รอคอยมานานแสนนานในที่สุด “สภาผู้แทนราษฎร” ก็เห็นชอบรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. ... วาระแรกด้วยเสียงเป็นเอกฉันท์ 368 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง...เข้าสู่วาระ 2 พิจารณารายมาตราเรียบร้อย
นับจากนี้ไปคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ 25 คน แปรญัตติพิจารณาร่างกฎหมายที่มีการเสนอ 4 ร่างด้วยกัน คือ ร่างของกระทรวงยุติธรรม ร่างกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ร่างพรรคประชาชาติ ร่างพรรคประชาธิปัตย์ โดยใช้ร่างของคณะรัฐมนตรีเป็นร่างหลักในการพิจารณาครั้งนี้
ท่ามกลางหลายฝ่ายกังวลว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้อาจไม่สอดรับการป้องกันทรมาน-อุ้มหายได้ประสิทธิภาพ นำสู่วงเสวนา “กฎหมายป้องกันการอุ้มฆ่า ทำทารุณกรรม คุ้มครองประชาชนได้จริงหรือ?” จัดโดยสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล และคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ในวงเสวนาตอนหนึ่ง พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร เลขาธิการสถาบันเพื่อการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม บอกว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ควรประกาศออกใช้เป็นกฎหมายมาตั้งนานแล้ว แต่เพราะเจอปัญหาจาก “รัฐบาลหลายยุคสมัยไม่จริงใจออกมาคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพประชาชน” กลายเป็นอุปสรรคสำคัญจนถึงวันนี้
...
เป็นที่ทราบกันดีในช่วง 10 กว่าปีมานี้ “ประเทศไทย” ตกอยู่ในบรรยากาศที่ไม่เป็นประชาธิปไตยมาช้านาน แม้แต่ “รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแท้ๆ” ก็ไม่ค่อยสนใจสนับสนุนการมีกฎหมายฉบับนี้สังเกตได้จาก “เหตุการณ์ละเมิดสิทธิซ้อมทรมาน และอุ้มหาย” มักเกิดขึ้นบ่อยเป็นประจำอยู่ในสังคมไทยเสมอมา
กระทั่งไม่กี่สัปดาห์มานี้หลายฝ่ายต่างรู้สึกดีใจที่ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน-อุ้มหาย” ผ่านความเห็นชอบรับหลักเข้าสู่วาระแรกมีการเสนอ 4 ร่าง แต่จะน่ายินดีมากกว่านี้อีกหาก “ร่างของกรรมาธิการกฎหมายฯ” ถูกใช้เป็นหลักในการพิจารณาแล้วปรับแต่งเพิ่มเติมให้สมบูรณ์สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
แต่กลับหยิบยกนำ “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ครม. เสนอโดยกระทรวงยุติธรรมเป็นร่างหลัก” กลายเป็นเรื่องน่าเสียใจอย่างมาก เพราะเมื่อพิจารณาหลักการในร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ค่อนข้างไม่มีสาระสำคัญต่อการป้องกันอันเป็นนัยนำสู่การดำเนินคดีในสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วย้อนหลังได้ด้วยซ้ำ
หลังจากนี้ไปคงเป็น “ขั้นตอนแปรญัตติ” พิจารณาเนื้อหาหลักเกณฑ์ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ครม.ที่ถูกกำหนดทรงโครงสร้างไว้หมดแล้ว “การที่จะนำเนื้อหาข้อความดีๆจากร่างกฎหมายอีก 3 ฉบับ” เข้ามาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมนี้อาจทำได้ยากดั่ง “การสร้างบ้าน” เมื่อตั้งทรงแบบแปลนไว้ก็คงตกแต่งทำได้เล็กๆน้อยๆเท่านั้น
