ระหว่างรอลุ้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ วันนี้เราแวะไปคุยเรื่องค่าไฟกัน ดีกว่า ปีนี้อากาศบ้านเราร้อนจัด ลากยาวมาตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ทุกบ้านใช้เครื่องปรับอากาศเยอะขึ้น บิลค่าไฟฟ้าจึงพุ่งตามไปด้วย ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งหลายพรรคการเมืองหยิบเรื่องค่าไฟมาโหนกระแสหาคะแนน บางพรรคพูดดีมีหลักการ เหตุผลและข้อมูลอ้างอิง ขณะที่บางพรรคแค่ฉาบฉวยหวังผลทางการเมือง

หนึ่งในข้อมูลที่ถูกแชร์ในโลกโซเชียลจนสร้างความสับสนมาตลอดคือ ต้นเหตุของค่าไฟฟ้าแพงมาจากปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ทั้งๆที่ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เคยชี้แจงหลายครั้งแล้วว่า ไม่ใช่ปัจจัยหลัก

มีหลายช่วงเวลาที่ราคาค่าไฟฟ้าไม่ได้แปรผันตามปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง เช่น ปี 2558 ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองมีเพียง 29% แต่ค่าไฟเคยขยับไปถึง 3.86 บาทต่อหน่วย ขณะที่ปี 2564 ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 41% เพราะการใช้ไฟฟ้าลดลงในช่วงโควิด แต่ค่าไฟอยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าค่าไฟฟ้าในปี 2558 ทั้งที่ปริมาณกำลังการผลิตไฟฟ้าสำรองมีมากกว่า และปัจจุบันปี 2566 ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองลดลงมาที่ 36% แต่ค่าไฟฟ้าอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ราคาแพงกว่าปี 2564 ทั้งที่กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองน้อยกว่า

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นหรือลดลงมาจาก ต้นทุนเชื้อเพลิง คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% นอกนั้นเป็นต้นทุนด้านอื่น เช่น การก่อสร้างโรงไฟฟ้า การก่อสร้างระบบสายส่ง การลากสายระบบสายส่ง ระบบจำหน่าย ฯลฯ และปีที่ผ่านมาราคาก๊าซธรรมชาติเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเป็นหลักกลับผลิตได้ไม่ตรงตามที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว LNG มากขึ้น ประกอบกับภาวะสงครามรัสเซีย–ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซ LNG ที่นำเข้ามีค่าใช้จ่ายสูง ส่งผลให้ต้นทุนค่าไฟแพง

...

อย่างไรก็ตามอาจจะมีข่าวดีค่าไฟลดราคา สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ศึกษา แนวโน้มราคาค่าไฟที่แปรผันไปตามราคานำเข้าก๊าซ LNG ในงวดเดือน ก.ย.–ธ.ค.นี้ โดยประเมินไว้ 3 ราคาคือ 1.ราคา LNG เฉลี่ย 14 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จะลดค่าเอฟทีได้ 30 สตางค์ต่อหน่วย 2.ราคา LNG เฉลี่ย 15 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จะลดค่าเอฟทีได้ 26 สตางค์ต่อหน่วย 3.ราคา LNG เฉลี่ย 16 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู จะลดค่าเอฟทีได้ 23 สตางค์ต่อหน่วย และถ้า ปตท.สผ.ผลิตก๊าซในอ่าวไทยได้เพิ่มขึ้นจากหลุมจี 1 (แหล่งเอราวัณ) ตามแผน จะช่วยเสริมให้ค่าเอฟทีปรับลดลงได้ถึง 50 สตางค์ต่อหน่วย

กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองนอกจากไม่ใช่ต้นเหตุหลักของค่าไฟแพง ในทางตรงข้ามการมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง 36% ในปัจจุบันช่วยสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศ ทั้งในส่วนของผู้ใช้ไฟฟ้า และนักลงทุนต่างชาติกล้าเข้ามาลงทุนตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย ขณะเดียวกันยังหนุนให้รัฐบาลสามารถเดินหน้าโครงสร้างพื้นฐานที่ใช้ไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียน หรือส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้นและมีไฟฟ้าสำรองเพียงพอ

อีกประเด็นที่เกี่ยวโยงกับค่าไฟแพงคือสินค้าราคาแพง ตอนที่ค่าไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 5.69 บาทต่อหน่วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้ออกมาเรียกร้องหลายครั้งให้รัฐบาลรีบลดค่าไฟ ระบุหากไม่ลดค่าไฟ ราคาสินค้าต่างๆอาจต้องปรับขึ้นราคา แต่พอมีการปรับลดค่าไฟภาคอุตสาหกรรมลงมาเท่าค่าไฟภาคครัวเรือน อยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย ลดลงถึง 99 สตางค์ ไม่ยักเห็น ส.อ.ท.ออกมาเป็นปากเป็นเสียงแทนชาวบ้าน ช่วยกล่อมให้ภาคอุตสาหกรรมช่วยลดราคาสินค้าเลย

หนำซ้ำ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งมีส.อ.ท.อยู่ด้วย ยังระบุว่า ผู้ประกอบการมีแนวโน้มทยอยปรับขึ้นราคาสินค้า 5-10% เพื่อส่งผ่านภาระต้นทุนค่าไฟซึ่งอยู่ที่ 4.70 บาทต่อหน่วย

ผมไม่รู้ว่าต้นทุนค่าไฟควรจะราคาเท่าไหร่ถึงจะถูกใจ ส.อ.ท. แต่ถ้าส่งสัญญาณแบบนี้บ่อยๆ อาจเกิดผลทางจิตวิทยา เปิดช่องพ่อค้าฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า.

ลมกรด