กกต. ยังไม่อนุมัติ ครม. ของบช่วยค่าไฟฟ้า ขอเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน-หลักการเพิ่ม แจงคลิปเจ้าหน้าที่กาบัตรเป็นเรื่องเท็จ ตรวจพบข่าวบิดเบือนกว่า 100 เรื่อง วอน อย่าทำให้การเลือกตั้งสกปรก

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 นายแสวง บุญมี เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน ทำเรื่องขอรับงบกลาง สำหรับดำเนินมาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้า โดยที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจาก กกต. มีประเด็นคำถามที่จะให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อมูลเพื่อประกอบข้อมูลการพิจารณาของ กกต. เพิ่มเติมให้ครบถ้วน ในประเด็นเกี่ยวกับเหตุผลความจำเป็นเร่งด่วน หลักการดำเนินการตามระเบียบว่าด้วยการบริหารงบประมาณ รายจ่ายงบกลาง และพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ในการขอใช้งบ จึงขอให้กระทรวงพลังงานตอบกลับมาภายใน 2 วัน เพื่อนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมกรรมการอีกครั้ง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2566

นายแสวง ระบุต่อไปว่า จากการสอบถามผู้แทนกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หากพิจารณาในวันที่ 15 พฤษภาคมนี้ ก็ไม่กระทบต่อความเร่งด่วนในการดำเนินการ ดังนั้น จึงมีมติให้สำนักงบประมาณ และกระทรวงพลังงาน ชี้แจงข้อมูลดังกล่าวมายัง กกต. ภายในวันพรุ่งนี้ (12 พฤษภาคม 2566) เพื่อให้ กกต. แต่ละคนศึกษา และประชุมพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 15 พฤษภาคม ช่วงเช้า 

แยกบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าเสร็จ ส่งทั้ง 400 เขตแล้ว 

สำหรับภายรวมการเลือกตั้งขณะนี้ สำนักงาน กกต. ได้ส่งบัตรที่จะใช้เลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ไปถึงทั้ง 400 เขตเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว และวันนี้ได้ส่งบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้า เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทาง กกต. และไปรษณีย์ ได้ตรวจสอบความถูกต้องของทุกซอง แล้วจะส่งไปยังทุกหน่วยเลือกตั้ง ทุกเขต รวมถึงส่งบัตรออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรที่มีการส่งกลับมาแล้วทั้งหมด 91 สถานทูต และสถานกงสุลใหญ่ จาก 94 สถานทูต คิดเป็นร้อยละ 96.8 เหลือ เพียง 3 สถานทูต คือ 1. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพริทอเรีย แอฟริกาใต้ 2. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงมาปูโต ประเทศโมซัมบิก และ 3. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเม็กซิโก ประเทศเม็กซิโก โดย 2 สถานทูตแรกจะมาถึงในวันนี้ ส่วนเม็กซิโกจะถึงวันที่ 12 พฤษภาคม โดยเจ้าหน้าที่ถือเข้ามา ซึ่งจะดำเนินการคัดแยกและส่งไปยัง 400 เขต ในวันที่ 12 พฤษภาคมต่อไป 

...

แจงปมเจ้าหน้าที่กาบัตรว่อนโซเชียล บิดเบือนเล่นสกปรก 

เลขาธิการ กกต. กล่าวต่อไปว่า ช่วงนี้มีการทำข่าวเท็จ ข่าวบิดเบือน ซึ่ง กกต. ตรวจสอบพบกว่า 100 เรื่อง ยกตัวอย่างเช่น มีการแชร์คลิปวิดีโอขณะเจ้าหน้าที่กำลังเซ็นชื่อในเล่มบัตรเลือกตั้ง แต่โซเชียลมีเดียกล่าวหาว่ากำลังกาบัตร ซึ่งข้อเท็จจริง บัตรเลือกตั้งที่ปรากฏ เป็นบัตรที่ กกต. จัดส่งไปยัง 400 เขต และประธานอนุกรรมการเขตกำลังรับมอบบัตร โดยเซ็นหน้าปกบัตรตามระเบียบ กกต. เพื่อส่งมอบให้กับกรรมการประจำหน่วย ซึ่งจะเห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีการพลิกเอกสาร หรือกาในบัตรลงคะแนนแต่อย่างใด การที่ได้เห็นภาพนี้เพราะสำนักงาน กกต. สั่งให้ถ่ายวิดีโอเพื่อไม่ให้ใครนำบัตรไปทำอะไร แต่กลับมีการนำภาพดังกล่าวไปบิดเบือนว่ากำลังกาบัตร ขณะนี้กำลังดำเนินการกับผู้ที่ปล่อยข่าวเท็จเหล่านี้  