สิ่งนี้น่ากังวลหากสมมติว่า “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ครม.คงเดิมไม่แก้ไข ใดๆเลย” ผ่านเป็นกฎหมายจริงๆ ถ้าเป็นแบบนี้ “ไม่มีเสียดีกว่า” เพราะสาระสำคัญถูกตัดเกือบทั้งหมด ทั้งเรื่องอายุความ หรืออำนาจสอบสวนคดีต่อผู้กระทำการทรมานอุ้มหายนี้ควรเป็นหน้าที่พนักงานอัยการที่เป็นองค์กรนอกการควบคุมกำกับดูแลของรัฐบาล...“การทรมานหรือกระทำให้ผู้อื่นสูญหาย” จริงๆแล้วมักเกิดจากเจ้าพนักงานรัฐระดับล่างที่ “ไม่ใช่ทำตามลำพัง” แต่อ้างอยู่เสมอมาว่า “เป็นการกระทำอันมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงมีส่วนรู้เห็นด้วยกัน”
อีกทั้งแต่ละหน่วยงานก็อยู่ภายใต้การกำกับดูแลจาก “รัฐบาล” เป็นฝ่ายบริหารสูงสุดทั้งสิ้น
ในส่วน “เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ครม.” กลับให้อำนาจกรมสอบสวน คดีพิเศษ ภายใต้การกำกับดูแล “รมว.ยุติธรรม และรัฐบาล” เป็นผู้ทำหน้าที่สอบสวนคดีนี้ที่ประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมายการกระทำโดยภาครัฐคงเป็นเรื่องยาก ทั้งคณะกรรมการตรวจสอบยังเป็นผู้แทนจากหน่วยงานที่มีผู้ต้องสงสัยก่อเหตุทรมานอุ้มหายอีก...ทว่านิยาม “การทรมาน” ก็ไม่ปรากฏชัดเจน และคำว่า “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” บรรจุในรัฐธรรมนูญมานานกลับไม่ถูกรับรองเป็นความผิดอาญา เน้นกำหนดอัตราโทษฐานความผิดฐานการทรมาน หรืออุ้มหายโทษจำคุกตั้งแต่ 5-15 ปี หากผู้ถูกกระทำได้รับอันตรายสาหัส จะต้องรับโทษหนักขึ้นจำคุกตั้งแต่ 10-25 ปี
ปัญหาตกที่การพิสูจน์ความผิดต้องเป็นการกระทำร้ายแรง จึงจะเข้าความผิด ส่วนกรณีใช้ถุงคลุมหัวให้ตกใจกลัวก็คงเข้าข่ายทำร้ายร่างกาย หรือทำให้ตกใจกลัว ที่ไม่พอต่อการลงโทษผู้ประสงค์ทำการทรมานผู้อื่น ดังนั้นคำว่า “ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ต้องมาอยู่ในนิยาม “การทรมาน”...ให้มีความผิดโทษอาญาด้วย เพื่อป้องกันการกระทำการละเมิดต่อประชาชน ในการคุ้มครองทุกคนภายใต้การบังคับใช้กฎหมายนี้
เหตุนี้มองว่า “ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ครม.” ยังไม่ครอบคลุมต่อความผิดการทรมาน-อุ้มหายอยู่ 4-5 ประเด็นที่ต่างจาก “เนื้อหาในร่างของกรรมาธิการกฎหมายฯ” จึงไม่อาจยอมให้ผ่านไปได้ โดยเฉพาะกระบวนการสอบสวนดำเนินคดี ดังนั้นแม้มีการตราออกเป็นกฎหมายบังคับใช้ได้ผู้กระทำผิดก็อาจไม่กลัวเช่นเดิม
จริงๆแล้ว “การทารุณกรรม หรืออุ้มหายฆาตกรรมอำพราง” ล้วนเป็นการกระทำนอกกฎหมายมักกล่าวอ้างจาก “ความบกพร่อง ป.วิ.อาญา” พื้นฐานวิธีการสอบสวนคดีอาญาทั่วไป “ขาดการตรวจสอบ” กลายเป็น “ผู้ก่อเหตุเป็นกลุ่มสอบสวน” เช่นกรณี “ผู้กำกับโจ้” ที่เป็นทั้ง หน.พนักงานสอบสวน และผู้กระทำเองด้วย...สะท้อนให้เห็นว่า “ป.วิ.อาญา” ก็มีจุดอ่อนอยู่เดิมที่มีความพยายามแก้ไขปรับปรุงเกี่ยวกับกระบวนการสอบสวนด้วยการให้ “พนักงานอัยการ ฝ่ายปกครอง” เข้าไปรับรู้พยานหลักฐานตั้งแต่แรกเกิดเหตุด้วยซ้ำ
