การเมืองไทยในวันที่สถานการณ์ อยู่ในช่วงขาลง อะไรก็ดูอึมครึมไปหมด จากการประเมินสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้แล้ว อนาคตการเป็นผู้นำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปต่อลำบาก

การเมืองที่ไม่มีฐานเสียงของ ส.ส.ให้การสนับสนุน จะอาศัย กำลัง ส.ว.อย่างเดียว เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น ถ้าพรรคการเมืองที่มีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ เกิดได้เสียงข้างน้อย ไม่ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล มีเสียง ส.ส.ที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกฯไม่พอ ส.ว. ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องเลือกตามรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอมาในบัญชีนายกฯของพรรคเท่านั้น

สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ ยังจะเป็นแคนดิเดตนายกฯภายใต้บัญชีรายชื่อของ พลังประชารัฐ ในขณะที่แนวโน้ม จำนวน ส.ส.ของพลังประชารัฐ ลดลงเรื่อยๆไม่ได้มีเสียง ส.ส.อยู่ในอันดับ 1-3 โอกาสที่จะเป็นนายกฯก็น้อยเต็มที เพราะฉะนั้นหมากเกมการเมืองในพลังประชารัฐเที่ยวนี้ ทำเอา พล.อ.ประยุทธ์ แทบกระอักเลือดและคงจะจำชื่อของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ไปอีกนาน

ครั้นจะ ไปดึงพรรคการเมืองอื่น มาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล แทนกลุ่ม 21 ส.ส. ที่ออกไปจากพลังประชารัฐ เมื่อดูจาก พรรคฝ่ายค้าน เวลานี้ค่อนข้างจะลำบาก นอกจากพรรคฝ่ายค้านจะรวมตัวกันเหนียวแน่นขึ้น เงื่อนไขทางการเมืองมีข้อจำกัดมากมาย ถามว่า ตราบใดที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล จะมาร่วมรัฐบาลได้ไหม ก็เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด

นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์จะเสียสละตัวเองเพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อไป ดูจากรูปการณ์แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็คงไม่เสียสละปานนั้น ครั้นจะไปค่อยซื้อเสียง ส.ส.ในสภาเป็นครั้งๆไปในช่วงที่มีกฎหมายสำคัญของรัฐบาลเข้าสู่ที่ประชุมสภาจะไปหาทุนมาจากไหน เอาแค่การยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลกับร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ก็ไปไม่รอดแล้ว

...

หลังชนฝา หมดเวลาผ่าทางตัน

ก็เหลืออีกหนทาง พล.อ.ประยุทธ์ต้องตัดสินใจปรับ ครม. ตามข้อเสนอของพรรคการเมืองใหม่ที่จะดึงมาเป็นพรรคร่วมรัฐบาล จะเอากี่ตำแหน่ง จะมีเงื่อนไขอย่างไรก็อีกเรื่อง

น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในยามนี้

เพราะถ้า พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจ ยุบสภา เมื่อไหร่ ก็ไม่ต่างอะไรจากการ ปิ้งปลาประชดแมว สู้ซื้อเวลาไปอย่างนี้ให้นานที่สุด กอบกู้สถานการณ์ให้ดีขึ้น ค่อยตัดสินใจที่จะยุบสภาตามสภาพแวดล้อมที่คลี่คลายกว่านี้ อาจจะยังมีโอกาสหายใจอีกเฮือก

แต่ถ้ายังคิดจะสู้ต่อไป ก็อาจจะทำให้ระยะเวลาในการเป็นรัฐบาลสั้นลงอีก อย่าลืมว่า ฝ่ายค้าน ถือไพ่เหนือกว่า พรรคร่วมรัฐบาล ก็รอโอกาสที่จะขย้ำ โดยเฉพาะในสนามเลือกตั้ง จากตัวอย่างของการเลือกตั้งซ่อมก็เปิดแผลให้เห็นกันชัดเจน

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเรียนรู้ในการเริ่มต้นของการใช้อำนาจก็ต้องเรียนรู้ถึงจุดจบของอำนาจไว้ด้วย จะได้ลงจากอำนาจอย่างสง่างาม ไม่เจ็บตัว.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th