"ธัญวัจน์" ส.ส.ก้าวไกล ชี้การแก้ปัญหาความรุนแรงต่อสตรี คือกุญแจสำคัญเปลี่ยนสังคม แนะนโยบายรัฐ-กฎหมาย ต้องเอื้อต่องาน-เปิดโอกาสสำคัญให้ผู้หญิง เพื่อปลดล็อกออกจากสังคมที่ไม่เป็นธรรม
เมื่อวันที่ 25 พ.ย.64 นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ (ครูธัญ) ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุผ่านเฟซบุ๊กว่า วันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Woman) เพื่อรำลึกถึงผู้หญิงชาวโดมินิกัน ถูกฆ่าด้วยสาเหตุทางการเมือง เพราะในสังคมนิยมชายนั้น มอบบทบาทภรรยาและแม่ให้กับผู้หญิง ที่ต้องรับผิดชอบปกป้องดูแลคนในครอบครัว เป็นงานที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเพียงคุณค่าทางสังคม ความเหลื่อมล้ำ และความรุนแรงต่อสตรี ก็เพราะพวกเธอต้องทำงานทั้งหลังบ้านและออกมาต่อสู้ในพื้นที่ ที่เธอจะต้องเอาชีวิตรอดในเศรษฐกิจทุนนิยม และพวกเธอก็ถูกฆ่าตายเพียงเพราะเธอต้องการที่จะบอกว่า สังคมนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้หญิง เพราะเมื่อผู้หญิงตัดสินใจจะทำอะไรนั้น มันไม่ใช่แค่เรื่องของเธอคนเดียว แต่มันเป็นเรื่องของประเทศชาติและโลกใบนี้ ที่พวกเธอต้องแบกรับ
นายธัญวัจน์ ระบุต่อว่า ส่วนการแก้ปัญหาความรุนแรงนั้น คือกุญแจสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงกับสังคมนี้ โดยนโยบายรัฐและกฎหมายต้องตอบสนองต่องานของผู้หญิง ให้มูลค่าทางเศรษฐกิจและเปิดโอกาสให้งานสำคัญกับผู้หญิง ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลมนุษย์สู่ทุกเพศสภาพ เพื่อปลดผู้หญิงออกจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม มีโอกาสก้าวเข้าสู่ความเสมอภาคกับผู้ชาย และเพื่อให้สังคมตอบสนองและรับรู้ถึงการดูแล มีหน้าที่รับผิดชอบต่อ "ความมั่นคงของมนุษย์" เป็นสำคัญ
นายธัญวัจน์ ระบุต่อว่า ดังนั้นข้อเสนอสำคัญของตน คือ การสร้างงาน 6 แสนตำแหน่งทั่วประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นงานดูแลเด็กเล็ก งานดูแลผู้สูงอายุ หรืองานสันทนาการในชุมชน รัฐต้องให้ความสำคัญกับงานดูแลมนุษย์และให้มูลค่าทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุผลว่า มีเพียงมนุษย์เท่านั้นที่จะดูแลซึ่งกันและกันได้ ไม่เป็นการผลักภาระให้งานดูแลมนุษย์ เป็นเพียงแค่ของผู้หญิงที่ได้คุณค่าในวัฒนธรรมเท่านั้น โดยเป้าหมายสำคัญ คือ สังคมที่มีความสุขและเศรษฐกิจดี และนี่คือความมั่นคงของมนุษย์พื้นฐาน ซึ่งงานดูแลมนุษย์เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์แทนไม่ได้
...
"ส่วนความรุนแรงต่อผู้หญิงนั้น เกิดจากคุณค่าของสังคมที่มองว่า ผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลังและไม่มีคุณค่าหรือโอกาสเท่ากับผู้ชายที่ฝั่งรากลึกในสังคม รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจที่ผู้หญิงไม่มีโอกาสมากพอ ที่ทำให้พวกเธอเหล่านั้น ต้องทนอยู่ในความรุนแรง ซึ่งอาจเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้เธอมีลมหายใจ" ธัญวัจน์ ระบุ