นายกฯ ปาฐกถาพิเศษ "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทย" ย้อนเหตุ 7 ปีเข้ามาเพื่อชาติสงบ เข้าใจประชาชน ขุ่นเคืองช่วง วิกฤติ 2 ปี ย้ำ แก้จนต้องอาศัยเวลา ขอทุกคนเชื่อมั่น ลั่น ไม่เคยท้อแท้

วันที่ 19 พ.ค. 65 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ห้างสรรพสินค้าสยาม พารากอน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมเสวนา "ถามมา-ตอบไป เพื่อประเทศไทยที่ดีกว่าเดิม" และกล่าวปาฐกถาพิเศษ "อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ประเทศไทย" โดยเนื้อหาส่วนใหญ่เป็นการพูดถึงผลงาน 8 ปีรัฐบาล ตั้งแต่สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จนถึงรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง การแก้ไขปัญหาความยากจน การแก้ปัญหาโควิด-19 และปัญหาที่เกิดจากการสู้รบรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เกิดวิกฤติพลังงาน โดยผ่านมาตรการและโครงการต่างๆ ว่า ตนย้อนคิดเสมอถึงวันที่ตัดสินใจเข้ามาบริหารประเทศเมื่อ 7 ปีก่อน วันนั้นประเทศไทย มีการแบ่งขั้ว สลับกันต่อต้านต่อเนื่องกันมานับ 10 ปี เป็นเหตุให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปไม่ได้ คนไทยไม่มีความสุข และประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ซึ่งในวันนี้ พวกเราหลายคนอาจจะลืมกันไปแล้ว และเมื่อตนได้ตัดสินใจไปแล้ว ก็ได้เดินหน้าทำให้ดีที่สุด

...

ทั้งนี้ หากย้อนไปตอน คสช. ก็เข้าใจดีว่า ต้องแลกกับการถูกกล่าวหาว่า ประเทศเราไม่เป็นประชาธิปไตย แต่ คสช.ได้พิสูจน์ให้ประชาชนเห็นว่า ทุกคนสามารถมีเสรีภาพทางความคิด ภายใต้กรอบกฎหมายที่ผ่อนปรนกับทุกฝ่ายมากที่สุด แม้จะมีอำนาจพิเศษมากมาย แต่ก็ไม่ได้ใช้ในทุกกรณี แต่ใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อแก้ไขปัญหาเท่านั้น แต่การตรวจสอบต่างๆ องค์กรอิสระยังคงทำหน้าที่เป็นอิสระ โดยไม่เข้าไปก้าวล่วงใดๆ วัตถุประสงค์ของการเข้ามาในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อดำรงไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยของประเทศ บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และทำให้นานาชาติเกิดความเชื่อมั่นประเทศไทย ทุกคนก็ได้เห็นว่าในช่วงหลังจากนั้น รัฐบาลไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลได้บริหารประเทศ ภายใต้วิสัยทัศน์ ประเทศไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งการสร้างบ้านสร้างชาติให้เป็นบ้านที่มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามวิสัยทัศน์ที่วางไว้ที่จำเป็นต้องมี Master Plan ซึ่งก็คือ ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่เป็นแผนภาพรวมใหญ่ที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมเข้าใจ และเห็นภาพบ้านของเราในอนาคตเดียวกัน เดินไปสู่เป้าหมายที่ตรงกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 ตนได้มีโอกาสกลับมาสานต่อการบริหารภายใต้รัฐธรรมนูญปัจจุบัน ตนและคณะรัฐมนตรีทุกคน ได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างต่อเนื่อง เติบโตได้ดีในระดับหนึ่ง ขณะที่วิกฤติโรคระบาดโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งเป็นวิกฤติโลกที่เราไม่ได้ก่อ และเป็นมหาวิกฤติครั้งที่ใหญ่ที่สุด ส่งผลกระทบรุนแรงต่อการถดถอยทางเศรษฐกิจของทุกประเทศในโลก รวมถึงไทยที่เราถูกประเมินว่า จะได้รับผลกระทบมากที่สุดในระดับต้นๆ ของโลก เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวกว่าร้อยละ 20 ของ GDP นับเป็นโจทย์ที่ยาก เพราะเราสู้อยู่กับศัตรูที่มองไม่เห็น ไม่มีอาวุธใดจะปราบได้ และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการเยียวยาช่วยเหลือประชาชน เพื่อตั้งหลัก ประคับประคองและกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ผลสัมฤทธิ์เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ตนต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ช่วยกัน รัฐบาลเข้าใจในความขุ่นเคือง ไม่พอใจของประชาชนกับวิกฤติที่ยืดเยื้อติดต่อกันกว่า 2 ปี และมีวิกฤติซ้อนวิกฤติขึ้นอีก รัฐบาลมีความปรารถนาเป็นอย่างยิ่ง ที่จะนำความสุขกลับมาสู่พี่น้องชาวไทยโดยเร็ว แต่วิกฤติเหล่านี้เป็นวิกฤติโลก เป็นเรื่องที่เราไม่ได้ก่อหรือจะทำให้จบด้วยตัวเราเองได้

