นพ.ศุภกิจ ย้ำ ไทยยังไม่พบโอไมครอน ชี้ ATK ยังใช้ได้ สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาต่อตัวใดมีประสิทธิภาพลดลง ยัน RT-PCR ยังตรวจหาเชื้อเจอ ขออย่าตื่นตระหนกเรื่องความรุนแรง ยังอยู่ในช่วงรอข้อมูล
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 29 พ.ย. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนพ.บัลลังก์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกันแถลงข่าวกรณีสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย และโควิดสายพันธุ์โอไมครอน
โดย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การติดเชื้อของทั่วโลก ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา ส่วนสายพันธุ์ที่น่าสนใจ อย่างเช่น แลมดา และมิว นั้น ลดบทบาทลงไปแล้ว ขณะที่โอไมครอน ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ร่วมกับเครือข่าย ได้ตรวจรหัสพันธุกรรม ทั้งประเภทตรวจเบื้องต้น การตรวจเป็นส่วน และการตรวจทั้งตัว มาโดยตลอด ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่าจะยังไม่พบสถานการณ์การแพร่ระบาด แต่มีการเฝ้าระวัง
โดยข้อมูลตั้งแต่เปิดประเทศ 1 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตัวอย่างจากผู้ที่เดินทางเข้าไทย รวม 75 ตัวอย่าง จากประเทศต้นทาง กาตาร์ รัสเซีย ฝรั่งเศส จีน อเมริกา อังกฤษ และเกาะMauritius ตรวจเสร็จแล้ว 45 ตัวอย่าง ยังไม่พบ โอไมครอน แต่เป็นการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ส่วนอีก 30 ตัวอย่างกำลังอยู่ระหว่างการตรวจวิเคราะห์
นอกจากนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ยังตัวอย่างเพิ่มอีก 8 ตัวอย่าง จากโรงพยาบาลคู่สัญญา ปรากฏว่าทั้งหมดก็ยังไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา จึงขอสรุปว่า ประเทศไทยยังไม่พบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน
ส่วนเรื่อง RT-PCR ตรวจไม่พบสายพันธุ์โอไมครอน จนเป็นที่น่าวิตกไปทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย นั้น นพ.ศุภกิจ ได้ยืนยันชัดเจนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. 2564 ว่าแล็บใดก็ตาม หากตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ แล็บนั้นๆ จะต้องตรวจยีนมากกว่า 1 ยีน และต้องไม่พบทั้งคู่ หรือ ตรวจมากกว่า 1 ยีน เพราะทางกรมค่อนข้างรอบคอบ แต่หากมีการตรวจพบ ก็ต้องตรวจพบทุกตำแหน่ง ทุกยีน จึงจะสามารถยืนยันได้ ว่ามีผลเป็นลบ จึงทำให้เวลาเกิดการกลายพันธุ์ โอกาสที่เชื้อจะหลุดรอดไปจึงต่ำมากจนแทบไม่มี แต่หากตรวจแล้วยังสรุปไม่ได้ ก็ต้องไม่สรุปว่าใช่เชื้อโอไมครอนหรือไม่ เพื่อส่งตรวจในสถาบันอื่นๆ ต่อไป
...


นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงน้ำยาที่ใช้ตรวจในประเทศไทยว่า ปัจจุบัน มี 104 ยี่ห้อ พบ 2 ยี่ห้อ ที่อาจจะที่อาจจะฟลุกตรวจไม่เจอ แต่ถือว่ามีโอกาสน้อย ทางกรมจึงจะประสานไปยังผู้ขายและนำเข้าต่อไปว่ามีโอกาสที่จะพลาดมากน้อยเพียงใด เพราะเป็นรายละเอียดทางการค้า จึงขอสรุปว่า การตรวจแบบ RT-PCR ยังหา โอไมครอนเจอ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ทั้ง 15 แห่งทั่วประเทศมีการดำเนินการตรวจแบบ RT-PCR อยู่แล้ว นอกจากนี้ยังมีการตรวจแบบ Target sequencing เป็นการตรวจลึกไปในระดับพันธุกรรมต่างๆ จะใช้เวลา 3 วัน ส่วนการตรวจที่สมบูรณ์ที่สุดคือ Whole genome sequencing จะใช้เวลา 5-7 วัน แต่สามารถถอดรหัสได้ทุกตัว และยังส่งข้อมูลไปให้ จีเสส (GISAID) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทั่วโลกต่อไป

ทั้งนี้ ทางกรมฯ ยังพบข้อเท็จจริงที่เป็นประโยชน์ คือ โอไมครอน กลายพันธุ์เหมือน สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล (variant of concern) โดยเหมือนอัลฟา ที่ตำแหน่ง HV69-70deletion และเหมือนเบตา ที่ตำแหน่ง K417N ทางกรมจึงเอาคุณสมบัติที่หายไปทั้งคู่นี้ ว่าน่าจะเป็นโอไมครอน โดยที่ยังไม่ต้องทำการถอดรหัส Whole genome sequencing ซึ่งทุกศูนย์ในประเทศสามารถดำเนินการในเรื่องนี้ และกำลังประสานไปยังทุกศูนย์ทั่วประเทศให้ใช้การตรวจแบบนี้ เพื่อความรวดเร็วแบบไม่ต้องรอการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งตัว

ขณะเดียวกัน นพ.ศุภกิจ ยังยืนยันว่า การตรวจ ATK ยังสามารถตรวจหาเชื้อโควิดได้ แต่จะมีการศึกษาต่อระหว่างกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การอาหารและยา ว่ามี ATK ชนิดใดที่ โอไมครอน ทำให้ประสิทธิภาพการตรวจจับลดลง
ส่วนมาตรการที่จะสู้กับ โอไมครอน นพ.ศุภกิจ ระบุว่า
1.ยังเป็นการฉีดวัคซีนเพื่อให้ครอบคลุมมากที่สุด เพราะมีภูมิดีกว่าไม่มีภูมิ
2.ข้อมูลการติดเชื้อทั่วโลกมีน้อย เรื่องความรุนแรง การแพร่เชื้อและหลบภูมิ ยังต้องรอข้อมูล จึงขอให้ใจเย็นๆ อย่าตื่นตระหนกเกินกว่าเหตุ
3. การทำCovid Free setting หากทำครบถ้วน โอไมครอนก็จะไม่มีปัญหาในประเทศไทย
นอกจากนี้ ในประเทศไทยกำลังเปิดประเทศ ที่เดิมให้ตรวจ RT-PCR และจะหย่อนให้ใช้การตรวจแบบ ATK เพื่ออำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยวนั้น จะกลับมาให้ตรวจแบบ RT-PCR ทุกรายเช่นเดิม และหากพบการติดเชื้อก็จะตรวจรหัสพันธุกรรมเพิ่มว่ามีการโอไมครอนหลงเข้ามาหรือไม่อย่างไร
