วันนี้ รายชื่อผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี ของแต่ละพรรคการเมือง ก็เปิดหมดแล้ว ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็สมัครกันครบหมดแล้ว พรรคไหนได้เบอร์อะไรก็รู้กันหมดแล้ว ที่น่าชื่นชมก็คือ หัวหน้าแต่ละพรรคมีมุมมองเชิงบวกต่อเบอร์ที่จับได้ ไม่ว่าได้เบอร์อะไรทุกคนต่างก็พอใจทั้งสิ้น ไม่คิดว่าเป็นเลขดีหรือเลขไม่ดี เช่น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยบอกว่า ไม่ได้ใช้หมายเลขในการหาเสียง แต่จะใช้ชื่อและโล้โก้พรรคเป็นหลัก คุณจุรินทร์ ลักษวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การเลือกตั้งไม่ได้ขึ้นอยู่กับตัวเลข ขึ้นอยู่กับอุดมการณ์ ผลงาน และจุดยืนทางการเมือง คุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ หัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า บอกว่า ได้เบอร์ 14 เลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม กาเบอร์ 14

ผู้นำแต่ละพรรคดูมีอารมณ์ดีกันทุกคน ไม่มีปัญหากับเบอร์เลือกตั้งที่ได้แต่อย่างใด ไม่ต้องไปคิดท่ายกมือ 2 นิ้ว 3 นิ้ว ให้เมื่อยนิ้ว ประชาชนอยากดูที่ “สมอง” ของผู้สมัครมากกว่า

จากวันนี้ไปถึง วันเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม การหาเสียงทางการเมืองเพื่อช่วงชิงคะแนนเสียง ก็ต้องสู้กันด้วยนโยบายที่โดนใจประชาชน ผู้สมัครเป็น “นายกรัฐมนตรี” เพื่อเป็นผู้นำประเทศ ก็ต้องแสดง “กึ๋น” หรือ “ภูมิปัญญา” ออกมาให้ประชาชนเห็น การเลือกตั้งปีนี้ไม่เหมือนสี่ปีก่อน ใครจะมาชี้นิ้วสั่งคงไม่ได้อีกแล้ว แม้องค์กรอิสระจะไม่น่าไว้วางใจก็ตาม การ “ดีเบต” หรือ “การแสดงภูมิปัญญาของผู้สมัครเป็นนายกรัฐมนตรี” จึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการตัดสินใจของประชาชน ต่อให้พรรคมีนโยบายดีแค่ไหน ผู้สมัครเป็นนายกฯของพรรคไม่รู้เรื่อง ไม่เข้าใจ อธิบายนโยบายไม่ได้ มีทีมเขียนให้ท่องจำ ก็จะตกม้าตายคาเวทีดีเบตไปเอง การดีเบตจึงเป็นเรื่องสำคัญในระบอบประชาธิปไตย

...

ผู้สมัครเป็นนายกฯ ที่ สอบตกเป็นคนแรก ก็คือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เพิ่งโพสต์ข้อความ ปฏิเสธการดีเบตทุกเวที โดยมีความเข้าใจผิดๆว่า การดีเบตเป็นการใช้วาทกรรม คนพูดเก่งไม่ได้วัดความเป็นผู้นำที่มีประสิทธิภาพ แสดงว่า พล.อ.ประวิตร ท่านไม่รู้อะไรเลยอย่างที่ชอบให้สัมภาษณ์จริงๆ แม้กระทั่งคำว่า “วาทกรรม” ซึ่งเป็น รูปแบบความคิด หรือ กรอบความคิด ของนโยบายของพรรค

ก็ที่ต้องรอดูอีกคนก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้สมัครนายกฯพรรครวมไทยสร้างชาติ จะขึ้นเวทีดีเบตกับผู้สมัครนายกฯพรรคอื่นหรือไม่ ส่วนผู้สมัครนายกฯพรรคอื่น ดูรายชื่อแล้วไม่น่าจะมีปัญหา ในระบอบประชาธิปไตยยุคใหม่ เรื่อง นโยบายของพรรคการเมือง ได้กลายเป็น ปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจเลือกตั้งของประชาชน ไปแล้ว

สถาบันพระปกเกล้า ระบุในบทความ “เวทีดีเบตโค้งสุดท้าย” ว่า นโยบายของพรรคการเมือง เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในสนามการเมืองไทยในสมัย รัฐบาลอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่มีการนำเสนอนโยบายทางการเมืองในนามพรรคไทยรักไทย หลังจากนั้น เป็นต้นมา นโยบายของพรรคการเมืองก็กลายเป็นสมรภูมิสำคัญ ที่พรรคการเมืองใช้ในการขับเคี่ยวกันในสนามเลือกตั้ง และ นโยบายของพรรคการเมือง ได้กลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ประชาชนให้ความสนใจไม่แพ้ตัวผู้สมัคร

การดีเบต จะช่วยให้ประชาชนได้เห็นตัวตนที่แท้จริงของผู้นำแต่ละพรรค มีความพร้อมที่จะเป็นผู้นำประเทศแค่ไหน มีความเข้าใจต่อนโยบายของพรรคที่เสนอต่อประชาชนในการหาเสียงอย่างลึกซึ้งหรือไม่ หรือได้แต่ท่องจำมา ถามไม่ตรงคำตอบก็ตอบไม่ได้

แม้ว่า “การดีเบต” จะมาจากวัฒนธรรมการเมืองสหรัฐฯ แต่วันนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมการเมืองสากลไปแล้ว การดีเบตจะทำให้ประชาชนได้เห็น “กึ๋น” และ “วิสัยทัศน์” ของผู้นำแต่ละพรรคว่า เป็นของจริงหรือของกลวง ขอให้ประชาชน จงใช้ประชาธิปไตยที่มีอย่างคุ้มค่าที่สุด อย่าให้เป็นแค่ “ประชาธิปไตย 1 นาที” ในคูหากาบัตรเลือกตั้งเลยครับ.

“ลม เปลี่ยนทิศ”