-3 จาก 3ที่นั่งแบ่งที่นั่งที่ จ.สุราษฎร์ธานี สงขลา นราธิวาส นครศรีธรรมราช และที่ จ.นราธิวาส ได้บ้านใหญ่ “ยาวอหะซัน” ปักธงรวมไทยสร้างชาติให้ “บิ๊กตู่” ได้สำเร็จ ส่วนพรรคภูมิใจไทย รอบนี้แม้จะขยายพื้นที่ปักเสาเข็มไม่ได้ตามเป้าหมายนัก แต่ก็ยังยึดฐานเดิมที่ จ.สตูล พัทลุง กระบี่ และยังแบ่งที่นั่ง ส.ส.ได้ที่ จ.นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ จ.ปัตตานี ขณะที่พรรคพลังประชารัฐที่เคยมี ส.ส.ภาคใต้เป็นกอบเป็นกำจากเลือกตั้งรอบก่อน หนนี้เมื่อแกนนำ “2 ลุง” แตกพรรค ทำให้ที่นั่งลดลง แต่ก็อาจรักษาฐานเดิมได้ที่นครศรีธรรมราช สงขลา และยังมีที่นั่งเพิ่ม ส.ส.ที่ปัตตานี นราธิวาส เช่นเดียวกับพรรคประชาชาติ ก็ยังรักษาฐาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เอาไว้ได้ แม้ต้องสูญเสียที่นั่ง ส.ส.ให้หลายพรรคเข้ามาแข่งปักธง แต่ที่เซอร์ไพรส์เหมือนพื้นที่อื่นๆทั่วประเทศ แม้จะไม่แลนด์สไลด์ แต่พรรคก้าวไกลก็ปักธงสีส้มได้ที่ จ.ภูเก็ต แนวโน้มเกือบยกจังหวัด 3 ที่นั่ง รวมทั้งยังมีโอกาสได้ ส.ส.ที่สุราษฎร์ธานี และลุ้นในพื้นที่อื่นๆอีก

เชียงใหม่ฐานที่มั่น “ชินวัตร” ส้มตีแตก

ขณะที่สถานการณ์เลือกตั้ง จ.เชียงใหม่ ที่ถือเป็นฐานใหญ่ของพรรคเพื่อไทย เพราะเป็นบ้านเกิดของตระกูล “ชินวัตร” ผูกขาดยึดเป็นเมืองหลวงมาอย่างต่อเนื่อง แต่ผลการนับคะแนนล่าสุด เขต 1 เขต 2 เขต 4 พื้นที่รอบใน เขตอำเภอเมือง และใกล้เคียง ที่ตั้งของสถานศึกษาโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปรากฏผู้สมัครของพรรคก้าวไกลมีคะแนนนำแชมป์เก่าของพรรคเพื่อไทย ไล่ตั้งแต่ น.ส.เพชรรัตน์ ใหม่ชมพู นำนายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม ในเขต 1 น.ส.การณิก จันทดา คะแนนนำนายโกวิทย์ พิริยะอานันท์ ในเขต 2 และนายณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล คะแนนนำ น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ส.ตระกูลดังที่ครองฐานการเมืองท้องถิ่นของ จ.เชียงใหม่

เพื่อไทยยึดย่าโมกวาด ส.ส.โคราช

ทางด้านจังหวัดนครราชสีมา ที่มีจำนวน ส.ส.ได้มากที่สุดของภาคอีสาน จำนวน 16 เขต เมื่อเวลา 20.00 น. มีการนับคะแนนไปแล้วประมาณ 12.54% ปรากฏว่าผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย มีคะแนนนำอยู่ 12 เขต ขณะที่พรรคชาติพัฒนากล้า มีคะแนนนำ 2 เขต ได้แก่ เขตเลือกตั้งที่ 2 นายวัชพล โตมรศักดิ์ และเขต 4 นายสมบัติ กาญจนวัฒนา มีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยตามมาห่างๆ ทางด้านพรรคภูมิใจไทย มีคะแนนนำ 1 เขต ในเขตเลือกตั้งที่ 9 คือพลพีร์ สุวรรณฉวี ผู้สมัครจากพรรคภูมิใจไทย โดยมีผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทยตามมาห่างๆ ส่วนพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำในเขตเลือกตั้งที่ 1 โดยนายฉัตร สุภัทรวณิชย์ ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล มีคะแนนนำเทวัญ ลิปตพัลลภ ผู้สมัครจากพรรคชาติพัฒนากล้า ไล่จี้มาติดๆ

“สันติ–ธรรมนัส” ยังแข็ง

ขณะที่ จ.พะเยา “ทีมผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้สมัคร ส.ส.พะเยา เขต 1 พรรคพลังประชารัฐ ยังมีคะแนนนำคู่แข่งสำคัญอย่างพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 เขต เช่นเดียวกับ จ.เพชรบูรณ์ ที่มีนายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ เป็นแม่ทัพ มีคะแนนนำยกจังหวัดทั้ง 6 เขต

