บรรดาผู้นำรัฐบาลที่ชอบอ้างว่า 8 ปีที่ครองอำนาจ ทำให้คนไทยอยู่ดีกินดี โปรดรับฟังรายงานของ ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา พูดถึง โครงการ “พาน้องกลับมาเรียน” ที่ประสบความสำเร็จ นำเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา 238,700 คน กลับเข้าสู่ระบบในส่วนใหญ่ เหลือเพียง 17,000 คน ที่หลุดไป
ศ.ดร.สมพงษ์เล่าว่า จากการลง พื้นที่จังหวัดราชบุรี ขอนแก่น พิษณุโลก ยะลา และกรุงเทพฯ เชื่อว่าเด็ก 17,000 คนจะกลับมาได้ยาก เด็กส่วนใหญ่อยู่ในมุมมืด ขายของขายพวงมาลัยตามสี่แยกไฟแดง หรือพ่อแม่พาไปขอทานตามตลาด เด็กเหล่านี้มีลักษณะเหมือนกันคือ “ยากจนเงียบเชียบ” พูดน้อย เสียงเบา ถามคำตอบคำ ถ้าเจอคำถามหนักๆจะร้องไห้ ส่วนใหญ่เป็นเด็กดีที่ใฝ่เรียน แต่ต้องเสียสละมาทำงานเพื่อพ่อแม่
เห็นได้ชัดว่าต้นตอของปัญหา คือความยากจน มีทั้งความจนที่เงียบเชียบ ความจนดักดาน สหประชาชาติเคยสำรวจเมื่อปลายปี 2564 ใน 109 ประเทศ เป็นการสำรวจความยากจนหลายมิติ ทั้งด้านรายได้ การศึกษา ความยุติธรรมในสังคมและอื่นๆ
พบว่าไทยเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในกลุ่มอาเซียน ยากจนกว่าพม่า กัมพูชา และลาว เป็นความยากจนหลายมิติ ธนาคารโลกเคยสำรวจพบว่าไทยเคยลดความยากจนลง จาก 65% เหลือ 9.85% ระหว่างปี 2531 ถึง 2561 ความยากจนพุ่งขึ้นอีกระหว่างปี 2558 ถึง 2561 ช่วงที่รัฐบาล คสช.สัญญาจะขจัดความจนให้สิ้นซาก
ธนาคารโลกระบุว่าประเทศไทย ที่มีความเหลื่อมล้ำด้านรายได้เป็นอันดับ 4 ของโลก แต่ไทยก็เคยประสบความสำเร็จ ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา เด็กจากครอบครัวที่ยากจนสุด ที่จบการศึกษาภาคบังคับ เรียนต่อมัธยมปลายเพิ่มขึ้น จาก 5.6% เมื่อปี 2529 พุ่งขึ้นเป็น 57% ในปี 2552 แต่ทรุดลงในระดับอุดมศึกษา
...
ความเหลื่อมล้ำในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย ระหว่างลูกคนจนสุดกับรวยสุด พุ่งขึ้นจาก 24% ในปี 2529 เป็น 50% ในปี 2552 ทั้งๆที่มีการตั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แสดงว่าเด็กยากจนได้รับประโยชน์จาก กยศ. ไม่มากกว่าเด็กที่ร่ำรวย ความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา ทำให้ลูกคนจนได้รับค่าจ้างต่ำ เป็นคนจน
คนจนถูกสาปให้จมปลักอยู่ในวงจรของความยากจนตลอดชาติ เป็นความยากจนแสนสาหัส เด็กกว่า 2 แสนคน ที่ถูกนำกลับมาเรียน ยังมีโอกาสที่จะหลุดออกไปสู่วงจรความยากจนที่ดักดาน ยากจนตลอดชาติ และจนทั้งโคตร จึงขอวิงวอน ส.ส.ผู้แทนปวงชนชาวไทยช่วยด้วย อย่ามัวแต่เถียงกันเรื่องร้อยหรือห้าร้อย.