ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะปล่อยให้อยู่ครบวาระ 4 ปี ในวันที่ 23 มีนาคม ก็จะต่างกันแค่ 3 วัน กับวันที่ 20 มีนาคม ที่คาดกันว่านายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภา เพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 14 พฤษภาคม ถ้าต้องการยุบสภาทำไมจึงไม่ยุบตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อไม่ให้สภาล่มเละจนเสื่อมศรัทธา

นักวิเคราะห์การเมืองและ ส.ส.ฝ่ายค้านหลายคนเชื่อว่า เหตุที่ พล.อ.ประยุทธ์เตะถ่วงเวลาการยุบสภา เพื่อให้พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ซึ่งเป็นพรรคใหม่ มีเวลาดึง ส.ส.จากพรรคอื่นๆ ให้ รทสช. มี ส.ส.เพียงพอ เพื่อสนับสนุนตนเป็นนายกรัฐมนตรี และให้ตนเองมีเวลาหาเสียงมากขึ้น

หากเร่งรีบยุบสภา รัฐบาลปัจจุบันจะกลายเป็น “รัฐบาลรักษาการ” ในทันที และต้องห้ามไม่ให้ใช้อำนาจหน้าที่หาเสียง เช่นห้ามใช้ยานพาหนะข้าราชการ เพื่อเอื้อต่อการหาเสียง แต่ถ้ายังไม่ยุบสภา พล.อ.ประยุทธ์และคณะยังสามารถใช้ทรัพยากรรัฐ และเวลาราชการหาเสียงอย่างเสรี

โดยอ้างว่าไม่ได้ใช้เวลาราชการ ในการหาเสียง แต่เป็นการเดินทางไปตรวจราชการ จึงสามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ และบุคลากรรัฐช่วยหาเสียงได้อย่างเสรี รวมทั้งมีอำนาจอนุมัติโครงการต่างๆ เพื่อให้ใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 มีนาคม

คณะรัฐมนตรีมีวาระการประชุม กว่า 40 เรื่อง รวมทั้งการอนุมัติงบแบบ “ทิ้งทวน” 8.1 พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างและปรับปรุงถนน ปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำ และสิ่งสาธารณะอื่นๆใน 67 จังหวัด สำคัญที่สุดคือการอนุมัติเพิ่มเงินค่าตอบแทนอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านกว่าล้านคนทั่วประเทศ

อสม.จะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้น ถึง 100% จากเดือนละ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ก่อนหน้านี้รัฐบาลยังได้อนุมัติให้เพิ่มค่าตอบแทน อบต.อย่างสะบั้นหั่นแหลกทั่วประเทศกว่า 4 แสนคน เช่นจากเดือนละ 24,920 บาท เพิ่มเป็น 40,800 บาท สำหรับนายก อบต. ส่วนสมาชิกเพิ่ม จาก 7,600 บาท เป็น 10,080 บาท

...

รายการทิ้งทวนก่อนการเลือกตั้งทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นการหาเสียงด้วยเงินของประชาชน แม้แต่เงินที่พรรค พปชร.กับพรรค รทสช. แข่งกันเพิ่มให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการ จากเดือนละ 300 บาท เป็น 700 บาท และ 1,000 บาท ก็เป็นเงินของประชาชน ถ้าเป็นช่วงหลัง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง ต้องโทษจำคุก 1 ถึง 10 ปี ตัดสิทธิ เลือกตั้ง 20 ปี.