ตอกย้ำปัญหา “พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519” ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาคดียาเสพติดได้ 3 วันโดยไม่ต้องส่งพนักงานสอบสวน ในส่วนนี้มักเป็นช่องทางของการละเมิดสิทธิได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นซ้อมทรมานร่างกาย และจิตใจ สุดท้ายอาจนำไปสู่การสูญหายก็ได้
ต้องเข้าใจว่า “ผู้ถูกบังคับให้สูญหาย” ถ้าจับกุมตัวส่งพนักงานสอบสวนทันทีมักไม่มีเรื่องซ้อมทรมานการสูญหายได้ เช่นในสหรัฐอเมริกาทันทีที่จับกุมแล้วนับว่า “พระเจ้าคุ้มครองรับรองความปลอดภัย” แต่ว่า “ประเทศไทย” กลับต้องถูกนำตัวไป “เซฟเฮาส์บ้านผีสิง” ที่ควรพิจารณาเลิกการควบคุมตัว 3 วันแล้วด้วยซ้ำ
สิ่งสำคัญ “พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ” เจตนารมณ์ดั้งเดิมเป็นการปฏิบัติงาน ป.ป.ส.ผู้ทำหน้าที่ที่เป็นพลเรือนเป็นหลัก ในการจับกุมขยายผลผู้ค้ารายสำคัญแล้วต้องนำไปควบคุมตัวยังสำนักงาน ป.ป.ส.ที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับ “การซ้อมทรมาน” เพราะเป็นหน่วยกำลังไม่มีอาวุธ และมิใช่หน่วยถูกปลูกฝังแนวคิดการใช้กำลังด้วย
แต่พออำนาจตกมาอยู่กับ “ตำรวจ” ที่ถูกปลูกฝังการเรียนการสอนแบบทหาร ที่มีข่าวลือว่าก่อให้เกิดการปฏิบัติอันเป็นการละเมิดยาวไปจน “เช่าบ้าน” ไม่ใช่ที่ทำการของรัฐ เพราะ “ขาดการควบคุมตรวจสอบเป็นตามระเบียบกำหนดไว้” เมื่อจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดแล้วจำเป็นต้องรายงานต่อ ป.ป.ส.โดยทันที...ย้ำว่า “กฎหมายป้องกันการทรมาน และอุ้มหาย” ถ้าแก้ไขเล็กน้อยแล้วยึดหลักการตามข้อเสนอ ครม.แบบนี้ “คว่ำ พ.ร.บ.ดีกว่า” เพื่อรอรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยนำร่างมาพิจารณาใหม่ให้สมบูรณ์ครอบคลุมกว่านี้ เพราะมีประเด็นขาดหายไปที่ต้องผลักดันต่ออีกมากมาย
ถ้าหากปล่อยให้ “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันการทรมาน และอุ้มหาย” ผ่านออกไปแบบไม่ดีมักนำเป็นข้ออ้างว่า “มีกฎหมายแล้ว” ที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพการใช้นำไปสู่ความเดือดร้อนของประชาชนก็ได้
อย่างกรณี “คดีจอร์จ ฟลอยด์” ในสหรัฐฯ ถูกตำรวจผิวขาวใช้เข่ากดที่คอจนเสียชีวิตอันเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยแท้ไม่เล็งเห็นผลด้วยซ้ำ แต่เป็นการกระทำอันเกินเลย หรือเป็นเรื่องประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงความตายก็ได้ ทำให้ก่อให้เกิดการประท้วงใหญ่ จนสามารถยุติได้ด้วยการดำเนินคดีตำรวจลงโทษจำคุก 22 ปี
สะท้อนว่า “บ้านเมืองจะสงบได้ด้วยความยุติธรรม และการเคารพ กฎหมาย” ดังนั้นบุคคลใดคิดว่าทำให้บ้านเมืองสงบด้วย “วิธีอยุติธรรมหรือจำเป็นต้องใช้วิธีนอกกฎหมาย” ที่มีเบื้องหลังอันชั่วร้ายนี้เป็นความคิดผิดร้ายแรง ฝากว่า “เราต้องยืนหยัดบนพื้นฐานกฎหมาย” เป็นหลักแล้วบ้านเมืองจะสงบสุข
ถ้า “พ.ร.บ.ป้องกันทรมาน และอุ้มหาย” เขียนกฎเกณฑ์กำหนดไว้ไม่ครอบคลุมแล้วอาจเกิดการตีความกฎหมาย และมีวิธีการพัฒนาดิ้นเปลี่ยนแปลงกันต่อไปเรื่อยๆไม่มีวันสิ้นสุด.