วันนี้ผมมีบทความที่ส่งกันในสื่อออนไลน์มาลงให้อ่านกันครับ
ชื่อเรื่องว่า “ประเทศไทยปัจจุบันในสายตาอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.ธาริษา วัฒนเกส” ท้ายบทความระบุว่า เป็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการระหว่างกรรมการสภาฯ มจธ. ผมไม่แน่ใจว่าเป็นของ ผู้ว่าการธาริษา จริงหรือไม่ แต่ยังไม่มีการปฏิเสธออกมา เนื้อหาดีมาก เผยแพร่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 วันเดียวกับที่ “เพจหนุนประยุทธ์” ยกบทความใน Financial Times ที่ยกให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีความมั่นคง ทำให้ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อน้อยที่สุด โดยทางเพจระบุว่า เป็นผลพวงจากการบริหารประเทศของนายกฯ
มาอ่านบทความที่ว่ากันนี้เลยครับ
“ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องที่ Financial Times ชื่นชมว่าไทยมีเสถียรภาพดีมากเรื่องค่าเงินและการดูแลเงินเฟ้อค่ะ เศรษฐกิจมหภาคของไทยค่อนข้างดี มีการระมัดระวังความเสี่ยงพอสมควร หนี้ภาครัฐและภาคธุรกิจไม่สูง แม้หนี้ครัวเรือนจะยังสูงอยู่ ความมีเสถียรภาพด้านค่าเงินและเงินเฟ้อ ก็เป็นจุดแข็งเหมือนที่เป็นข่าวข้างต้น แต่เราจะต้องไม่เป็นปลื้มจนมองข้ามปัญหาสำคัญของเรา คือ ไม่สามารถ ก้าวออกจาก middle income trap (กับดักรายได้ปานกลาง) และ มีความไม่เป็นธรรมในการกระจายรายได้และทรัพย์สิน ความไม่เท่าเทียมมีสูงมาก ไม่เฉพาะด้านเศรษฐกิจ แต่ทางด้านสังคมด้วย
เรามีสองมาตรฐานในการบังคับใช้กฎหมาย การใช้สถานะพิเศษทางเศรษฐกิจและสังคม หลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามกติกาที่ควรจะเป็นของสังคมอีกมากมาย ความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เมื่อสะสมมากขึ้นไปเรื่อยๆ มีโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงในภายภาคหน้า
...
ยิ่งขณะนี้ สังคมมีการแบ่งแยกสูงทั้งภายในเจนเดียวกัน และระหว่างเจนเก่าและเจนใหม่ ทั้งแนวคิดในด้านการเมือง รูปแบบและสปีดในการเปลี่ยนแปลงด้านการเมืองและสังคม โอกาสความขัดแย้งจึงมีสูง โจทย์ ใหญ่คือเจนเก่าต้องใจกว้างมากขึ้น รับฟังเจนใหม่มากขึ้น ยอมรับว่าเจนใหม่ต้องมีส่วนในการกำหนดอนาคตของเขา ขณะเดียวกัน เจนใหม่ต้องใจเย็นมากขึ้น ใจกว้างรับฟังประสบการณ์และการเตือนสติของเจนเก่ามากขึ้น ไม่คิดว่าเจนเก่าหัวโบราณรับไม่ได้ไปหมด
เรื่องอย่างนี้ ต้องมีเวทีที่จะพูดคุยกัน มีกระบวนการที่จะกระตุ้นให้ประชาชนมีความสนใจในเรื่องเหล่านี้ รู้จักทั้งสิทธิและหน้าที่ มีกระบวนการและกลไกที่จะ voice เสียงของตัวเอง และเมื่อเสียงโดยรวมดังขึ้นๆ ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยน
ปกติ นี่คือกระบวนการของประชาธิปไตย แต่กระบวนการประชาธิปไตยจะทำงานได้ ประชาชนต้องมีการศึกษาที่ดีที่ทำให้มีมาตรฐานจริยธรรมสูง รู้ผิดชอบชั่วดี ละอายที่จะทำผิด รู้สิทธิและหน้าที่ ประณามคอร์รัปชันและสิ่งไม่ชอบธรรมทั้งหลาย เรียกร้องให้แก้ไขความไม่ถูกต้องในสังคม รู้ว่าตัวเองมีสิทธิที่จะมีชีวิตที่ดีกว่านี้ และ มีทักษะมีวิชาชีพที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้นกว่าที่จะรอเงินช่วยเหลือจากรัฐ
จะเห็นว่าประเทศที่ก้าวพ้นความยากจนไปแล้วไม่ว่าจะเป็น สิงคโปร์ ไต้หวัน เกาหลี (ซึ่งจนกว่าไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน) มาเลเซีย ล้วนมี ระบบการศึกษาที่ดี จึงทำให้ประชาชนมีคุณภาพเกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมผ่านกระบวนการประชาธิปไตย
เกาหลี ที่เคยมีปัญหาคอร์รัปชันสูง ปัจจุบันเป็นภาพของความโปร่งใส ผู้บริหารระดับสูงสุดของประเทศที่คอร์รัปชัน ก็ถูกดำเนินคดีโดยไม่มีข้อยกเว้น บางคนละอายแก่ใจเลือกการฆ่าตัวตายแทน เวียดนาม ก็มีการกวาดล้างคอร์รัปชันอย่างหนัก น่าเสียใจที่ระบบการศึกษาของเรา ซึ่งได้รับงบประมาณสูงสุดของประเทศทุกปี ขาดการอบรมบ่มเพาะเรื่องจริยธรรม สิทธิและหน้าที่ ความเป็นธรรม ความถูกต้องทางสังคม และทักษะในการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้น เราจึงยํ่าอยู่กับที่...”
บทความยาวกว่านี้เล็กน้อย แต่อ่านแค่นี้ก็พอมองแล้ว ปัญหาของประเทศไทยคืออะไร
ตลอด 8 ปีการปฏิวัติปฏิรูปการศึกษาไทยมีแต่แย่ลง คุณธรรมจริยธรรมตํ่าลงจนน่าตกใจ การคอร์รัปชันกลับเจริญรุ่งเรือง นับเป็น “ยุคทองของการคอร์รัปชัน” เลยทีเดียว.
“ลม เปลี่ยนทิศ”