"ดร.สติธร" สถาบันพระปกเกล้า มอง "บัตร 2 ใบ" ทำเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ย้ายพรรค-ดูดบ้านใหญ่ หวังดึงฐานคะแนน ชี้ พรรคมีกระแสอาจชนะ มองโพล "อิ๊งค์" นำโด่ง แค่ภาพรวม ของจริงต้องสำรวจเจาะพื้นที่เขต หลัง กกต.รับสมัครเลือกตั้ง

วันที่ 16 มี.ค.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า จัดงานเสวนา "KPI election forum : เลือกตั้ง 66 อนาคตประเทศไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 25 ปีสถาบันพระปกเกล้า" โดยมีวิทยากรเป็นผู้บริหารและนักวิชาการของสำนักวิจัยและพัฒนาสถาบันพระปกเกล้า  เสวนาในหัวข้อเรื่องของ กิจกรรม ในช่วงการเลือกตั้งปี 2566 ของสถาบันพระปกเกล้า พฤติกรรมการเลือกตั้งของคนไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน และกติกาใหม่กับพฤติกรรมการหาเสียงและการลงคะแนนการเลือกตั้ง

ดร.ถวิลวดี บุรีกุล รองเลขาธิการ สถาบันพระปกเกล้า ได้สรุปภาพรวมพฤติกรรมการเลือกตั้งของประชาชน ปี 2562 โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 พบว่า ปัจจัยที่ประชาชนเลือกไปลงคะแนน ประกอบด้วย การรับรู้นโยบายของพรรค การรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ที่มาของข้อมูล

ด้าน ดร.สติธร ธนาธินิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน ถึงกติกาการเลือกตั้งแบบใหม่ที่เป็นแบบบัตร 2 ใบ จะมีผลกับการเลือกตั้ง ครั้งนี้หรือไม่

โดย ดร.สาธิต กล่าวว่า กติกาการเลือกตั้งในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนเกือบทุกรอบ การเลือกตั้งครั้งนี้ มีการนำกติกาเหมือนในปี 2554 มาใช้ ซึ่งในมุมของนักการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งปี 2562 มองว่า เป็นกติกาแบบใหม่ จึงคิดปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับกติกาครั้งนี้

ส่วนตัว มองว่า ความรู้สึกเหมือนปี 2544 ได้กลับมาอีกครั้ง เป็นกติกาที่พรรคไหนก็มีโอกาสชนะ ซึ่งมีความคล้ายมากไปอีกตรงกลุ่มบ้านใหญ่ต่างๆ เข้ามามีส่วนสำคัญทำให้พรรคต่างๆ เกิดความสำเร็จ  พรรคใหญ่มีขนาดเล็กลง พรรคที่ได้ตัว ส.ส.จากบ้านใหญ่มีคะแนนที่สามารถทำให้ชนะ หรือได้ที่ 2-3 จึงทำให้เกิดความรู้สึกว่า การเลือกตั้งที่ใช้บัตร 2 ใบรอบนี้ได้ตัวผู้สมัครจากกลุ่มบ้านใหญ่ต่างๆ มาร่วมงานกับพรรค จะทำให้พรรคมีโอกาสชนะ จึงทำให้เห็นปรากฏการณ์ในขณะนี้ ว่ามี ส.ส. ย้ายพรรคจำนวนมาก และหนักหน่วงกว่าที่ผ่านมาด้วย

...

