"กมธ.ดีอีเอส" เชิญ "รมว.ดิจิทัลฯ" แจงแนวทาง "Cyber Security-Data Recovery" หน่วยงานรัฐ "กัลยา" ชี้รัฐสภาต้องเป็นตัวอย่างสร้างระบบที่แข็งแกร่ง "ชัยวุฒิ" ยันให้ความสำคัญพร้อมหนุนเต็มที่ ย้ำ สัญญาณอินเทอร์เน็ต ต้องทั่วถึงนำประเทศสู่ยุคดิจิทัล
เมื่อวันนี้ 25 พ.ย.64 ที่รัฐสภา น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมาธิการฯ โดยมีวาระสำคัญในการพิจารณานโยบายการสนับสนุน การจัดให้มีการให้บริการโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตให้ทั่วถึง และครอบคลุมทั้งประเทศ รวมถึงการพิจารณากำหนดแผนและนโยบายการจัดสรรงบประมาณ ในการจัดตั้งระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cyber Security) และ Data Recovery ของหน่วยงานภาครัฐ โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง
โดยที่ประชุมกรรมาธิการฯ พิจารณาถึงแนวทางการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลทางไซเบอร์ของรัฐสภา นอกจากมี รมว.ดีอีเอส แล้ว กรรมาธิการฯยังได้เชิญสำนักงบประมาณ และ นายบ็อบ ฟอกซ์ Digital Economy/ICT Committee, Chairperson. Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand ชี้แจงถึงการรับมือ และการยกระดับการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ให้ข้อมูล พร้อมเชิญ สำนักงานสารสนเทศ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงถึงการรับมือ ซึ่งสำนักงานฯ ยืนยันมีความพร้อมในการรับมือข้อมูลทางไซเบอร์ แต่ยังมีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาขีดความสามารถเพิ่มขึ้นอีก เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานฯก็ยังพบความพยายามจากผู้ไม่หวังดี โจมตีข้อมูลทางไซเบอร์ของสำนักงานฯหลายครั้ง
...
ขณะที่ น.ส.กัลยา เห็นว่า การรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และ Data Recovery เป็นประเด็นสำคัญที่หน่วยงานรัฐและหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะรัฐสภาจะต้องให้ความสำคัญ จะต้องทำเป็นตัวอย่าง เพราะหากมีการโจมตี เพื่อขโมยข้อมูลไปใช้ประโยชน์ ก็อาจจะกระทบต่อเศรษฐกิจข้อมูลประชาชน และความมั่นคงของประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสริมความแข็งแกร่งของระบบ ส่งเสริมทักษะให้แก่บุคลากร และสร้างการรับรู้ให้หน่วยงานต่างๆตระหนักถึงภัยดังกล่าว
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ยืนยันว่า กระทรวงดิจิทัลฯให้ความสำคัญต่อระบบ Cyber Security และพร้อมสนับสนุนรัฐสภาดำเนินการดังกล่าว เพื่อป้องกันการถูกโจมตีทางข้อมูลและยืนยันว่ากระทรวงดิจิทัลฯ ให้ความสำคัญกับการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เช่น การหลอกลวงโอนเงินผ่านบัญชีกลาง เพื่อปลายทางของมิจฉาชีพ หรือการชำระเงินออนไลน์ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎร อาจจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองประชาชน และส่งเสริมให้ประชาชนรู้ทันมิจฉาชีพ
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกรรมาธิการฯ แนะนำว่า การทำงานของหน่วยงานราชการ จะต้องให้ความสำคัญต่อการรับมือ และการป้องกันภัยทางไซเบอร์ เนื่องจากเป็นแหล่งรวมข้อมูลสำคัญของประเทศและประชาชน และสถานการณ์ขณะนี้มีแนวโน้มสถานการณ์และความเสี่ยงที่ได้บ่งชี้แล้วว่า Cyber Security ถือเป็นภัยคุกคามหลัก ที่มีแนวโน้มจะถูกการโจมตีได้เสมอ แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานราชการ จะสามารถรับมือได้หลายครั้ง แต่ในอนาคตก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะสามารถรับมือได้
น.ส.กัลยา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้กรรมาธิการฯมีความพยายามติดตาม และดูแลการพัฒนาเทคโนโลยี และลงพื้นที่หลายจังหวัดทุกภูมิภาค เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยี เพื่อยกระดับเศรษฐกิจให้ได้เทียบเท่าต่างประเทศ ซึ่งพบว่าหลายพื้นที่ในประเทศ ยังประสบปัญญาการพัฒนาโครงข่าย จึงมีความจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และนำประเทศเข้าสู่ยุคดิจิทัล เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ทั่วถึง
โดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลฯ ระบุว่า เทคโนโลยีสาธารณูปโภค เป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานที่มีความจำเป็น แต่ยอมรับว่ายังมีพื้นที่ห่างไกลที่ยังประสบปัญหาการเข้าถึงเทคโนโลยี แต่รัฐบาลก็พยายามดำเนินการแก้ไขและขยายสัญญาณไปยังพื้นที่ห่างไกล และตระหนักถึงความจำเป็นในการให้บริการเครือข่ายสัญญาณ Wi-Fi ฟรี ในพื้นที่ที่มีความจำเป็นหรือเป็นแหล่งชุมชน และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินการจัดการบริหารให้ประชาชนแล้ว โดยมั่นใจว่าท้องถิ่นหลายพื้นที่สามารถดำเนินการได้ เสมือนนโยบายสมาร์ทซิตี้ที่บางท้องถิ่นได้ดำเนินการไปแล้ว โดยยืนยันว่ากระทรวงฯจะช่วยประสาน และดำเนินการให้