"ก้าวไกล" อัด พม. เลิก "ติดริบบิ้น" แก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง แล้วไปรื้อนโยบาย-มายาคติทางเพศอย่างจริงจัง เสนอ 4 แนวทางแก้ปัญหา ต่อภาครัฐ ซึ่งรวมถึงผลักดัน สิทธิลาคลอด 180 วัน ด้วย 

วันที่ 25 พ.ย. นายณัฐวุฒิ บัวประทุม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เนื่องในวันรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล 25 พ.ย. ว่า ปีนี้พรรคก้าวไกล ได้ทบทวนสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็ก เพื่อเตรียมนำเสนอเป็นนโยบาย พบสถิติสูงขึ้น ติด 1 ใน 10 ของโลก หลายครั้งผู้เสียหายร้องขอความช่วยเหลือจาก จนท.รัฐ แต่กลับถูกปฏิเสธ จนต้องวิ่งเข้าหามูลนิธิ หรือเพจดังต่าง ๆ จี้ รัฐบาลเร่งแก้ปัญหา ทั้งการสร้างทัศนคติที่เคารพความเสมอภาคระหว่างเพศ ปรับช่องทางรับแจ้งเหตุที่หลากหลาย มีกระบวนการช่วยเหลือที่เป็นมิตร เพิ่มพนักงานสอบสวนหรือตำรวจหญิงทุกสถานี เชื่อหากทำเช่นนี้จะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กได้

“จากข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัว ของคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบสถานการณ์เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.6 ในปี พ.ศ.2560 เป็นร้อยละ 42.2 ในปี พ.ศ.2563 ทั้งความรุนแรงต่อจิตใจ ร่างกายและทางเพศ สอดคล้องกับข้อมูลความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงพิการ พ.ศ.2564 โดยมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคมและสมาคมส่งเสริมศักยภาพสตรีพิการ พบผู้หญิงไทยถูกกระทำความรุนแรงไม่น้อยกว่า 7 คนต่อวัน หรือข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมที่พบว่าผู้หญิงไทยไม่ต่ำกว่า 75 % เคยถูกคุกคามทางเพศ โดยไม่ว่าข้อมูลด้านใด บ่งชี้ว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงในประเทศไทย ติด 1 ใน 10 ของโลก ยังไม่นับข้อมูลที่ไม่อาจสำรวจได้ หรือกรณีที่ผู้หญิงไม่กล้าเปิดเผยการถูกกระทำความรุนแรง ที่หลายครั้งนำไปสู่การบาดเจ็บ การทำร้ายตนเอง การฆ่าตัวตาย และการถูกฆ่าตายในที่สุด นับเป็นความสูญเสียที่ควรจะระงับเหตุได้ หากมีช่องทางหรือกระบวนการช่วยเหลือที่เอื้อต่อผู้หญิงที่ถูกกระทำแต่ต้น” นายณัฐวุฒิ ระบุ...

...


ทั้งนี้ แม้องค์การสหประชาชาติมีมติรับรองให้วันที่ 25 พ.ย. ของทุกปีเป็น “วันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงสากล” นับแต่เหตุการณ์ในคืนวันที่ 25 พ.ย. ค.ศ.1960 ที่เกิดการสังหารสามพี่น้องผู้หญิงชาวโดมินิกัน และสำหรับประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ.2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็น "เดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี" มาเป็นระยะเวลากว่า 23 ปีแล้ว โดยมีการตั้งหน่วยงานต่างๆ เช่น กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การบัญญัติกฎหมาย เช่น พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มีแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการหลายระดับ มีการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม หรือสายด่วน 1300 ที่ทำให้เกิดระบบและกระบวนการช่วยเหลือและการป้องกันปัญหาที่ดีขึ้น แต่สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19

“ปัจจัยสำคัญ คือ มายาคติเรื่องชายเป็นใหญ่ ยิ่งหากเป็นความรุนแรงระหว่างคู่ที่ใช้ชีวิตร่วมกัน ที่ชายยังเห็นว่าตนเองมีสิทธิเหนือหญิงที่เป็นคู่ของตน รวมถึงครอบครัว ชุมชน และสถาบันทางสังคม ที่มองว่าความรุนแรงเป็นเรื่องส่วนตัว แม้ในรอบปีที่ผ่านมามีหลายกรณีที่คนในสังคมลุกขึ้นมาช่วยผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงมากขึ้น อันถือเป็นนิมิตหมายที่ดี รวมถึงเมื่อผู้หญิงประสงค์ขอความช่วยเหลือ แต่กลับถูกปฏิเสธจาก จนท.ของรัฐ ซึ่งมีหลายเรื่องที่ร้องมายังพรรค ร้องมาที่สภาฯ หรือร้องไปที่มูลนิธิหรือเพจดังต่างๆ ที่ช่วยเหลือประชาชน อีกทั้งไม่มีระบบกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการทางสังคมที่จะปกป้องฟื้นฟูผู้หญิงอย่างเพียงพอ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงระบบแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำ และแทบจะไม่ต้องพูดถึงเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงที่ไม่อาจร้องขอความช่วยเหลือด้วยตนเองได้” นายณัฐวุฒิ กล่าว...

