หลังจากนางฐิติมา ฉายแสง โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้นำรายชื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ ไปเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่โผ ครม. "ยิ่งลักษณ์ 2" มีรัฐมนตรีใหม่ 16 ตำแหน่งนั้น

ไทยรัฐออนไลน์จะพาไป ทำความรู้จักกับว่าที่ รมต.ใหม่ทั้ง 16 คน ประกอบด้วย  1.  นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ซึ่งถูกคาดหมายว่าจะมาดำรงตำแหน่งรองนายกฯ ควบเก้าอี้ รมว.คลัง แทนนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล ซึ่งปมที่ทำให้ต้องหลุดจากตำแหน่งมาจากความขัดแย้งกับเสียงส่วนใหญ่เรื่อง การออกร่าง พ.ร.ก.สำคัญ 4 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย ร่าง พ.ร.ก.ให้กระทรวงการคลังกู้เงิน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูประเทศหลังประสบอุทกภัย ร่าง พ.ร.ก.การจัดตั้งกองทุนประสบภัยให้ผู้ประกอบการที่ลงทุนในประเทศ วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และร่าง พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้ช่วยเหลือกองทุน เพื่อฟื้นฟู และพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ที่มีสาระสำคัญในการโอนหนี้ 1.14 ล้านล้านบาท ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่กระทรวงการคลังรับภาระดอกเบี้ยไปให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รับผิดชอบทั้งเงินต้น และดอกเบี้ย เปิดทางให้รัฐบาลกู้เงินเพิ่มมาเป็นงบประมาณในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่างๆ

...

2. พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา รมว.กลาโหม ที่ทำหน้าที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับกองทัพได้ดีในระดับหนึ่ง แต่จำต้องหลุดจากเก้าอี้ หลังจากไม่สามารถจัดโผนายทหารปีที่ผ่านมา ได้ตรงตามที่นายใหญ่มีบัญชา ซ้ำร้ายยังดูใจดีเกินไปสำหรับการควบคุมไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น คาดหมายว่าจะขยับขึ้นเป็นรองนายกฯ

3. พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.คมนาคม เป็น รมว.กลาโหม แม้ในช่วงที่ฝุ่นตลบจะมีชื่อเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องหลุดจากตำแหน่ง จากปัญหาความขัดแย้งกับ 2 รัฐมนตรีช่วย ในเรื่องการแบ่งงานบริหาร ถูกหาว่ารวบอำนาจ แต่ พล.อ.อ.สุกำพล ก็แสดงให้เห็นแล้วว่า "ปึ้ก" ขนาดไหน ที่น่าสนใจคือบทบาทใหม่ที่เล่น เพราะการนำเพื่อนซี้มาคุมกระทรวงสกัดปฏิวัติเช่นนี้ แสดงว่านายใหญ่อาจมุ่งผลักดันการจัดโผนายทหารในปีหน้าอย่างจริงจัง รวมถึงการแก้ไข พ.ร.บ.กลาโหม ที่ล่าช้ามานานจนไม่ถูกใจนายใหญ่ก็เป็นได้

4. นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย คาดว่าจะถูกดันขึ้นเป็น รมว.คมนาคม อดีตข้าราชการระดับสูงที่เริ่มต้นจากสายงานปกครองที่ตำแหน่งรองปลัด กรุงเทพมหานคร ย้ายมาเป็นรองปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม เกษียณอายุราชการที่เก้าอี้ปลัดกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมงานการเมืองกับพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นเลขาธิการพรรคแทนนายสุพล ฟองงาม


5. นายอารักษ์ ชลธาร์นนท์ ประธานเจ้าหน้าที่คณะผู้บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) คาดหมายให้เป็น รมว.พลังงาน เติบโตในสายงานมากับบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัทในเครือ ก่อนได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งซีอีโอไทยคม จึงไม่ต้องแปลกใจในเรื่องความใกล้ชิดอย่างไรก็ตาม มีฝีไม้ลายมือ ความรอบรู้ในสายงานโทรคมนาคมเป็นอย่างดี


6. นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รมช.คลัง เป็น รมว.ศึกษาธิการ อดีตหัวหน้าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยก่อนยุคพลังประชาชนจะถูกยุบพรรค ดีกรีการศึกษาความเชี่ยวชาญในด้านเศรษฐศาสตร์ที่หาตัวจับได้ยาก ได้รับบทบาทที่ผ่านมาให้ดูแลในเรื่องนโยบายการคลังของประเทศ แต่การปรับครม.ครั้งนี้เชื่อได้ว่าอาจเป็นเพราะมีนโยบายที่เห็นไม่ตรงกันกับรองนายกรฐมนตรีที่ดูแลควบคุมอยู่ จึงโดนเด้งไปเป็น รมว.ศึกษาธิการ ต้องจับตาดูว่าจะทำหน้าที่ได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะไม่ใช่สายที่ตัวเองถนัดสักเท่าใดนัก


7. นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง เป็น รมว.พาณิชย์ เป็น ส.ส.เชียงใหม่ของพรรค ที่มีความสนิทสนมกับ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีตเคยประธานสภาอุตสาหกรรมเชียงใหม่ ครั้งนี้แม้จะถูกขยับโยกออกจากที่เก่า แต่ก็ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนที่ดีกว่าเดิม


8. นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รมว.ศึกษาธิการ เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ขึ้นคุมกระทรวงคุณครูด้วยบารมี "เจ๊แดง" เยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เจ้าตัวจำต้องหลุดจากเก้าอี้ทั้งที่ใจไม่อยาก แต่ด้วยนายใหญ่ จำต้องปรับเปลี่ยนตบรางวัลให้บรรดา ส.ส.อีสาน ทว่าความ "ปึ้ก" ทำให้ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไปปลอบใจ แม้จะดูเกรดลดลง แต่ก็พอถูๆ ไถๆ ไปได้


9. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อีกหนึ่งอดีตผู้บริหารบริษัทในเครือชินคอร์ป ได้ดิบได้ดีจากการเป็นคนใกล้ชิดและวางใจได้ แม้ผลงานจะยังไม่โดดเด่นเท่าใดนัก แต่นายกรัฐมนตรีมีความไว้วางใจและเชื่อถือในฝีมือ ที่สำคัญยังมีคอนเน็คชั่นกับสื่อมวลชนอย่างดี น่าจะแบ่งเบานายกฯ ที่มักจะมีปัญหาด้านการสื่อสารกับสื่อมวลชนได้ดี


10. นางนลินี ทวีสิน ผู้แทนการค้าไทย เป็น รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ได้ตำแหน่งผูแทนการค้าไทยในสมัยของ ครม.ชุดนี้ โดนเรียกให้มาช่วยงานในตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เช่นกัน


11. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย เป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ ตบรางวัลให้ฉาดใหญ่ หลังทั้งโดนมาหมด ทั้งข้อหาก่อการร้าย ติดคุก โดนไล่ยิง ทำงานพลีกายถวายชีวิตให้นายใหญ่จนถือเป็นขวัญใจเบอร์ 1 ของคนเสื้อแดง ไม่แปลกที่จะได้รับรางวัลเป็นสินน้ำใจ ซึ่งเจ้าตัวก็คงรู้เลาๆ มานานแล้ว ด้วยเหตุในช่วงใกล้ปรับ ครม.นี้ จึงได้โลว์โปรไฟล์ หายหน้าหายตาไปจากความสนใจ เพื่อป้องกันฝ่ายต่อต้านเตะตัดขา งัดสารพัดข้อหามาโจมตี จนอาจต้องชวดตำแหน่งเสนาบดีไป

12. นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็น รมช.สาธารณสุข เคยทำหน้าที่กำกับดูแล สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค งานนี้ได้เปิดตัวขึ้นเทียบชั้นเป็น รมช.สาธารณสุข ถือว่าเป็นงานที่ตัวเองได้ดูแลอยู่ เป็น รมช.ที่มีความสนิทสนมกับ 'พายัพ ชินวัตร' ประธานภาคอีสาน

13. นายศักดา คงเพชร ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.ศึกษาธิการ ตามกันมาจากยุคของพรรคพลังประชาชนเทียบชั้นลายครามขึ้นมาเป็น รมช.อย่างเหนือความคาดหมาย ผ่ากลางปล้องได้เป็น รมช.ศึกษาธิการ


14. นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็น รมช.คลัง ส.ส.พรรคเพื่อไทย จ.อุตรดิตถ์ ขึ้นชั้นเป็นรมช.คลัง นัยว่าเป็นการขัดตาทัพ หลังจากคนกระทรวงนี้มีปัญหาด้านนโยบายขัดแย้งกับรองนายกรัฐมนตรี

15. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านคมนาคมจากจุฬาฯ เป็น รมช.คมนาคม มือทำงานชั้นเลิศใกล้ชิดนายใหญ่ ได้รับการมอบหมายโดยตรงให้มาเดินหน้างานในกระทรวงคมนาคมแบบชนิดเต็มสูบ หลังสารพัดโครงการไม่คืบในช่วงเกือบ 5 เดือนที่ผ่านมา และด้วยเหตุเป็นนักวิชาการนายใหญ่ เกรงจะไม่คุ้นเคยแรงกระแทกกระทั้นทางการเมือง จึงให้เป็นรัฐมนตรีช่วยเพื่อเลี่ยงกระแส


16. ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ อดีตคณบดีคณะนวัตกรรม ม.ธรรมศาสตร์ เป็น รมว.อุตสาหกรรม ส้มหล่นมาแทนที่ นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล โควตาของพรรคพรรคชาติพัฒนา ที่ขอถอนตัวเนื่องจากปัญหาสุขภาพ

ส่วนผู้ที่อาจจะหลุดออก จากตำแหน่ง มีทั้งสิ้น 9 ราย ประกอบด้วย 

1. พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกฯ
 2. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง 
3. นายพิชัย นริพทะพันธุ์  รมว.พลังงาน 
4. น.ส.กฤษณา สีหลักษณ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
 5. นายกิตติศักดิ์ หัตถสงเคราะห์ รมช.คมนาคม 
6. นายพรศักดิ์ เจริญประเสริฐ รมช.เกษตรและสหกรณ์
 7. นายต่อพงษ์ ไชยสาส์น รมช.สาธารณสุข
 8. นายสุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล รมช.ศึกษาธิการ 
9. นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.อุตสาหกรรม.