"ไทยสร้างไทย" ประกาศแผนแก้ "น้ำท่วม-น้ำแล้ง" ทั่วประเทศ เดินหน้าโครงการ "โขง-เลย-ชี-มูล" วางเป้า แก้จน-สร้างเศรษฐกิจ-ยกระดับคุณภาพชีวิต "เติมน้ำ เติมเงินให้ชาวอีสาน" ตั้งเป้าเพิ่มรายได้คนอีสานจาก ขึ้น 8.7 หมื่นบาท ต่อครัวเรือน ต่อปี เป็น 1.7 แสนบาท ต่อครัวเรือน ต่อปี
วันที่ 1 ต.ค. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รองหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย แถลงข่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ทั้งระบบทั่วประเทศอย่างยั่งยืน โดยเริ่มต้นที่ภาคอีสาน ซึ่งประสบกับน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างรุนแรงทุกปี ทำความเสียหายในด้านเศรษฐกิจมหาศาลทุกปี
ไทยสร้างไทยจึงขอประกาศนโยบายเดินหน้า “โครงการโขง เลย ชี มูล”
คุณหญิงสุดารัตน์ ระบุว่า จากการศึกษา พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ 103.5 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 63.85 ล้านไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานเพียง 8.69 ล้านไร่ หรือ ประมาณ 13.6% เท่านั้น ทำให้เหลือ พื้นที่ทางการเกษตรที่ไม่มีระบบชลประทานมากถึง 55.16 ล้านไร่ ทั้งที่ภาคอีสานเป็นพื้นที่เพาะปลูกสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ที่ทุ่งกุลา มันสำปะหลัง อ้อย และยางพารา รวมทั้งเป็นภาคที่มีประชากรสูงที่สุด แต่กลับมีระบบชลประทานน้อยที่สุด
...
หัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย ระบุต่อไปว่า โครงการดังกล่าวจะเริ่มต้นที่ปากแม่น้ำเลย บริเวณ ต.เชียงคาน และ ต.ปากตม อ.เชียงคาน จ.เลย เป็นแนวผันน้ำโขงอีสาน สู่แม่น้ำชีและแม่น้ำมูล โดยมีเป้าหมายเร่งด่วนในการเติมน้ำให้อ่างเก็บน้ำเดิมที่มีปัญหาน้ำไหลเข้าอ่างฯ น้อย เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนห้วยหลวง และเขื่อนลำปาว พื้นที่ที่มีปริมาณฝนตกน้อย มีปริมาณน้ำท่าน้อย ฝนทิ้งช่วง มีปัญหาหรือไม่มีศักยภาพในการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพิ่มเติม ได้แก่ พื้นที่ต้นน้ำชี บริเวณ จ.หนองบัวลำภู ขอนแก่น และชัยภูมิ พื้นที่ต้นน้ำมูล บริเวณ จ.นครราชสีมา และบุรีรัมย์
โครงการดังกล่าว จะทำให้ระบบคลองส่งน้ำและพื้นที่ชลประทานครอบคลุมทั้งภาคอีสาน 20 จังหวัด 281 อำเภอ เป็นพื้นที่ชลประทาน 31.78 ล้านไร่ คลองสายใหญ่จำนวน 6 สาย ความยาวรวม 2,271 กม. เกษตรกรได้รับประโยชน์ประมาณ 1.36 ล้านครัวเรือน หรือ 5.39 ล้านคน โดยจะมีการแบ่งโครงการเป็น 4 เฟส
ปัจจุบันลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล ไม่สามารถกักเก็บน้ำไว้สำหรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยฝนที่ตกลงมาไหลลงแม่น้ำโขงปีละ ประมาณ 36,247 ล้าน ลบ.ม.ดังนั้น การผันน้ำโขง ที่ปากน้ำเลย จะทำให้น้ำท่าในประเทศ ที่ไหลไปยังแม่น้ำโขง สามารถหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อีก ปีละเกือบ 3 หมื่นล้าน ลบ.ม.
และยังสามารถเติมน้ำให้กับแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ รวมทั้งแม่น้ำในลุ่มน้ำโขงอีสาน-ชี-มูล ไว้ใช้ในฤดูแล้ง ช่วยลดปัญหาภัยแล้ง ความเสี่ยงจากฝนตกล่าช้าและฝนทิ้งช่วง ขณะเดียวกันยังสามารถ เพิ่มระดับเพิ่มระดับน้ำใต้ดิน และศักยภาพในการใช้น้ำใต้ดินได้อีกด้วย
นอกจากนี้ จะช่วยบรรเทาอุทกภัยจากน้ำหลากได้อีกด้วย เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งอย่างยั่งยืน
ด้านนายต่อพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเป็นโครงการที่ประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการผลิต เนื่องจากสามารถผันน้ำโขงมาเป็นน้ำต้นทุนได้โดยแรงโน้มถ่วง และสามารถกระจายน้ำจากคลองส่งน้ำไปยังพื้นที่ชลประทานโดยแรงโน้มถ่วงถึง 14 ล้านไร่ และใช้ระบบสูบน้ำอีก 17.78 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งปกติการพัฒนาน้ำภายในประเทศ พื้นที่ชลประทานส่วนใหญ่จะเป็นสถานีสูบน้ำ แต่โครงการดังกล่าวใช้แรงโน้มถ่วงเป็นหลัก
สำหรับผลตอบแทนทางด้านเศรษฐกิจคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกร จากเดิมปีละ 87,486 บาท ต่อครัวเรือน ต่อปี เป็น 173,158 บาท ต่อครัวเรือน ต่อปี เพิ่มขึ้น 85,672 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี จากการดำเนินโครงการนี้ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวอีสาน และลดความยากจนได้ไม่น้อยกว่า 5.39 ล้านคน ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนไม่ต่ำกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท