มหาดไทยนำผู้บริหารระดับสูง มท. และพ่อเมือง 17 จังหวัดเมืองเหนือ ถอดบทเรียนโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อประยุกต์ขยายผลตามภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ ด้าน ปลัดสุทธิพงษ์ฯ ย้ำ “ผู้นำ” และ “ทีม” ต้องร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์จากการดำเนินการ เพื่อพัฒนาความสำเร็จอย่างยั่งยืน

วันที่ 18 ก.พ. 2566 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) นำคณะผู้บริหารระดับสูงของ มท., ผู้ว่าราชการจังหวัด 17 จังหวัดภาคเหนือ, คณะที่ปรึกษาปลัด มท., หัวหน้าส่วนราชการ, นายอำเภอ ร่วมรับฟังการถอดบทเรียนการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง โดยมี อาจารย์คณิต ธนูธรรมเจริญ ที่ปรึกษาเครือข่ายลุ่มน้ำแม่กวง/หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผศ.ดร.วันเพ็ญ เจริญตระกูลปิติ อาจารย์ประจำภาควิชาภูมิศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นายประคอง เชียงแรง หัวหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายมงคล ชัยวุธ นายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย นายมณเฑียร บุญช้างเผือก ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 บ้านป่าสักงาม ต.ลวงเหนือ อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ และแกนนำชุมชนที่เกี่ยวข้อง ร่วมเสวนาถอดบทเรียน พร้อมลงพื้นที่พบปะแกนนำชุมชนและประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ดีที่ผู้บริหารระดับสูงของ มท. และผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ จะได้ร่วมรับฟังการถอดบทเรียนการพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง เพื่อนำเอาหลักคิด วิธีการ และองค์ความรู้ ไปประยุกต์ใช้ในโอกาสที่เหมาะสมตามภูมิสังคมต่อไป

“พื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวงเป็นพื้นที่ที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชประสงค์ให้จัดตั้ง “โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ” เพื่อให้ผู้คนในชุมชนได้ร่วมกันฟื้นฟูและรักษาทรัพยากรป่าไม้ที่เสื่อมโทรมให้ฟื้นคืนกลับสู่สภาพอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถือเป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ เป็นแหล่งเรียนรู้ที่เหมาะสม และเป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น ตั้งใจ ของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่ต้องการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ของตน โดยน้อมนำเอาแนวทางและพระราชดำริมาใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงาน จนสามารถสร้างผลลัพธ์ที่จับต้องได้อย่างแท้จริง” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว

...

ด้าน อ.คณิต กล่าวว่า พื้นที่ป่าลุ่มน้ำแม่กวงมีขนาดพื้นที่ราว 1.7 ล้านไร่ ครอบคลุมตั้งแต่ อ.ดอยสะเก็ด-สันทราย-แม่ออน-สันกำแพง-สารภี จ.เชียงใหม่ ข้ามไปถึง อ.บ้านธิ เมืองลำพูน และ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งในส่วนของการดำเนินงานพัฒนาตามแนวทางพระราชดำริเชิงพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง ได้เริ่มต้นดำเนินงานในปี 2525 มีการขีดพื้นที่ดำเนินการไว้จำนวน 345,000 ไร่ บริเวณตอนบนของลุ่มน้ำแม่กวง โดยได้รับพระมหากรุณาจากพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ป่าขุนแม่กวง ให้พิจารณาดำเนินการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่กวง แบ่งพื้นที่ดำเนินการเป็น 3 ระยะ

โดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญ คือ 1.ป้องกันรักษาป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์อยู่ให้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารและที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ามิให้ถูกทำลาย ตลอดจนรักษาสภาพแวดล้อม และฟื้นฟูสภาพป่าที่ถูกทำลายจนเสื่อมโทรมให้คืนสู่สภาพป่าที่สมบูรณ์ดังเดิม 2.แก้ไขปัญหาการจัดการพื้นที่เหมาะสม สำหรับราษฎรที่อาศัยอยู่ในป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่โครงการ ตลอดจนการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในด้านแหล่งน้ำและที่ดินทำกิน 3.พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรในพื้นที่โครงการให้สูงขึ้น สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามความเหมาะสมของท้องถิ่น และ 4.นำผลการศึกษาและวิจัยของศูนย์ศึกษาพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เหมาะสมมาขยายผลในการพัฒนา และให้บริการแก่ราษฎรในพื้นที่โครงการฯ