คะแนน กกต.3 ทุ่ม เพื่อไทยนำก้าวไกล

ผู้สื่อข่าวรายงานผลเลือกตั้งจากระบบรายงานผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงาน กกต. จากเว็บไซต์ ECT Report ล่าสุด เมื่อ 21.00 น. พบว่านับคะแนนไปแล้วจำนวน 19,020 หน่วยเลือกตั้ง จาก 95,137 หน่วย คิดเป็น 19.99% คะแนนของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต พบว่า พรรคเพื่อไทยยังคงมีคะแนนนำอยู่ คาดการณ์ได้ ส.ส. 99 คน พรรคก้าวไกล ส.ส. 90 คน พรรคภูมิใจไทย ส.ส. 60 คน พรรคพลังประชารัฐ ส.ส. 38 คน พรรครวมไทยสร้างชาติ ส.ส. 27 คน พรรคประชาธิปัตย์ ส.ส.21 คน พรรคชาติไทยพัฒนา ส.ส. 8 คน พรรคไทยสร้างไทย 136,454 คะแนน คาดการณ์ได้ ส.ส. 6 คน

ส่วนคะแนนผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พบว่า พรรคก้าวไกล 1,346,730 คะแนน พรรคเพื่อไทย 1,250,139 คะแนน พรรครวมไทยสร้างชาติ 496,072 คะแนน พรรคภูมิใจไทย 148,923 คะแนน พรรคประชาธิปัตย์ 97,709 คะแนน พรรคพลังประชารัฐ 61,486 คะแนน พรรคประชาชาติ 51,405 คะแนน พรรคไทยสร้างไทย 45,853 คะแนน

โวย กกต.นับแต้มสุดอืดอาด

ต่อมา 19.45 น. ที่พรรคก้าวไกล นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล แถลงว่า ขอตั้งข้อสังเกต การทำหน้าที่ กกต. 2 ประเด็นคือ 1.ตอนนี้พรรคก้าวไกลได้รับรายงานจากผู้สมัคร ส.ส.ฉะเชิงเทรา เขต 3 มีปัญหาบัตรเลือกตั้งที่มาจากนอกราชอาณาจักรที่ กกต.แจ้งว่ามาที่หน่วยเลือกตั้งแล้ว ปรากฏว่ายังส่งมาไม่ถึงหน่วยเลือกตั้ง กกต.เขตแจ้งว่าจะไม่นับคะแนนให้ถือเป็นบัตรเสีย อ้างเป็นความผิดไปรษณีย์ไทย  กกต.ไม่ควรปล่อยให้เกิดความผิดพลาดเช่นนี้เหมือนปี 2562 เพราะเป็นเรื่องผิดพลาดร้ายแรง ส่งผลต่อการแพ้หรือชนะได้ กกต.ต้องรีบชี้แจงปล่อยให้เกิดเหตุขึ้นได้อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ จะแก้ปัญหาได้หรือไม่ หรือจะให้เป็นบัตรเสีย 2.รายงานผลนับคะแนนการเลือกตั้งในเว็บไซต์ กกต. การรายงานผลคะแนนล่าช้า ปิดหีบไป 3 ชั่วโมง รายงานผลได้ 2% ทั้งที่หลายหน่วยนับคะแนนเสร็จหมดแล้วเป็นห่วงการนับคะแนน กกต. จะเกิดช่องว่างให้เกิดความไม่โปร่งใส อยากให้ กกต.เร่งรายงานให้เร็วกว่านี้ อยากให้ประชาชนช่วยถ่ายรูปสรุปคะแนนหน้าหน่วยของตัวเอง ส่งรูปไปให้กับเว็บไซต์ https://www.vote62.com ที่รวบรวมคะแนนเรียลไทม์ ปกป้องคะแนนเสียงตัวเองให้ดี เป็นหลักประกันว่า กกต. จะไม่รวมคะแนนผิด ดูการทำหน้าที่ กกต. งบประมาณ 5.9 พันล้านบาทที่ใช้จัดเลือกตั้งไม่คุ้มค่าเลย

