ครม.ไฟเขียว แผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน หลังโควิด-19 พร้อมแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก
 
วันที่ 30 ส.ค. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนว่าด้วยเรื่องแผนฟื้นฟูฯดังกล่าว พร้อมอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ให้การรับรองผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูฯ และถ้อยแถลงข่าวร่วมรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน

สำหรับผลการศึกษาฉบับสุดท้ายของแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เป็นหนึ่งในผลลัพธ์สำคัญทางเศรษฐกิจในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2564 ของบรูไนดารุสซาลาม รวมทั้งเป็นแผนฟื้นฟูการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการฟื้นคืนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียน ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 และได้มีการพัฒนาสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวอาเซียนปี 2559-2564 และปฏิญญาพนมเปญมุ่งสู่การท่องเที่ยวอาเซียนที่ยั่งยืน ครอบคลุม และฟื้นตัวได้เร็ว โดยผลการศึกษาดังกล่าวประกอบด้วยข้อเสนอแนะและแนวปฏิบัติ 5 เสาหลัก ดังนี้

เสาหลักที่ 1 สนับสนุนธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยการฟื้นฟูและการปรับตัว เช่น สนับสนุนทางการเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจท่องเที่ยวในระยะสั้น การจัดฝึกอบรมและพัฒนาทักษะที่เหมาะสม เป็นต้น

เสาหลักที่ 2 ฟื้นฟูการเดินทางภายในภูมิภาคและระหว่างประเทศอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ เช่น ส่งเสริมภูมิภาคอาเซียนในวงกว้างเพื่อเปิดการเดินทางอีกครั้ง ส่งเสริมมาตรฐานและแนวปฏิบัติด้านสุขภาพและความปลอดภัยในภูมิภาคอาเซียน เป็นต้น  

...

เสาหลักที่ 3 สร้างความมั่นใจในการฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามหลักการของความยั่งยืนและมีความครอบคลุม เช่น สร้างมาตรฐานใหม่ที่มุ่งสู่ความสำเร็จของภาคการท่องเที่ยว โดยศึกษาพัฒนาตัวชี้วัดด้านการท่องเที่ยวอาเซียน และการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว วางรากฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนให้สอดคล้องกับมาตรฐานและแนวทางความยั่งยืนของอาเซียนด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่เดิม ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในแหล่งท่องเที่ยว เป็นต้น

เสาหลักที่ 4 นำเสนอรูปแบบใหม่ของการบริการด้านการท่องเที่ยวเพื่อขับเคลื่อนการแข่งขัน เช่น ส่งเสริมและพัฒนาสินค้าด้านการท่องเที่ยวของอาเซียน เพื่อตอบสนองแนวโน้มการท่องเที่ยวใหม่ๆ ผ่านกองทุนพิเศษสำหรับธุรกิจ Start-up การเสริมสร้างศักยภาพ และการสนับสนุนทางการตลาดสำหรับภาคธุรกิจ รวมทั้งการเปิดตัวโครงการส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ และแหล่งท่องเที่ยวที่ยังมีการเข้าถึงน้อย เป็นต้น 

เสาหลักที่ 5 สนับสนุนการฟื้นฟูด้านการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วในระยะยาว และการเตรียมความพร้อมในภาวะวิกฤติ เช่น จัดทำโครงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคการเดินทางและการท่องเที่ยว ผ่านการติดตามและสนับสนุนการจัดทำรายงานสรุปผลประจำปีของผลกระทบด้านการเดินทางและการท่องเที่ยวในอาเซียน และการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่คณะสื่อสารในภาวะวิกฤติการท่องเที่ยวอาเซียน รวมถึงยกระดับการใช้งานและความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการท่องเที่ยว ผ่านการใช้งานและจัดเก็บข้อมูลแบบ Big Data เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบ Machine Learning เป็นต้น.