"ศ.ดร.นฤมล" แนะ ออกแบบเมนูแก้จน แบบไม่หว่านแห ชี้ แก้จากล่างขึ้นข้างบน ไม่ใช่บนลงข้างล่าง เหมือนที่ผ่านมา เลิก ออกแบบนโยบายแก้จนกันในห้องแอร์ ชู "ธุรกิจเพื่อสังคมระดับชุมชน" เข้าถึงทุกกลุ่ม


วันที่ 11 ก.พ. 66 ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน โพสต์ Facebook ส่วนตัวสะท้อนมุมมองถึงการแก้ปัญหาความยากจนเริ่มต้นที่ผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่ คือ เกษตรกร จำเป็นต้องแก้ไขและจัดการเรื่องที่ทำกิน พร้อมกับการพัฒนาสภาพที่ดินและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

นอกจากเรื่องดินและน้ำ ซึ่งคือปัจจัยพื้นฐานที่จะนำไปสู่การสร้างอาชีพและรายได้ การจัดสรรสวัสดิการแบบถูกฝาถูกตัว ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการขจัดความยากจน สวัสดิการในการเข้าถึงสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานด้านต่างๆ เช่น เครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การศึกษาและการฝึกอาชีพ หลักประกันทางสุขภาพ เป็นต้น

การเข้าถึงสวัสดิการเหล่านี้ไม่ควรจัดสรรแบบหว่านแห แต่ควรจัดเมนูเฉพาะที่ตรงกับสิ่งที่ผู้มีรายได้น้อยยังเข้าไม่ถึง และตรงกับพื้นฐานของผู้มีรายได้น้อยและความต้องการของตลาดแรงงาน

คนจนในเมือง อาจจะมีรายได้เกิน 1 แสนบาทต่อปี ไม่เข้าข่ายผู้ที่มีสิทธิได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่ต้องแบกค่าครองชีพ ทั้งค่าไฟฟ้า ค่าเดินทาง ค่าเช่าที่พัก จนรายได้ที่เหลือไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพอย่างมีคุณภาพ รัฐบาลจึงควรจัดสรรสวัสดิการให้กับกลุ่มคนจนในเมือง เช่น สวัสดิการค่าเดินทาง เพื่อป้องกันปัญหาการขยายตัวของกลุ่มคนจนในเมือง

เราต้องเลิกแนวคิดแก้จนแบบบนลงล่าง การนั่งดูข้อมูลภาพรวมทั้งประเทศแล้วตัดสินใจออกแบบนโยบายแก้จนกันในห้องแอร์แบบหว่านแหจะไม่สามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน

การแก้ความยากจนไม่ใช่แค่เรื่องการจัดสรรสวัสดิการเท่านั้น แต่ต้องแก้กันด้วยเมนูแก้จนที่ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลแบบแยกรายกลุ่ม (เช่น กลุ่มเกษตรกร กลุ่มแรงงานในระบบ กลุ่มแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้พิการ เป็นต้น) แยกรายพื้นที่ (แยกรายภาค และแยกย่อยลงหัวเมือง ชนบท แหล่งอุตสาหกรรม แหล่งทำการเกษตร) จนถึงระดับแยกชุมชน และแยกรายครัวเรือน ที่สำคัญสุด การแก้จนจะสามารถทำสำเร็จได้ต้องให้คนจนและชุมชนมีส่วนร่วมออกแบบเมนูที่จะทำให้เขาพ้นจากความยากจน

กลไกที่จะเข้าไปช่วยขับเคลื่อนการแก้จนได้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่หน่วยราชการ แต่ควรเป็น “ธุรกิจเพื่อสังคมระดับชุมชน” แก้จนอย่างสัมฤทธิ์ผล ต้องแก้จากล่างขึ้นบนเป็นสำคัญ.

...