ด้านผู้ใหญ่มณเฑียร กล่าวว่า แต่ก่อนนี้ธรรมชาติในพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์มาก แต่เนื่องด้วยปัจจัยทางเศรษฐกิจและความต้องการทางทรัพยากรธรรมชาติที่มีเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีการตัดไม้ทำลายป่าในวงกว้างขึ้นในอัตราที่มากและรวดเร็วขึ้น เป็นเหตุให้ช่วงเวลาหนึ่ง มีการขาดน้ำในน้ำตกเป็นระยะเวลากว่า 10 ปี

นอกจากนี้ สภาพความเป็นอยู่ก็เริ่มแร้นแค้นยากลำบากขึ้นด้วย แต่โชคดีที่ล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 9 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของลุ่มน้ำแม่กวง และทรงมีพระราชดำริให้มีโครงการฯ ดังกล่าวขึ้น ทำให้ชาวบ้านหันมาใส่ใจและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง จนสภาพแวดล้อมกลับคืนมาสมบูรณ์อีกครั้งหนึ่ง ประชาชนเกิดทางเลือกในอาชีพและรายได้ที่มากขึ้น รวมถึงชุมชนก็ได้กลายมาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและมีความสามารถในการผลิตที่หลากหลายขึ้นจากการมีธรรมชาติที่สมบูรณ์

นายมงคล กล่าวเสริมว่า การสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเทจากทุกคนในพื้นที่ โดยเน้นกระบวนการ ความเข้าใจ เข้าถึง เพื่อการพัฒนา ซึ่งแนวทางการทำงานที่ผ่านมาจะเป็นลักษณะการสร้างการตระหนักรู้อย่างสร้างสรรค์และลงมือทำเพื่อเป็นตัวอย่างของการสร้างความเปลี่ยนแปลง

ผศ.ดร.วันเพ็ญ กล่าวว่า ความสนใจในการเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูธรรมชาติในโครงการฯ ดังกล่าว เกิดจากผลลัพธ์ที่ค่อยๆ ก่อตัวอย่างเป็นรูปธรรมจากการลงแรงและการสร้างความร่วมมือของคนในชุมชน ซึ่งจากการเข้ามาศึกษาจึงพบว่า ชาวบ้านและภาคีเครือข่ายที่เข้ามาช่วยกันขับเคลื่อนนั้น ได้ใช้ทั้งหลักการบูรณาการการทำงานแบบชาวบ้าน หลักการทางความเชื่อ ศาสนา ความรู้ของศาสตร์จากปราชญ์ชาวบ้าน ศาสตร์พระราชา ตลอดจนความโดดเด่นทางภูมิศาสตร์มาเป็นส่วนผสมสำคัญทำให้การดำเนินงานเกิดผลสำเร็จอย่างที่เห็น ธรรมชาติได้ถูกฟื้นฟูทีละเล็กน้อย ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทางและเกิดความตระหนักรู้หวงแหนในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

อ.คณิต กล่าวเสริมว่า สำหรับปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญก็คือ การอาศัยหลักการ “ระเบิดจากข้างใน” ตามพระราชดำริ ที่มุ่งเน้นให้ประชาชนร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์โดยตรง ผ่านกลไกการประชุมร่วมหลายฝ่ายในรูปแบบกึ่งทางการ เพื่อเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ และให้เวทีนี้ช่วยส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนในชุมชน เพื่อเป้าหมาย “เปลี่ยนจากผู้มีอาชีพตัดไม้ แปรรูปไม้ขาย มาเป็นผู้อนุรักษ์และเห็นถึงคุณค่าของธรรมชาติที่สมดุล” (เปลี่ยนจากผู้ทำลายเป็นผู้สร้าง)

โดยตลอดระยะเวลาการดำเนินงานที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประชาชนในชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับความสำคัญของการฟื้นฟู รักษาธรรมชาติ มีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็ง น่าเชื่อถือ มีคนรุ่นใหม่ที่กลับมาเป็นกำลังสำคัญในพื้นที่ มีภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนเข้ามาส่งเสริมทุกมิติ เช่น น้ำในน้ำตกที่แห้งหายไปได้กลับคืนสู่สภาพเดิม มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมและปศุสัตว์ให้กับคนในชุมชนแทนอาชีพการตัดไม้ ลดการเผาป่า ลดมลพิษ และมีการรวมกลุ่มประกอบอาชีพ อาทิ วิสาหกิจชุมชนกาแฟสดแม่ตอน เป็นต้น

