(แฟ้มภาพ)
โฆษกรัฐบาล เผย “บิ๊กตู่” ห่วงสถานการณ์น้ำท่วม น้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม กำชับทุกส่วนราชการเตรียมพร้อมแผนเผชิญเหตุ พร้อมเข้าช่วยเหลืออพยพประชาชน-สัตว์เลี้ยงได้ทันที
วันที่ 28 ส.ค. 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สั่งการไปยังทุกส่วนราชการให้เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายคนและสัตว์ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมไปยังพื้นที่ปลอดภัย หลังกองอำนวยการน้ำแห่งชาติและกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 25-30 ส.ค. 2564
ทั้งนี้ ประกาศของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ฉบับที่ 8/2564 ได้ประกาศเตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก ดินถล่ม น้ำล้นอ่างเก็บน้ำ และน้ำล้นตลิ่ง บริเวณประเทศไทยตอนบน-ภาคใต้ฝั่งตะวันตก ในช่วงวันที่ 26 ส.ค.-3 ก.ย. 2564 จากร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง มีพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังน้ำหลาก ดินถล่ม
- ภาคเหนือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ และพิษณุโลก
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดเลย บึงกาฬ สกลนคร หนองคาย อำนาจเจริญ และอุดรธานี
- ภาคตะวันออก จังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี และตราด
- ภาคตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี
- ภาคใต้ จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา และภูเก็ต
นอกจากนี้ ระดับน้ำในลำน้ำมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นล้นตลิ่งและท่วมขังบริเวณที่ลุ่มต่ำ รวมทั้งเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน บริเวณ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงรายจนถึงอุบลราชธานี ซึ่งสอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พยากรณ์อากาศระหว่างวันที่ 26 ส.ค. 2564-1 ก.ย. 2564 ประเทศไทยจะมีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากได้
...
นายธนกร กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีกำชับให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมให้ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุ เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ และระบบสื่อสารสำรอง จัดชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่ออพยพประชาชนรวมถึงสัตว์เลี้ยงได้ทันทีหากเกิดสถานการณ์ ขณะเดียวกัน ขอให้ประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่ใกล้เคียงติดตามข่าวสารและปฏิบัติตามคำแนะนำของภาครัฐอย่างเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้ ประชาชนสามารถติดตามได้ตลอด 24 ชั่วโมงที่เว็บไซต์ สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยาสำนักพยากรณ์อากาศ และศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ ซึ่งจะมีการประชาสัมพันธ์และแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำและพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบให้ประชาชนได้ทราบล่วงหน้า.