โดยพรรคก้าวไกลได้เสนอ 4 แนวทาง ของการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง

หนึ่ง ต้องเร่งปรับกระบวนการศึกษา และกระบวนการหล่อหลอมทางสังคมในทุกระดับ ที่ลดการตีตราหรือการสร้างมายาคติซ้ำ ทั้งเรื่องชายเป็นใหญ่ และเรื่องความรุนแรงในบ้านที่เป็นเรื่องส่วนตัว โดยเริ่มจากการสร้างทัศนคติที่เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน มองว่า “คนเท่ากัน” สร้างมุมมองที่เคารพต่อความเสมอภาคระหว่างเพศ และทำให้เห็นว่าความรุนแรงทั้งต่อผู้หญิง หรือเด็ก หรือความรุนแรงในบ้านมิใช่เรื่องส่วนตัวอีกต่อไป

สอง ปรับระบบการรับแจ้งเหตุที่เป็นมิตรต่อผู้หญิง โดยเพิ่มช่องทางที่หลากหลายผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ รวมถึงช่องทางของราชการที่มีอยู่หลากหลาย ทั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคม องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ สายด่วน 1300 ศูนย์ OSCC ที่มีอยู่ทุกโรงพยาบาล และที่สำคัญในสถานีตำรวจ โดยจะต้องเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิงที่มีอยู่ปัจจุบัน 763 คน ให้ครบทุกสถานีตำรวจ 1,482 แห่ง รวมถึงการเพิ่มทักษะของ จนท.ทุกภาคส่วนให้มีความเข้าใจต่อเรื่องความรุนแรงต่อผู้หญิง

สาม ปรับแก้กฎหมายและกระบวนการช่วยเหลือ ทั้งกระบวนการยุติธรรมและกระบวนการทางสังคมที่นำไปสู่การเยียวยาฟื้นฟูผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรง ดังเช่น การแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ที่ถูกใช้มาเป็นระยะเวลานาน และมีปัญหาอุปสรรคในการบังคับใช้ ประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในส่วนที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของผู้หญิง รวมถึงกระบวนการช่วยเหลือที่เน้นการเยียวยาฟื้นฟูและคืนพลังอำนาจให้ผู้หญิงในการดำรงชีวิต และเพิ่มกระบวนการแก้ไขพฤติกรรมการกระทำความรุนแรงของผู้กระทำในอีกทางหนึ่งด้วย

และ สี่ ผลักดันและดำเนินนโยบายด้านสวัสดิการที่ทำให้ผู้หญิงสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี เช่น สิทธิในการลาคลอด 180 วัน ที่สามารถใช้ได้กับทั้งผู้เป็นแม่และพ่อ สิทธิที่จะได้รับเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้าในกรณีมีบุตร อันเป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนพลังอำนาจของผู้หญิง และสถาบันครอบครัว และเป็นส่วนหนึ่งของการลดปัจจัยของการกระทำความรุนแรงต่อผู้หญิง

“แทนที่เราจะแก้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงด้วยการ “ติดริบบิ้นสีขาว” ในเดือน พ.ย.เพียงอย่างเดียว แต่ความรุนแรงต่อผู้หญิงกลับไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด รัฐบาลต้องแก้ปัญหาทั้งระบบทั้งเรื่องพลังอำนาจและสวัสดิการของผู้หญิง เรื่องการลดมายาคติและปรับเปลี่ยนทัศนคติที่เคารพสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเมื่อเกิดเหตุแล้ว ต้องทำให้ระบบการรับแจ้งเหตุเป็นระบบที่ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงกล้าที่จะเดินเข้าหาและเชื่อมั่นว่าจะช่วยเหลือเขาได้จริง ๆ แบบนี้ต่างหาก ที่จะนำไปสู่การลดความรุนแรงต่อผู้หญิงและรวมถึงเด็กได้ในระยะยาว” ณัฐวุฒิ กล่าว...