นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ชี้ รัฐธรรมนูญ ปี 60 ใช้ข้อยกเว้น ม.272 เปิดทางนายกฯ ที่ไม่ได้มาตามระบบ ลั่น ใครที่ไม่เอา "นายกฯ พระราชทาน" ก็ต้องไม่ยอมรับข้อนี้ด้วย 

วันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีข้อถกเถียงเรื่อง "นายกฯพระราชทาน" ซึ่งเป็นข้อถกเถียงที่มีการพูดถึงในวงกว้างในขณะนี้ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า แสดงความเห็นดังกล่าวผ่านข้อเขียนเรื่อง การ "ติดตั้ง นายกฯ พระราชทาน ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560” โดยระบุว่า

เรื่อง “นายกรัฐมนตรีพระราชทาน” เป็นปมปัญหาของการเมืองไทยมาโดยตลอด เมื่อไรก็ตามที่มีวิกฤติ ไม่ว่าวิกฤตินั้นจะเกิดขึ้นเองหรือสมคบคิดสร้างขึ้นมา ก็จะมีกระแสเรียกร้อง "นายกรัฐมนตรีพระราชทาน" ทุกครั้งไป ซึ่งไม่สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย 

เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุต่ออีกว่า ในระยะหลัง เมื่อมีการทำรัฐธรรมนูญใหม่ทีไร ก็จะมีข้อเสนอให้เขียนรัฐธรรมนูญ เพื่อรับรองให้มี "นายกฯ คนกลาง" บ้าง "นายกฯ คนนอก" บ้าง ตอนใช้รัฐธรรมนูญ 40 ก็มีการเสนอให้ตีความมาตรา 7 เพื่อมี "นายกฯ พระราชทาน" ผ่าน "ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" ตอนทำรัฐธรรมนูญ 50 ก็มีข้อเสนอใน สสร. ตอนนั้นว่า ต้องมีมาตราที่เปิดทางให้มีองค์กรอรหันต์มาแก้วิกฤติการเมือง แต่เรื่องนี้ตกไป ต่อมาในช่วง กปปส. ชุมนุม ก็มีการอธิบายให้ระบบถึงทางตัน เพื่อนำไปสู่ "นายกฯ พระราชทาน" พอมารัฐธรรมนูญ 2560 คราวนี้ไปกันใหญ่ พวกเขาคงทราบดีว่า ในอนาคตถ้าหากต้องการเสนอ "นายกฯ พระราชทาน" กันอีก ก็จะถูกโต้แย้งเรื่องขัดรัฐธรรมนูญบ้าง ขัดหลักการบ้าง อย่ากระนั้นเลย พวกเขาจึงบรรจุเข้าไปในรัฐธรรมนูญเสียเลย ในมาตรา 272 วรรคสอง เปิดทางให้มีนายกรัฐมนตรีนอกบัญชีได้

นายปิยบุตร ระบุว่า “นี่คือ การติดตั้ง "นายกฯ พระราชทาน" เข้าไปในรัฐธรรมนูญ นี่คือ Constitutionalisation of Royal Prime Minister ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้? ถ้าเราลองอ่าน 272 วรรคสองดู ‘ในระหว่างเวลาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ไม่ว่าด้วยเหตุใด และสมาชิกของทั้งสองสภารวมกันจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภาเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาขอให้รัฐสภา มีมติยกเว้นเพื่อไม่ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 ในกรณีเช่นนั้น ให้ประธานรัฐสภา จัดให้มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยพลัน และในกรณีที่รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ให้ยกเว้นได้ ให้ดำเนินการตามวรรคหนึ่งต่อไป โดยจะเสนอชื่อผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ตามมาตรา 88 หรือไม่ก็ได้

...

“จะเห็นได้ว่า ต้องลงคะแนนกันถึงสามรอบ รอบแรก กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อเสนอเรื่อง รอบสอง 2 ใน 3 ของสองสภา เพื่อมีมติอนุญาตให้ยกเว้นการเลือกนายกฯ จากบัญชี รอบสาม กึ่งหนึ่งของสองสภา เพื่อมีมติเลือก "คนนอก" เป็นนายกรัฐมนตรี ลองคิดดูว่า จะมีปัจจัยใดที่ส่งผลบังคับให้ทั้ง ส.ส. ทั้ง ส.ว. สมัครสมานลงคะแนนไปในทิศทางเดียวกันที่มากขนาดนี้ถึงสามรอบ ดังนั้น ผมจึงยืนยันว่า นายกรัฐมนตรีที่มาจากช่องทางตามมาตรา 272 วรรคสอง ไม่ใช่นายกรัฐมนตรีตามระบบแน่ๆ ใครก็ตามที่ยืนยันว่า ไม่เอา "นายกฯ พระราชทาน" ก็ต้องยืนยันต่อไปด้วยว่า ไม่เอานายกฯ ตาม 272 วรรคสอง” ปิยบุตร ระบุ พร้อมร่วมติดแฮชแท็ก #ไม่เอานายกพระราชทาน