“วิษณุ” ยืนยัน ราชบัณฑิตสภา ไม่ได้ปรับเปลี่ยน ยังใช้ได้ทั้ง กรุงเทพมหานคร และบางกอก แต่อยากให้เน้นใช้กรุงเทพมหานคร

วันที่ 17 ก.พ. 2565 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา ถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์การเปลี่ยนชื่อเมืองหลวงจาก Bangkok (บางกอก) เป็น Krung Thep Maha Nakhon (กรุงเทพมหานคร) ว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ผ่านมา ได้รับทราบร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่กำหนดชื่อประเทศ ชื่อเมืองหลวง รวมทั้งชื่อเมืองของแต่ละประเทศ ที่ยังเป็นปัญหาอยู่ ซึ่งสำนักงานราชบัณฑิตยสภามีหน้าที่ในเรื่องนี้ โดยมีคณะกรรมการบัญญัติศัพท์ภูมิศาสตร์ ซึ่งตั้งมานานแล้ว และช่วยรัฐบาลในการคิดว่าชื่อทวีป ประเทศ ดินแดน เมือง ไม่ว่าจะเป็นเมืองหลวงหรือจังหวัดต่างๆ ของแต่ละประเทศ ควรมีคำสะกดอย่างไรในภาษาไทย และอ่านออกเสียงอย่างไร โดยครั้งนี้มีการเสนอให้ปรับเปลี่ยนอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่เสนอหลายครั้ง

ในส่วนของเมืองหลวงนั้น ราชบัณฑิตไม่มีอำนาจหน้าที่ใดๆ ในการกำหนดชื่อเมืองหลวง ประเทศ หรือจังหวัด ทางการของไทย เพราะสิ่งเหล่านี้จะต้องกำหนดโดยกฎหมาย ส่วนราชบัณฑิตมีหน้าที่นำมาสะกดหรือเขียนให้ถูกต้องเพื่อที่จะได้สื่อสารออกไป เมืองหลวงของประเทศไทยนั้นชื่อ กรุงเทพมหานคร มีมาตั้งแต่ไหนแต่ไร กำหนดไว้ในกฎหมาย พระราชบัญญัติทุกฉบับ เมื่อพูดถึงกรุงเทพมหานคร หรือพูดถึงบางกอก ก็ใช้คำว่ากรุงเทพมหานคร แม้แต่ในรัฐธรรมนูญในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เช่น กฎหมายเลือกตั้ง ก็ระบุว่า การเลือกตั้งในกรุงเทพมหานคร เพราะในทางการชื่อเมืองหลวงของประเทศไทยคือกรุงเทพมหานคร แต่ก็มักเรียกกันสั้นๆ ว่า กรุงเทพฯ แต่ชาวต่างประเทศเรียกว่าบางกอก ก็ถือว่าในทางการก็ใช้ได้ ดังนั้นเรียกได้ทั้ง 2 อย่างโดยเรียกว่า กรุงเทพมหานคร(บางกอก)

...

“คณะรัฐมนตรีไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างยังเหมือนเดิม แต่เมื่อมีปัญหาข้อสงสัยกัน จึงได้ให้ราชบัณฑิตไปกำหนด ขยายความคำบรรยายให้ชัดเจน ว่านำไปใช้ในโอกาสไหนอย่างไร ตอนนี้อยากให้ใช้คำกรุงเทพมหานครกัน เพราะจะได้สื่อสารกับคนต่างประเทศให้เข้าใจว่า คนไทยเรียกกันแบบนี้เท่านั้น”