มติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ลดค่าธรรมเนียมโอนของธนาคารที่ดินเหลือ 0.01% มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึง 7 มิ.ย. 68 ชี้ช่วยประหยัดเงินประชาชนหลายหมื่นล้าน

วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ตามที่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจนและให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินที่เหมาะสม โดยมีสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) (บจธ.) เป็นหนึ่งในหน่วยงานรับผิดชอบหลัก ดำเนินงานผ่าน 2 โครงการ คือ โครงการบริหารจัดการที่ดินอย่างยั่งยืน และโครงการป้องกัน และแก้ไขปัญหาการสูญเสียสิทธิในที่ดินของเกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งวันนี้ ครม.มีมติอนุมัติร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเป็นพิเศษ ตามประมวลกฎหมายที่ดิน สำหรับกรณีการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์ในภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) มีสาระสำคัญ เป็นการลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) เกี่ยวกับค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียน การจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากอัตราร้อยละ 2 และร้อยละ 1 เหลืออัตราร้อยละ 0.01 ตามราคาประเมินทุนทรัพย์ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ถึงวันที่ 7 มิถุนายน 2568

ทั้งนี้ การลดหย่อนค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามภารกิจของสถาบันบริหารจัดการ ธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ในปีงบประมาณ 2565-2568 คาดว่ารัฐจะสูญเสียรายได้ประมาณหลายหมื่นล้านบาท แต่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดค่าใช้จ่ายการจดทะเบียนและการทำนิติกรรมของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการกระจายการถือครองที่ดินที่เป็นธรรมและยั่งยืนแก่ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล

...

นางสาวรัชดากล่าวต่อว่า บจธ. จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2558 เพื่อทำหน้าที่กระจายการถือครองที่ดินให้ประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน โดยมีเป้าประสงค์ช่วยให้เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างทั่วถึง และรัฐสามารถนำที่ดินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์มาบริหารจัดการให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม สำหรับผลการดำเนินงานในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา สามารถกระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเหมาะสมรวมเนื้อที่กว่า 5,000 ไร่ สามารถแก้ปัญหาที่ดินของเกษตรกรที่หลุดการจำนองและการฝากขายได้กว่า 3,000 ไร่ รวมถึงสนับสนุนให้ชุมชนจัดการที่ดินร่วมกันทั้งที่ดินทำกินและที่ดินอยู่อาศัยในรูปแบบโฉนดชุมชนด้วย