ผลการสำรวจความเห็นประชาชน ของนิด้าโพลครั้งล่าสุดอาจจะไม่ใช่ดัชนีชี้วัดผลการเลือกตั้งคราวหน้า ใครจะเป็นผู้ชนะ ใครจะเป็นผู้แพ้ แต่อย่างน้อยที่สุดก็ชี้ถึงความเป็นไปได้ ชี้แนวโน้มผลการเลือกตั้ง เพราะการชี้ขาดผลการเลือกตั้งมีหลายปัจจัย มีทั้งกระแสคือคะแนนนิยม อำนาจเงิน อำนาจรัฐ
ผลของนิด้าโพลในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ส่อแสดงว่าอาจมีการแบ่งขั้วการเมือง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสมหลังการเลือกตั้ง นักวิเคราะห์การเมืองบางคนเชื่อว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะเป็นผู้ชนะ ได้เสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่นายเนวิน ชิดชอบ “ครูใหญ่” ของพรรคภูมิใจไทย บอกว่าเลิกคิดได้เลยเรื่องแบ่งขั้ว
ครูใหญ่ผู้ประกาศจะปั้นหัวหน้าพรรค ภท. นายอนุทิน ชาญวีรกูล ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชี้ว่าการแบ่งขั้วแบ่งสี ทำให้บ้านเมืองไปไหนไม่ได้ แต่การแบ่งขั้วเป็นธรรมชาติของการเมือง เพราะการเมืองคือการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ และการต่อสู้จะต้องมีคน 2 ฝ่ายขึ้นไป ประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว ส่วนใหญ่จึงมี 2 พรรค
กลุ่มผู้ที่มีอุดมการณ์ หรือผลประโยชน์ที่ตรงกัน จะจับกลุ่มหรือจับขั้วเป็นพรรคเดียวกัน แม้แต่ประเทศไทยในบางยุคก็มีแนวโน้มเป็นเช่นนั้น เช่นในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบาน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แนวความคิดทางการเมืองแบ่งเป็นฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวา ฝ่ายขวาเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม และเศรษฐกิจทุนนิยม
ฝ่ายซ้ายยึดแนวทางการเมืองแบบประชาธิปไตยก้าวหน้า เรียกร้องความเป็นธรรมในสังคม ส่วนด้านเศรษฐกิจเอียงข้างสังคมนิยม ชื่อพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นจะต้องมีคำว่า “สังคม” อยู่ด้วย เช่น พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศ ไทย พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคกิจสังคม พรรคธรรมสังคม พรรคเกษตรสังคม เป็นต้น
...
แม้แต่รัฐธรรมนูญ 2517 ที่ได้ จากการลุกฮือขึ้นต่อสู้ของนักศึกษาและมวลมหาประชาชน ก็เขียนบัญญัติไว้ในหมวดแนวนโยบายของรัฐ ความว่า “รัฐพึงดำเนินการให้ความเหลื่อมลํ้าในฐานะของบุคคล ในทางเศรษฐกิจลดลง” ไม่ใช่ประกาศจะขจัดความยากจนให้สิ้นไปจากประเทศไทยภายในปี 2561 แต่รัฐบาล คสช.ทำไม่ได้
แต่ในระยะหลังๆ การต่อสู้ทาง การเมืองของไทยมักจะไม่ยึดอุดมการณ์เป็นหลัก พรรคการเมืองส่วนใหญ่ต่างยึดแนวทาง “ประชานิยม” ลดแลกแจกแถม และเศรษฐกิจทุนนิยมสุดโต่ง ถือคติ “มือใครยาวสาวได้สาวเอา” การแบ่งขั้วทางการเมืองไม่ใช่เรื่องเสียหาย ถ้าทุกฝ่ายยึดมั่นในประชาธิปไตยและสันติวิธี.