“อยากขอว่า ท่านจะรู้สึกอย่างไรกับ กกต. ก็สามารถแสดงความเห็นได้ แต่อย่าบิดเบือนทำให้การเลือกตั้งสกปรก เพราะการบิดเบือนหรือทำข่าวเท็จมันไม่ใช่ประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยคือเราอยู่กันด้วยความจริงและใช้เหตุผล ไม่ใช่อยู่บนความรู้สึกนึกคิดที่ขาดหลักการ ฉะนั้นเราควรรักษาการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะถ้าคิดว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นทางออกของประเทศ ก็ขอให้ทุกฝ่ายร่วมกันทำงาน รักษาการเลือกตั้ง และสถานการณ์ไปจนถึงวันที่ 14 พฤษภาคม เป็นให้ไปด้วยความเรียบร้อย” 

ไม่เร่งวินิจฉัยคุณสมบัติ “พิธา” ถือหุ้นสื่อ ส่อไม่ทันก่อนเลือกตั้ง 

ส่วนกรณีมีการร้องเรียน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ถือหุ้นสื่อ นายแสวง ระบุว่า ยังไม่เห็นคำร้อง โดยเป็นการร้องเกี่ยวกับคุณสมบัติ มีขั้นตอนตามกฎหมายอยู่ 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนวันเลือกตั้ง ช่วงหลังวันเลือกตั้ง และช่วงประกาศผลการเลือกตั้ง โดยก่อนการเลือกตั้ง ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 61 ถ้า กกต. ตรวจสอบแล้วเห็นว่าไม่มีคุณสมบัติ ให้ยื่นต่อศาลฎีกาพิจารณา ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาเพียง 2 วัน 

หากดำเนินการไม่ทัน หลังการเลือกตั้ง ก่อนการประกาศผล ถ้าเห็นว่าผู้นั้นมีลักษณะต้องห้ามในการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง  กกต. ก็จะมีมติให้ดำเนินคดีอาญามาตรา 151 ฐานรู้อยู่แล้วว่ามีคุณสมบัติในการสมัครแต่ก็ยังลงสมัคร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะไม่เป็นเหตุให้นำไปสู่การไม่ประกาศผลการเลือกตั้ง ดังนั้น ก็ต้องประกาศผลให้เป็น ส.ส. ไปก่อน จากนั้นจะเป็นการดำเนินการหลังการประกาศผล มีรัฐธรรมนูญมาตรา 82 ซึ่งได้กำหนดช่องทางในการดำเนินการไว้ ทั้งให้ ส.ส. หรือ ส.ว. เข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กกต. เป็นผู้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ 

ขณะที่คำถามว่าทำไม กกต. ไม่ยื่นให้ศาลฎีกาพิจารณาดำเนินการก่อการเลือกตั้ง เพราะถ้ายื่นหลังการเลือกตั้งจะมีผลกระทบมากกว่านั้น นายแสวง ตอบว่า ทุกอย่างมีกระบวนการที่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกกล่าวหา เมื่อมีเรื่องร้องเรียน สำนักงาน กกต. ก็จะมีการรวบรวมพยานหลักฐาน ต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงข้อกล่าวหา ก่อนนำเสนอให้ กกต. พิจารณา ซึ่งต้องใช้เวลา

อย่างเช่นวันนี้ (11 พฤษภาคม) หน่วยงานที่ กกต. ขอความร่วมมือในการตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพิ่งส่งข้อมูลล่าสุดมาให้ พบว่ามีผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ คนหนึ่งถูกศาลสั่งให้เป็นบุคคลล้มละลาย แต่ กกต. เห็นว่าจำเป็นต้องให้ความเป็นธรรม และได้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติก่อน จึงให้สำนักงาน กกต. ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า คำสั่งล้มละลายยังมีผลอยู่หรือไม่ และผู้ถูกกล่าวหามีการดำเนินการในเรื่องของการต่อสู้อย่างไรหรือไม่ จากนั้น กกต. ค่อยมาพิจารณาเรื่องการยื่นต่อศาล ดังนั้น จึงต้องแยกเรื่องกระบวนการให้ความเป็นธรรมกับผลกระทบออกจากกัน.