"สุขุมพันธุ์" ออกแถลงการณ์ เตือนพื้นที่ กทม. 7 เขตเสี่ยงน้ำท่วม คือ เขตสายไหม คลองสามวา บางเขน หนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง และคันนายาว ให้ยกของมีค่าขึ้นที่สูง และเตรียมแผนอพยพ ลั่นขีดเส้น 24 ชั่วโมง ประเมินสถานการณ์น้ำใกล้ชิด เล็งแถลงทุก 3 ชั่วโมง พร้อมวอนชาวกรุงเทพฯ อย่าตื่นตระหนก...
เมื่อวันที่ 19 ต.ค. ที่ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม กรุงเทพมหานคร (กทม.) ณ ศาลาว่าการกรุงเทพฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำรอบพื้นที่ กทม. ว่า เนื่องจากแนวคันกั้นน้ำที่บริเวณ คลอง 3 ,คลอง 4 ,คลอง 5 ,คลอง 6 ที่จังหวัดปทุมธานี ได้เกิดปัญหา ประกอบกับยังคงมีมวลน้ำจากทางด้านเหนือของ กทม. อยู่ หมายความว่า ช่วงเวลาต่อจากนี้ไป จะมีน้ำมากกว่า 1,200 ลบ.ม./วินาที ไหลไปยังทุ่งรังสิต ต่อไปจะไหลไปลงที่คลองรังสิต ซึ่งขีดความสามารถของทุ่งรังสิต ที่จะรับน้ำนั้นมีเพียง 400 ลบ.ม./วินาที ดังนั้นทาง กทม. จึงมีความห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่า สถานการณ์นี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา จะมีผลกระทบต่อแนวป้องกันน้ำท่วมของกรุงเทพฯ และอาจจะทำให้พื้นที่ของ กทม. บางส่วน เป็นพื้นที่เสี่ยง โดยพื้นที่เสี่ยงนี้ประกอบไปด้วย เขตสายไหม เขตคลองสามวา เขตบางเขน เขตหนองจอก เขตมีนบุรี เขตลาดกระบัง เขตคันนายาว รวมทั้งสิ้น 7 เขต จึงอยากให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแห่งนี้รับทราบถึงสภาพของปัญหา
...
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวต่อว่า ต่อจากนี้ไปอยากให้พี่น้องประชาชนทั้ง 7 เขตนี้ เตรียมตัวในเรื่องของการเอาสิ่งของมีค่า ปลั๊กไฟ ขึ้นที่สูงและศึกษาแผนอพยพของกรุงเทพฯ ขอให้ประชาชนถือว่า การแถลงครั้งนี้ เป็นการเตือนครั้งแรก ยังไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนัก ซึ่งทาง กทม. จะประชาสัมพันธ์ต่อเนื่อง โดยขอให้ประชาชนติดที่สามารถใช้งานอินเทอร์เน็ต สามารถเข้าไปติดตามข้อมูลได้ที่ www.bangkok.go.th และจะมีการแถลงข่าวทุก ๆ 3 ชั่วโมง จนกว่าปัญหาเหล่านี้จะสิ้นสุดลง
"จะมีการแถลงทุกๆ 3 ชั่วโมง แม้จะเป็นการเรียนให้ประชาชนทราบว่า สถานการณ์ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะที่สำคัญที่สุดในขณะนี้ คือ ประชาชนต้องรับทราบทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้น ขอให้ประชาชนในเขตปกครองทั้ง 7 เขต มีความมั่นใจว่า กทม.จะทำทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อป้องกันน้ำท่วม" ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าว
ขณะเดียวกัน ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าวต่อว่า หากเกิดเหตุสุดวิสัยจริงๆ ทางกรุงเทพฯ ได้จัดทำแผนอพยพ ซึ่งมีการยกร่างแล้วเสร็จ เป็นระยะเวลาหลายวันแล้ว และก็พร้อมที่จะนำมาปฏิบัติเมื่อมีความจำเป็น ถ้าหากถึงตอนนั้น ผมจะเป็นคนแรกที่จะมากราบเรียนให้ประชาชนทราบ อย่างไรก็ตามนี่ถือเป็นคำเตือนครั้งแรก เพราะสถานการณ์นั้นอาจจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทาง ที่สร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในกับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ กทม. ส่วนแผนอพยพนั้นจะให้ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นผู้ดำเนินการชี้แจงข้อมูลให้กับประชาชนต่อไป เนื่องจากแต่ละเขตก็มีสถานที่พักพิงที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ สถานการณ์นับจากนี้ไปอย่างน้อยยังมีเวลาอีก 24 ชั่วโมง ที่ทาง กทม.จะคอยประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะน้ำไม่ได้อยู่ใกล้พื้นที่ กทม.
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากปริมาณน้ำได้ไหลเข้า กทม.จะมีระดับอยู่ที่เท่าไหร่ ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าวว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ คือ น้ำเป็นสิ่งที่หยั่งได้ยากมาก ไม่รู้ว่าจะมีการไหลไปในทิศทางใด ดังนั้นขอประเมินในรายละเอียดก่อน เพราะไม่อยากประเมินอย่างรวดเร็ว แล้วไปแก้ไขทีหลัง
ต่อข้อถามที่ว่า พื้นที่ทั้ง 7 เขตนั้น หากประชาชนจะทำการอพยพ สามารถติดต่อที่สำนักงานเขตได้ทันทีหรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม.ตอบว่า ยังไม่จำเป็นต้องอพยพ แต่เมื่อมีความจำเป็นต้องอพยพ จะมีอีกหลายขั้นตอน โดยในช่วงแรกจะมีการเชิญผู้สูงอายุ ผู้พิการ เด็ก ออกจากพื้นที่ก่อน มันมีขั้นตอนในแผนการ ซึ่งมีการแนะนำ ถ้าสุดท้ายมันหนักจริงๆ ก็ต้องใช้วิธีการต่อไป คือ ต้องขนย้าย
ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แสดงว่าตอนนี้ยังไม่จำเป็นต้องอพยพออกมาใช่หรือไม่ ผู้ว่าฯ กทม. ตอบว่า ยังครับ อย่างน้อยต้องใช้เวลา 24 ชั่วโมง ประเมินก่อน เพราะ กทม. ไม่เหมือนหลายจังหวัดที่ถูกน้ำท่วมแบบกะทันหัน เนื่องจากตอนนี้ กทม. รู้ล่วงหน้า ว่าจะมีน้ำมาในปริมาณเท่าไหร่ จะไปลงที่ไหน ประกอบกับยังมีตัวแปรอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการน้ำจากทางรัฐบาล ที่ยังมีการประสานงานในจุดนั้น
ต่อข้อถามที่ว่าทาง กทม. ได้มีการประสานข้อมูลไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เกี่ยวกับพื้นที่เสี่ยงทั้ง 7 เขตหรือไม่นั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ กล่าวต่อว่า ข้อมูลส่วนหนึ่งก็ได้มาจาก ศปภ. เพราะในคณะทำงานมีตัวแทนของทาง กทม. เข้าร่วมทำงานอยู่ด้วย
หลังจากนั้นการแถลงข่าวเสร็จสิ้น ม.ร.ว.สุขุมพันธ์ุ ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่คลองหกวา ที่ได้มีการเสริมแนวป้องกันน้ำจากประชาชน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตลอดทั้งวันทั้งคืน เพื่อร่วมประชุมและคอยประเมินสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันยังคงเร่งขนกระสอบทรายมาทำแนวกั้นให้มีความหนาและสูงขึ้นให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้