ด้าน นายเชษฐา โมสิกรัตน์ ผวจ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า การได้ร่วมรับฟังการถอดบทเรียนในวันนี้ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความถึงพร้อมสามประการ คือ ความเข้าใจถึงพร้อม พื้นที่ถึงพร้อม และประชาชนถึงพร้อม จึงเกิดเป็นความร่วมมืออย่างสร้างสรรค์เพื่อสร้างความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งยังเป็นบทเรียนที่แสดงให้เห็นถึงพลังของภาคประชาชนที่มาจากความต้องการของคนในพื้นที่ที่ต้องการลุกขึ้นมาปรับปรุงแนวทางการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรกับธรรมชาติมากขึ้น และประการสำคัญที่สุด “โครงการตามพระราชดำริต่างๆ” มีความสำคัญและมีความหมายอย่างมากต่อการพัฒนาชาติและบ้านเมืองให้เกิดความมั่นคงอย่างพอเพียง

นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกส่วนสำคัญของการพัฒนา คือ “ปัจจัยผู้นำ” ซึ่งสังเกตได้ว่า ความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมที่เกิดขึ้นของโครงการฯ ที่ได้รับฟังในวันนี้ มี “ผู้นำ” เป็นทั้งปัจจัยหลักและปัจจัยสนับสนุนตลอดเวลา เราในฐานะคนมหาดไทย ต้องมีความรู้ความเข้าใจในลักษณะและคุณสมบัติของการเป็นผู้นำอย่างถูกต้อง

แบ่งออกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) ผู้นำตามตำแหน่ง เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ต้องหมั่นคอยก่อร่างสร้างตัวตนให้เป็นคนน่าเชื่อถือ น่าไว้ใจ ได้รับการยอมรับจากทุกภาคส่วน จุดประกายไฟสร้างแรงบันดาลใจไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งยังต้องหมั่นคอยเพิ่มพูนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาด้วย และต้องแสวงหาผู้นำในลักษณะที่ 2) ให้เจอ ซึ่งก็คือ “ผู้นำตามธรรมชาติ” อันหมายถึง กลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มคนผู้มีจิตใจในการรุกรบ มีความรู้ความสามารถ มีความต้องการพัฒนาชุมชนและสังคม โดยผู้นำทั้งสองรูปแบบนี้ ต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและนำเอาภาคส่วนต่างๆ เข้ามาบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะของ “ทีม” ผ่านกลไก 4 ร่วม ได้แก่ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา และร่วมรับผลประโยชน์จากการดำเนินการ เพื่อให้ทีมเป็นเสมือนคำตอบและทางออก (solution) ของปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมและชุมชนอย่างยั่งยืน

ต่อมา ปลัด มท. ได้นำคณะลงพื้นที่วัดแม่ตอน ต.เทพเสด็จ อ.ดอยสะเก็ด เพื่อพบปะแกนนำชุมชนและประชาชนเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชุมชนในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กวง โดยมีพระสงฆ์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนพี่น้องประชาชน ร่วมให้การต้อนรับ โดยการลงพื้นที่ครั้งนี้ สอดคล้องตามหลักการทำงานของคนมหาดไทยที่ว่า ลงพื้นที่ "ให้รองเท้าสึกก่อนก้นกางเกงขาด" โดยได้รับฟังการพัฒนา สภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ต่อการพัฒนาระยะต่อไป อาทิ ปัญหาดินสไลด์ในช่วงฤดูฝน ปัญหาการก่อสร้างถนนที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน เป็นต้น

ปลัด มท. กล่าวในช่วงท้ายว่า สำหรับประเด็นที่เป็นอุปสรรคปัญหาข้างต้น กระทรวงมหาดไทย โดยจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้พิจาณาแก้ไขปัญหาตามอำนาจหน้าที่โดยเร็ว และขยายผลติดตามในพื้นที่อื่นๆ เพื่อการแก้ปัญหาภาพรวมอย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งให้ข้อแนะนำ พัฒนาตำบลเทพเสด็จให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว หมู่บ้าน OTOP นวัตวิถี ด้วยปัจจัยศักยภาพและความพร้อมในหลายมิติ จึงให้พื้นที่ริเริ่มวางแผนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อรองรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างยั่งยืนต่อไป.