- รัฐบาลเร่งรัดเชิญชวนประชาชนฉีดวัคซีนโควิด-19 ขยับเป้ายอดรวม 100 ล้านโดส ต้องได้ใน 5 ธ.ค. นี้
- โมเดอร์นาที่จัดซื้อทยอยเข้าไทยมาแค่ 2 ลอต “บิ๊กตู่” ชวนคนรอมารับวัคซีนฟรีกับภาครัฐ
- สรุปสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในไทย ทั้งชนิดเดียวกัน สูตรไขว้ และบูสเตอร์โดส ระยะเวลาไหนเหมาะสม
ในช่วงนี้ประชาชนทั้งหลายอาจจะมักได้ยิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รวมถึง นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงทีมแพทย์สาธารณสุข ออกมาเชิญชวนรณรงค์ให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีน จากที่เคยเลือกไม่ได้ วันนี้อยากได้แบบไหน เลือกได้ตามใจชอบ แถมยังเชิญชวนผู้ที่เสียเงินไปแล้วแต่ยังรอวัคซีนทางเลือกมารับการฉีดกับภาครัฐฟรีอีกต่างหาก หลังได้มาใบรูปแบบการจัดซื้อและการรับบริจาค ส่วนที่เอกชนสั่งซื้อนั้นก็เข้ามาแล้ว 2 รอบ ยอดรวมเฉียด 2 ล้านโดส

...
อีกทั้ง รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุข ยังเร่งรัดเพื่อเป้าหมายการฉีดวัคซีนให้ได้ครอบคลุม 70% ในเดือน พ.ย.นี้ โดยเฉพาะช่วงสัปดาห์รณรงค์ฉีดวัคซีนระหว่างวันที่ 27 พ.ย. - 5 ธ.ค. 2564 เพื่อให้สามารถไปถึงเป้า 100 ล้านโดสให้ได้ โดยในส่วนของ 100 ล้านโดสนี้เป็นเพียงยอดสะสมทั้งหมดเท่านั้น เพราะหากจะนับเพียงเข็ม 2 ที่ต้องฉีดให้ได้ 50 ล้านคน หรือ 100 ล้านโดส ยังเหลืออีกพอสมควร
สำหรับยอดการฉีดวัคซีนที่รายงาน ณ เวลา 18.00 น. ของวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่าน มียอดการฉีด 3 เข็มรวมกันเพิ่มขึ้นเพียง 235,121 โดส ทำให้การฉีดสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. - 28 พ.ย. หรือผ่านมาแล้ว 274 วัน มียอดสะสมทั้งประเทศอยู่ที่ 92,360,417 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 47,963,180 โดส คิดเป็น 66.6% ของประชากร เข็มสอง 41,053,644 โดส คิดเป็น 57% ของประชากร และเข็มสาม 3,343,593 โดส คิดเป็น 4.6% ของประชากร โดยในส่วนนี้ต้องติดตามต่อไปว่ายอด ณ วันที่ 5 ธ.ค. 2564 จะสามารถฉีดได้ครบ 100 ล้านโดสหรือไม่ จากก่อนหน้านี้ที่คาดว่าจะฉีดได้ในสิ้นเดือน พ.ย. แต่ก็ขยายเวลาออกมาถึงต้น ธ.ค.


ในส่วนของสูตรการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของไทยในปัจจุบันนั้นมีมากมาย ทั้งชนิดเดียวกัน สูตรไขว้ รวมถึงการฉีดกระตุ้น โดยทางกระทรวงสาธารณสุข สรุปไว้ดังนี้
1. การฉีดสูตรไขว้
- ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
- ซิโนแวค + ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 3-4 สัปดาห์
- ซิโนแวค + โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
- แอสตราเซเนกา + ไฟเซอร์ ระยะห่างระหว่างเข็ม 4-12 สัปดาห์
- แอสตราเซเนกา + โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
- ไฟเซอร์ + โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
- ซิโนฟาร์ม + โมเดอร์นา ระยะห่างระหว่างเข็ม 4 สัปดาห์
2. การฉีดวัคซีนจากบริษัทผู้ผลิตเดียวกัน
- ไฟเซอร์ + ไฟเซอร์ ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์ (ใช้ในเด็กอายุ 12-17 ปีได้)
- แอสตราเซเนกา + แอสตราเซเนกา ระยะห่าง 8-12 สัปดาห์
- ซิโนฟาร์ม + ซิโนฟาร์ม ระยะห่าง 3-4 สัปดาห์
- โมเดอร์นา + โมเดอร์นา ระยะห่าง 4 สัปดาห์



3. การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น (เข็ม 3)
- ซิโนแวค + ซิโนแวค + แอสตราเซเนกา ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- ซิโนแวค + ซิโนแวค + ไฟเซอร์ ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- ซิโนแวค + ซิโนแวค + โมเดอร์นา ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- ซิโนฟาร์ม + ซิโนฟาร์ม + แอสตราเซเนกา ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- ซิโนฟาร์ม + ซิโนฟาร์ม + ไฟเซอร์ ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป
- ซิโนฟาร์ม + ซิโนฟาร์ม + โมเดอร์นา ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป
- แอสตราเซเนกา + แอสตราเซเนกา + ไฟเซอร์ ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
- แอสตราเซเนกา + แอสตราเซเนกา + โมเดอร์นา ระยะห่างหลังฉีดเข็ม 2 ตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป
4. กรณีเคยติดเชื้อโควิด-19 และรักษาหายแล้ว
- แอสตราเซเนกา 1 เข็ม มีประวัติไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน
- แอสตราเซเนกา 1 เข็ม มีประวัติเคยฉีดวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม
- แอสตราเซเนกา 1 เข็ม มีประวัติฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแต่น้อยกว่า 2 สัปดาห์
- ไม่ต้องฉีดวัคซีน เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันสูงเพียงพอต่อการป้องกันโรค และมีประวัติเคยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มมากกว่า 2 สัปดาห์



ณ วันนี้ สูตรวัคซีนในไทยมีให้เลือกได้มากมายตามความสมัครใจ อยากได้สูตรไหนก็เลือกเองได้ ขณะที่วัคซีนทางเลือกจากฝั่งเอกชนอย่างโมเดอร์นา ก็ยังทยอยเข้ามาได้ไม่ครบจำนวนที่ประชาชนในประเทศสั่งจอง พรีออเดอร์รอจนลืม รอแล้วรอเล่าก็ยังไม่ถึงคิว จนหลายคนออกมาประกาศขายสิทธิ์โมเดอร์นา และก็ยังไม่รู้ว่าในอนาคตรัฐบาลจะมีการเยียวยาในส่วนนี้หรือไม่อย่างไร
อีกทั้งตอนนี้หลายประเทศยังพบโควิดสายพันธุ์โอไมครอน (Omicron) ประชาชนต่างตื่นตัว บางประเทศประกาศปิดประเทศไปแล้วก็มี ขณะที่ไทยเองก็ประกาศห้ามผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา 8 ประเทศเข้าไทย ประกอบไปด้วย บอตสวานา, เอสวาตินี, เลโซโท, มาลาวี, โมซัมบิก, นามิเบีย, แอฟริกาใต้ และซิมบับเว ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขแถลงยืนยันในช่วงหลายวันนี้ว่ายังไม่พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนในไทย ทางด้านอาจารย์แพทย์ส่วนหนึ่งออกมาระบุว่าโอไมครอนนั้นแพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา แต่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าอาการจะมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์เดลตาเพียงใด แต่ก็เน้นย้ำทิ้งท้ายให้ประชาชนไปฉีดวัคซีนให้มากที่สุด รวมถึงยังต้องปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขในการป้องกันตัวเองสูงสุดด้วย.
ผู้เขียน : กิณรีสีอังกาบ
กราฟิก : Varanya Phae-araya