ม็อบอดอาหารประท้วง แขวนป้ายข้อความเย้ยศาล ฝั่งสนามหลวง ตร.ขอให้เอาลง แต่มวลชนไม่ยอม ขณะนิติกรศาลฎีกา เป็นตัวแทนเข้ารับหนังสือ "ตะวัน-แบม" ขอใช้พื้นที่ภายในศาลเพื่อชุมนุม ทั้งขอใช้น้ำ-ไฟและอุปกรณ์การแพทย์ด้วย

จากกรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม 2 ผู้ต้องหาคดี ม.112 ที่อยู่ระหว่างการประกันตัว เดินทางมาอดอาหารประท้วงในเต็นท์หน้าศาลฎีกา ถนนราชดำเนินใน ตรงข้ามสนามหลวง เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัวให้แนวร่วมม็อบราษฎรที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ล่าสุด ประกาศยกระดับด้วยการจะขอเข้าไปอดอาหารภายในศาลฎีกานั้น

เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ตะวัน และ แบม ได้ลงนามในหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรื่องขอความอนุเคราะห์ใช้พื้นที่ มีใจความสำคัญระบุ ว่า จากการที่ทั้งคู่ได้ทำการอดอาหารเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้มีการพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีทางการเมือง มาตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2566 แต่เนื่องจากในขณะนี้บริเวณทางเท้าที่พักเพื่ออดอาหารอยู่นั้น ใกล้บริเวณทางเข้าออกศาลฎีกา ซึ่งเจ้าหน้าที่ ข้าราชการ รวมทั้งประชาชนที่มาติดต่อราชการศาลฎีกา จะไม่ได้รับความสะดวก และอาจทำให้เกิดอันตรายกับประชาชนทั่วไปที่สัญจรผ่าน อีกทั้งในยามวิกาลยังมีบุคคลที่เข้ามาก่อความวุ่นวาย

...

"เหตุดังกล่าว จึงขอความอนุเคราะห์ ให้ท่านมีความสั่งอนุญาตให้ข้าพเจ้า บุคคลในครอบครัว และผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งประชาชนสามารถเข้าใช้พื้นที่ ในบริเวณศาลฎีกา หน้าพระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าอาคารศาลฎีกา ด้านทิศเหนือ ซึ่งบริเวณดังกล่าว จะไม่รบกวนการติดต่อราชการของประชาชนแต่อย่างใด พร้อมขออนุเคราะห์เรื่องการใช้ไฟฟ้า แสงสว่าง ห้องสุขา การรักษาความปลอดภัย รวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ในการแพทย์ ในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เครื่องปั๊มหัวใจ ตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. เวลา 13.00 น.เป็นต้นไป หากท่านไม่ประสงค์ให้ความร่วมมือ หรือความอนุเคราะห์ใดๆ ขอให้ท่านชี้แจงเหตุและผลมายังข้าพเจ้าและประชาชนด้วย"

ขณะเมื่อเวลา 10.40 น. นายวราพงศ์ จันทนพันธ์ นิติกรปฏิบัติการ ศาลฎีกา พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจ เดินทางมาที่เต็นท์อดอาหารของตะวันและแบม เพื่อรอรับหนังสือ เนื่องจากได้รับการประสานงานว่า ทั้งคู่ไม่สามารถเดินไปยื่นหนังสือด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง ทะลุวัง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนเจรจา โดยทางตัวแทนของศาลยืนกรานว่า จะไม่เข้าไปรับหนังสือในเต็นท์ที่ ตะวัน-แบม นอนอดอาหารอยู่ ให้ทั้งคู่ออกมาหรือผ่านตัวแทน ขณะที่ น.ส.เนติพร ก็ยืนยันตามวัตถุประสงค์ของ ตะวัน-แบม และเตรียมชุดพีพีอี ให้ทางตัวแทนของศาล สวมใส่เข้าไปด้านใน สุดท้ายเมื่อฝ่ายผู้รับไม่ยินยอม น.ส.เนติพร จึงต้องทำหน้าที่เป็นผู้ยื่นแทนตะวัน-แบม ทั้งยังกำชับให้เจ้าหน้าที่ศาลต้องลงลายมือชื่อรับเอาไว้ด้วย เพื่อให้ไปแจ้งกับตะวัน-แบมได้ทราบ

น.ส.เนติพร หรือ บุ้ง ทะลุวัง กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการที่ศาลไม่อนุมัติประกันตัวเพื่อนอีก 2 คนที่ยังอยู่ในเรือนจำ ตะวันและแบม จึงอยากจะยกระดับการอดอาหาร ด้วยการไม่กินน้ำด้วย แต่ตนขอร้องให้หาวิธีอื่น ทั้งคู่จึงขอแบบเฮือกสุดท้าย ที่จะยกระดับ เข้าไปขออดอาหารอยู่ภายใต้อำนาจศาลฎีกา จึงเห็นด้วยกับความคิดของทั้งคู่และลองตัดสินใจทำเรื่องขอใช้สถานที่ดู ถ้าไม่ได้ก็คงต้องปรึกษากันอีกครั้ง

"ตะวัน-แบม รู้สึกว่าการอดอาหารประท้วงอยู่หน้าศาลคงไม่เพียงพอ จึงอยากจะอยู่ใกล้ชิดประธานศาลฎีกาให้มากขึ้น ความต้องการคือ เข้าไปอดอาหาร ไม่ได้ต้องการจะไปชุมนุมแบบม็อบแต่อย่างใด ทุกวันนี้มีตนเป็นผู้ดูแลด้านหัตถการทำความสะอาดร่างกายให้ทั้งคู่ พบว่าการตอบสนองเริ่มช้าลงเรื่อยๆ และยืนยันจะไม่กลับไปอดอาหารที่โรงพยาบาลอีก จึงมีการเตรียมความพร้อมด้านการกู้ชีพ สำหรับรับมือเหตุฉุกเฉิน ยืนยันทั้งคู่รู้สถานการณ์ของตัวเองดี แต่ต้องการที่จะสู้ต่อ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาไล่เลี่ยกันที่บริเวณป้ายรถเมล์ ฝั่งท้องสนามหลวง ตรงข้ามศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมกับเจ้าหน้าที่เทศกิจ กทม. นำกำลังเข้ารื้อถอนป้ายข้อความโจมตีศาล ที่ทางกลุ่มผู้ชุมนุม ม็อบปล่อยเพื่อนเรา เจตนานำไปแขวน ระหว่างต้นมะขามท้องสนามหลวง ให้หันหน้าไปทางอาคารศาลฎีกา ปรากฏว่าทางกลุ่มผู้ชุมนุม ที่นำโดย นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ หนึ่งในผู้ต้องหาคดี ม.112 นำมวลชนเข้ามาขัดขวาง มีการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ อ้างว่า เป็นความผิดเพียงแค่เสียค่าปรับ ก็ให้มาปรับไป ในที่สุดมวลชนก็เริ่มเข้ามารุมล้อมและโห่ไล่ จนสุดท้ายตำรวจต้องยอมถอนตัวออกจากพื้นที่ ขณะที่มวลชนชาวม็อบยังได้นำป้ายข้อความโจมตีศาลมาแขวนเพิ่มขึ้นอีก ก่อนหน้าจะเกิดเหตุการณ์นี้ทางตำรวจ สน.ชนะสงคราม ก็ได้มีปากเสียงกับกลุ่มผู้ชุมนุมในเรื่องที่พยายามขอให้นำรถที่จอดริมถนนหน้าศาลฎีกา ย้ายไปจอดฝั่งแม่พระธรณีบีบมวยผม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมไม่ยินยอม