ส่วนที่พบว่า กลุ่มบ้านใหญ่ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทยเป็นจำนวนมาก จะมีโอกาสทำให้เกิดปรากฏการณ์แลนด์สไลด์หรือไม่ ดร.สติธร กล่าวว่า กลุ่มบ้านใหญ่ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากพรรคใหญ่ 2 พรรค เมื่อช่วงปี 2540 และ 2550 อย่างเช่นผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยที่ชนะการเลือกตั้งมา 4-5 สมัย ก็สถาปนาตัวเองเป็นกลุ่มบ้านใหญ่ในภาคอีสาน และภาคเหนือ เมื่อรุ่นพ่อไม่ลงสมัคร ก็จะส่งให้รุ่นลูก

ดร.สติธร ยังชวนให้คิดว่า หลายพรรคที่มีกลุ่มบ้านใหญ่ อาจจะต้องมองเลยว่า พรรคมีกระแสพอที่จะไปเติมให้บ้านใหญ่หรือไม่ ทั้งเรื่องของนโยบายและทรัพยากร ให้ได้เปรียบคู่แข่ง เพราะเวลาลงพื้นที่ต่างก็มีฐานคะแนนของบ้านใหญ่อยู่ในตัวเอง พรรคที่มีกระแสมากกว่า อาจจะได้รับชัยชนะ

เมื่อถามว่า ขณะนี้โพลคะแนนของพรรคเพื่อไทยดูโดดเด่นมากที่สุด ดร.สติธร บอกว่า ต้องดูว่า เป็นโพลของใครด้วย จริงๆ ต้องไปทำโพลแบบละเอียด และมองว่าช่วงเวลาเหมาะสมที่จะทำให้ผลโพล สะท้อนผลเลือกตั้งได้ขนาดไหน คือ หลังรับสมัครการเลือกตั้ง จะทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่า ผู้สมัครอยู่เขตไหน

เมื่อถามย้ำว่า โพลที่ออกมาคะแนนของ "อิ๊งค์ แพทองธาร" นำโด่งจริงๆ ดร.สติธร กล่าวว่า จากที่ได้สำรวจหลายโพล พบว่า เป็นผลการสำรวจคะแนนนิยมแบบภาพรวม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา คะแนนจะไปตกอยู่ที่ แบบบัญชีรายชื่อ แต่โพลที่ลงสำรวจแบบรายเขต จะมีสะท้อนความนิยมมากกว่า

เมื่อถามว่า จะมีปัจจัยอะไรส่งผลให้กระแสเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือไม่  ดร.สติธร กล่าวว่า เท่าที่ตนให้วิเคราะห์มาพบว่าในช่วงวันรับสมัคร ที่จะรู้ชัดเจนว่าใครเป็นใคร และใครมีกระแสในตอนนั้น แต่ทั้งนี้ก็จะมีจุดหักเห ที่สามารถทำให้พรรคการเมืองเปลี่ยนเกมได้ เช่น เวทีดีเบต เวทีปราศรัย

"แต่ทั้งนี้หากสุดท้ายแล้วไม่มีอะไรระหว่างทางที่ถึงขนาดพลิกฟ้า พลิกแผ่นดิน ตอนจบจะคล้ายกับช่วงต้น คือ คนประทับใจกับอะไร ที่เขาเห็นในวันที่ทุกอย่างเริ่มชัดเจน สุดท้ายในวันเข้าคูหา เขาก็อาจจะกลับไปจุดที่เขาตัดสินใจในเบื้องต้น"

สำหรับการเสวนาครั้งนี้เพื่อสะท้อนสถานการณ์การเลือกตั้งปี 2566 ทางสถาบันพระปกเกล้าจะจัดขึ้นตลอดเดือนมีนาคม ไปจนถึงเดือนพฤษภาคม ก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการในรูปแบบต่างๆ เช่น งานวิจัย งานสำรวจ หรืองานวิเคราะห์ โดยผู้ทรงคุณวุฒิออกสู่สังคมเพื่อให้ผู้ให้ความสนใจในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องมีหลักวิชาการ และเป็นกลาง

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความตระหนักและความตื่นตัวของประชาชนต่อการเลือกตั้ง เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมให้ประชาชนสามารถค้นคว้าหาคำตอบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง และการเมืองไทยหลังการเลือกตั้ง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเลือกตั้งที่สุจริตและเป็นธรรมเพื่อการเสริมสร้างประชาธิปไตยและสันติสุขสถาพร