ก้าวไกลกวาดเกลี้ยงปริมณฑล-3 สมุทร

คลื่นสีส้มยังส่งแรงสั่นสะเทือนจากเมืองหลวงไปสู่หัวเมืองปริมณฑล อย่าง จ.นนทบุรี พรรคก้าวไกลมีโอกาสกวาดที่นั่ง ส.ส.ยกจังหวัด ขณะที่ จ.ปทุมธานี คะแนนล่าสุดกวาดไป 6 จาก 7 ที่นั่ง ยังลุ้นอีก 1 เก้าอี้ ส.ส.ที่ยังเบียดกันที่เขต 1 ผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง สรวีย์ ศุภปณิตา พรรคก้าวไกล แต้มไม่ห่างจากผู้นำอย่างนพพร ขาวขำ ภูมิใจไทย โดยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี เขต 7 ผู้สมัครคนดัง แชมป์เก่าเจ้าถิ่นอย่าง น.ส.พรพิมล ธรรมสาร พรรคภูมิใจไทย ต้องสอบตก เมื่อเสียท่าพ่ายแต้มให้กับประสิทธิ์ ปัทมผดุงศักดิ์ พรรคก้าวไกล ส่วนพื้นที่ “2 สมุทร” เกิดอาการออเรนจ์ช็อก ไม่แพ้จ.สมุทรปราการ เพราะทั้งที่สมุทรสงคราม สมุทรสาคร คลื่นส้มกระแทกชายฝั่ง โดยที่เมืองสมุทรสงคราม ทำเอา ส.ส.แชมป์เก่า อย่าง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ต้องหยุดสถิติ ส.ส. 5 สมัยเป็นครั้งแรก

กทม.ก.ก.อันดับ 1 รทสช.ที่ 2 เหนือ พท.

เวลา 21.30 น. ที่ศูนย์การประมวลผลการเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ศาลาว่าการ กทม. นายสำราญ ตันพานิช ผอ.สถาบันพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้ง ในฐานะที่กำกับดูแลการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร แถลงภาพรวมการนับคะแนนเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อในพื้นที่ กทม. ว่า ขณะนี้นับคะแนนเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเสร็จแล้ว 1,452 หน่วย จากหน่วยเลือกตั้งทั้งหมด 6,360 หน่วย คิดเป็น 22.83% มีผู้มาใช้สิทธิ 644,387 คน จากผู้มีสิทธิ 4,479,155 คน คิดเป็น 14.39% ผลการนับคะแนนแบบบัญชีรายชื่อ 1.พรรคก้าวไกล 238,774 คะแนน คิดเป็น 37.83% 2.พรรครวมไทยสร้างชาติ 103,092 คะแนน คิดเป็น 16.33% 3.พรรคเพื่อไทย 91,149 คะแนน คิดเป็น 14.44% 4.พรรคประชาธิปัตย์ 13,699 คะแนน คิดเป็น 2.17% 5.พรรคชาติพัฒนากล้า 8,783 คะแนน คิดเป็น 1.36% 6.พรรคเสรีรวมไทย 7,917 คะแนน คิดเป็น 1.23% 7.พรรคไทยสร้างไทย 7,635 คะแนน คิดเป็น 1.18% 8.พรรคภูมิใจไทย 5,051 คะแนน คิดเป็น 0.78% 9.พรรคพลังประชารัฐ 3,738 คะแนนคิดเป็น 0.58% 10.พรรคไทยภักดี 2,766 คะแนน คิดเป็น 0.43% 11.พรรคชาติไทยพัฒนา 1,990 คะแนน คิดเป็น 0.31%

“สุราษฎร์”ปชป.ส่อปิ๋วเรียบ–สินิตย์จ่อร่วง

อีกหัวเมืองหลักของประชาธิปัตย์ในพื้นที่ภาคใต้ เกิดรายการช็อกสนั่นเมืองสุราษฎร์ธานี 6เขตเลือกตั้ง ปรากฏว่าการนับคะแนนเบื้องต้นทั้ง7เขต ผู้สมัครจากค่ายประชาธิปัตย์เสี่ยงต้องเสียเก้าอี้ ส.ส.ให้คู่แข่ง โดยเฉพาะจากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) หลังจากพรรคประชาธิปัตย์ต้องสูญเสียแกนนำพรรคระดับ “บ้านใหญ่” ตระกูล “กาญจนะ” ของนายชุมพล กาญจนะ ไปคุมทัพให้รวมไทยสร้างชาติ และจับมือนายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี มาร่วมนำทัพ จนมีโอกาสกวาดที่นั่งยกจังหวัดให้ รทสช. ทั้งที่เขต 1 น.ส.กานสินี โอภาสรังสรรค์ (กาญจนะ) ลูกสะใภ้นายชุมพล-นางโสภา กาญจนะ เขต 2 นายพิพิธ รัตนรักษ์ เขต 3 น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ลูกสาวนายชุมพล เขต 4 นายพันธ์ศักดิ์ บุญแทน อดีตรองนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งเขต 5 นายปรเมษฐ์

จินา อดีตรองนายก อบจ.สุราษฎร์ธานี คะแนนนำนายนุกูล พูลสวัสดิ์ พรรคก้าวไกล ขณะที่ผู้สมัครดีกรีรัฐมนตรีอย่างนายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนตามอันดับ 3 จะมีในพื้นที่เขต 6 น.ส.อนงค์นาถ จ่าแก้ว พรรครวมไทยสร้างชาติ คะแนนไล่จี้ติดนายพิชัย ชมพูพล จากพรรคภูมิใจไทย เขต7 นายธานินท์ นวลวัฒน์ อดีต ส.อบจ.กาญจนดิษฐ์ คะแนนนำนายชาติพงษ์กุลรัตน์ พรรคก้าวไกล