"ตะวัน-แบม" ยกระดับประท้วง จ่อ ยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา ขอย้ายสถานที่ไปนอนอดอาหารในรั้วของศาล ให้เหตุผลความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมอันตรายต่อสุขภาพ ด้านพ่อแม่และทนาย รับเป็นห่วง เพราะอาการหนักขึ้น
เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 26 ก.พ. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 3 ของการอดอาหารประท้วงของ น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม ในเต็นท์หน้าศาลฎีกาเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ 3 แนวร่วมม็อบ
โดยที่บริเวณหน้าประตู 2 สำนักงานศาลฎีกา นายกฤษฎางค์ นุตจรัส หรือ ทนายด่าง ในฐานะทนายความของตะวัน-แบม รับหน้าที่เป็นตัวแทนของทั้งคู่ แถลงแนวทางการยกระดับการอดอาหารประท้วง โดยระบุว่า อาการของตะวันและแบม หลังออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ มาอดอาหารหน้าศาลฎีกา ซึ่งทั้งอากาศร้อนและมีฝุ่นมาก จึงไม่สามารถที่จะให้สารอาหารผ่านทางน้ำเกลือได้ เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ที่ผ่านมาแขนของทั้งคู่ได้รับการเจาะเพื่อรับน้ำเกลือ จนมีอาการอักเสบแล้ว ทำให้ต้องให้สารอาหารผ่านทางน้ำแทน และทั้งคู่ก็รับได้เพียงแค่จิบเท่านั้น
...
ทนายด่าง กล่าวว่า แพทย์ที่ได้เข้ามาตรวจอาการล่าสุดวันนี้ ได้ให้ความเห็นว่า ควรส่งทั้งคู่กลับไปรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ ทันที เพราะเลือดเริ่มมีค่าความเป็นกรดสูงขึ้น จากการอดอาหารเป็นเวลานาน จนร่างกายย่อยสลายกล้ามเนื้อมาใช้ แต่เมื่อได้พูดคุยกับตะวัน-แบม ทั้งสองคน ยังคงยืนยันว่า จะนอนอดอาหารที่หน้าศาลฎีกาต่อ สำหรับสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเช่นนี้ คงเป็นเพราะทราบว่า วันนี้ศาลอุทธรณ์ ไม่อนุมัติให้ประกันตัวผู้ต้องหาคดีชุมนุมทางการเมือง 2 คน ที่ทนายความได้ยื่นประกันตัวเอาไว้ก่อนหน้า ยอมรับว่า ทั้งพ่อแม่และทนายความมีความกังวล แต่เมื่อเป็นเจตนาของทั้งคู่ จึงไม่สามารถขัดได้ ประกอบกับมีคำเตือนที่ให้ระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะเป็นสถานที่เปิด ตั้งอยู่ริมถนน ทั้งช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ก็มีจักรยานยนต์ไม่ทราบฝ่าย ขับผ่านมาแล้วขว้างสิ่งของเข้ามาในบริเวณพื้นที่ชุมนุม
"ช่วงเช้าวันที่ 27 ก.พ. ตะวันและแบม จะทำหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อขอเข้าไปใช้พื้นที่บริเวณลานหน้าพระอนุสาวรีย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ซึ่งอยู่ภายในรั้วของศาลฎีกา ด้วยเหตุผลที่ว่าการอยู่ริมถนนไม่ปลอดภัย ทั้งยังอาจสร้างความไม่สะดวกให้กับบุคลากรของศาลฏีกา และประชาชนที่จะต้องมาติดต่อราชการ นอกจากนี้ทั้งตะวันและแบมยังอยากแสดงการต่อสู้เชิงสัญลักษณ์แบบเดียวกับนักศึกษาสมัยยุค 14 ตุลา 16 ที่ครั้งหนึ่งเคยเดินขบวนเข้าไปในศาล เพื่อเรียกร้องความเป็นอิสระให้กับสถาบันตุลาการ ที่ถูกควบคุมจากเผด็จการทหาร จนสุดท้ายสามารถทำได้เป็นผลสำเร็จ
ดังนั้น หากในวันพรุ่งนี้ตะวันและแบมสามารถเดินไหว ก็จะไปยื่นหนังสือด้วยตนเองถ้าเดินไม่ได้ก็คงส่งตัวแทนไป และถ้าศาลอนุญาตก็คงเข้าไปตั้งเต็นท์อดอาหารต่อด้านในศาล ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการชุมนุม ลานดังกล่าวมีพื้นที่กว้างขวาง ไม่ส่งผลกระทบกับใคร แต่ถ้าไม่ให้ก็คงต้องดูการตัดสินใจของทั้งคู่อีกที ส่วนตัวมองไม่เห็นเหตุผลว่าศาลจะไม่อนุญาต เพราะเมื่อจัดงานแฟร์ในศาลได้ เด็กจะมาขอนอนอดอาหารทำไมถึงจะไม่ได้"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บริเวณพื้นที่ชุมนุมอดอาหารประท้วงหน้าศาลฎีกา มีมวลชนม็อบปล่อยเพื่อนเราสารพัดกลุ่มเดินทางมาสมทบ โดยจับจองพื้นที่หน้าศาลทำกิจกรรมต่างๆ เป็นแนวยาวเหยียด นอกจากนี้ ยังมี น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล เดินทางมาพูดคุยและมอบดอกไม้ให้ผ่านพ่อแม่ของตะวันและแบม ทั้งมีการสวมกอดให้กำลังใจแม่ของตะวันด้วย ขณะที่ นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท โมกหลวงริมน้ำ และ น.ส.ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ปอ ทะลุวัง ก็เดินทางมาร่วมให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
ทางด้าน น.ส.เบญจา แสงจันทร์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขอนับถือหัวใจที่เข้มแข็งของน้องทั้งสองคน ที่ยืนหยัดต่อสู้จนถึงทุกวันนี้ และเป็นห่วงความปลอดภัยของทั้งคู่ วอนตำรวจช่วยดูแล เพราะการอดอาหารครั้งนี้เป็นไปตามสิทธิการชุมนุมสาธารณะ วันนี้มาให้กำลังใจและอยากบอกน้องทั้งคู่ว่า ขอให้รักษาชีวิตเพื่อต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ ฉลองชัยชนะของประชาชนไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่พรรคก้าวไกลจะช่วยได้ คือ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติที่จะผลักดันกฎหมาย แต่ในช่วงโค้งสุดท้ายของสภาคงทำได้ยาก ยืนยัน เรื่องการแก้ไข ม.112 และการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมอยู่ในนโยบายของพรรค และคงทำต่อไปในอนาคต.