นายกฯ กล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลจึงได้เข้ามาดูแล เพื่อลดภาระค่าครองชีพด้วยมาตรการต่างๆ ขณะที่สถานการณ์ รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งรัฐบาลตระหนักว่าสถานการณ์ที่ มีความไม่แน่นอน และอาจยืดเยื้อ รัฐบาลติดตามประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง และพร้อมที่จะปรับปรุงแนวทางการช่วยเหลือ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เรื่องสำคัญอีกเรื่อง ตนได้ประกาศให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้ครัวเรือน ครอบคลุมลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ซึ่งขณะนี้ได้ปลดล็อกเงื่อนไขหลายประการ ส่วนปัญหาความยากจนนั้น หากเราสร้างกลไกการทำงาน กลไกความร่วมมือในทุกระดับได้แล้ว ทุกอย่างก็จะทยอยดีขึ้น ไม่ใช่ว่าคนจนจะหมดไปในปีนี้ หรือในทันทีได้ มันต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือด้วยกัน ที่ผ่านมาแม้ประเทศไทยจะเจอกับเรื่องวิกฤติซ้อนวิกฤติ ไม่ว่าจะจากโรคโควิด-19 ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมถึงเกิดความแตกแยก ทางความคิดมากมายแค่ไหนก็ตาม รัฐบาลของตนก็ยังเดินหน้าพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง ภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ประเทศไทยเองต้องมี การลงทุน และเตรียมความพร้อมที่จะเติบโต ด้วยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่

นายกฯ กล่าวอีกว่า สิ่งที่รัฐบาลสามารถให้ความมั่นใจกับพี่น้องประชาชนได้ คือ ประเทศไทยในวันนี้ ยังมีเสถียรภาพทางการเงินและการคลังที่ดี พร้อมรับมือกับวิกฤติที่ยืดเยื้อได้ มีความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคตได้ และมีอุตสาหกรรมสำหรับรองรับ คนรุ่นใหม่ในด้านต่างๆ รวมทั้งมีโครงสร้างพื้นฐานที่จะเชื่อมต่อกับประเทศในอาเซียนทุกด้าน ขอให้ประชาชนเชื่อมั่น บางครั้งในยามวิกฤติไม่ว่ารัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า อาจจะทำงานไม่ทันใจก็ขอให้เข้าใจ เห็นความจริงใจทุกคนที่มุ่งมั่นแก้ปัญหา ตั้งใจทำงาน ขอเพียงให้อดทน ร่วมมือ ร่วมใจกัน ไม่ใช่เวลาแห่งความขัดแย้ง หรือบ่อนทำลายชาติบ้านเมือง เพราะนี้ คือประเทศไทยของเรา แผ่นดินนี้ ยังมีสิ่งที่งดงาม และอนาคตที่ดีๆ รอพวกเรา และลูกหลานอยู่ และเราก็มีสถาบันที่สำคัญ ชาติศาสนา พระมหากษัตริย์ ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวคนไทยไว้ด้วยกันสิ่งที่เราต้องการวันนี้คือต้องการความร่วมมือความมุ่งมั่นและความเข้าใจเผื่อแผ่แบ่งปันซึ่งกันและกันรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจและไม่เคยท้อแท้ พยายามจะทำทุกอย่างให้ดีที่สุด ทั้งนี้เพื่ออนาคตของประเทศไทยต่อไปนานเท่านาน เพื่อลูกหลานของเรา

จากนั้น นายกฯ ได้เยี่ยมชมบูธจากหน่วยงาน สถาบันการเงินต่างๆ ก่อนเดินทางกลับ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่ามีผู้มาร่วมงานไม่มากเท่าที่ควร.