ตอนที่มีการขุดคลองลัดเจ้าพระยาผ่าเมืองบางกอกเป็นสองซีก สมัยพระไชยราชา ไม่ได้ผ่าเข้าป่าดง แต่ผ่าเข้ากลางสวนผลไม้ เมื่อกระแสน้ำพุ่งเซาะคลองลัด กลายเป็นแม่น้ำใหญ่ ฝั่งซ้ายตะวันตก ก็ยังเป็นสวนผลไม้
ส่วนฝั่งขวาตะวันออก เป็นที่ลุ่มส่วนใหญ่ใช้ทำนา มีสำนวนพูดกันว่า ฝั่งซ้ายทำนา ฝั่งขวาทำสวน
แผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ โปรดให้ทหารฝรั่งเศสสร้างป้อมที่เมืองธนบุรี ชื่อเมืองเวลานั้นยังเรียกกันว่าธนบุรี จนเมื่อมีการแยกเอาฝั่งซ้ายเป็นพระนคร ฝั่งนี้เอาชื่อบางกอกไปใช้
ส่วนฝั่งขวาได้ชื่อเมืองธนบุรีไป ทั้งๆที่หลักฐาน ชื่อคลองบางกอกน้อย บางกอกใหญ่ ก็ยังเห็นตำตา
กาญจนาคพันธุ์ เขียนไว้ใน คอคิดขอเขียน ว่า ฝั่งซ้ายทำเลเป็นทุ่ง ทุ่งพระเมรุริมวังหลวงเคยทำนาอวดราชทูตญวน ทุ่งสามเสน ทุ่งพญาไท ทุ่งบางกะปิ ทุ่งมหาเมฆ ล้วนแต่เป็นทุ่งใหญ่ๆ เอาไว้ทำนา
ทุ่งฝั่งพระนคร เวลาหน้าน้ำ น้ำท่วมเหลิงเจิ้งไปหมด เป็นที่สนุกสำหรับไปพายเรือเล่น “สักระวา ฉันจะลาไปเที่ยวทุ่ง เก็บผักบุ้งสันตะวามาถวาย...”
ครึกครื้นกันมาแต่โบราณ
ส่วนฝั่งขวาธนบุรี ยกร่องเป็นสวนผลไม้ กระบวนการผลไม้ทั้งเมืองไทย ไม่มีที่ไหน มีมากและดีเท่า
บางต่างๆในฝั่งธนฯ ส่วนใหญ่เป็นบางผลไม้ เช่น ทุเรียนบางบน มีทุเรียนบางขุนนนท์ ทุเรียนบางผักหนาม ต่อมาก็มีทุเรียนบางล่าง เช่น ทุเรียนวัดทอง
เงาะบางยี่ขัน ส้มบางมด สับปะรดบางบำหรุ ฝรั่งบางเสาธง กระท้อนคลองอ้อมบางบัวทอง ลางสาดคลองสาน มะปรางท่าอิฐ อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโควัด ฯลฯ
ในสมัยรัชกาลที่ 2 กระท้อนบางบัวทองชนิดหนึ่ง มีชื่อนิ่มนวล รสดีเลิศกว่าที่อื่น พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรด ถึงกับยกอากรสวนกระท้อนนิ่มนวลให้ทั้งหมด
รัชกาลที่ 5 เงาะบางยี่ขันละรสดีนัก พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสวยแล้วโปรด ยกอากรให้แก่เจ้าของสวนเงาะ
ตามเวลาประมาณกว้างๆ ราว พ.ศ.2400 จนจะเข้า พ.ศ.2500 เงาะบางยี่ขัน หรือทุเรียนบางล่าง ยังมีชื่ออยู่
กาญจนาคพันธุ์ เขียนเรื่องนี้ เมื่อ พ.ศ.2497 เคยได้ยินคนเล่าให้ฟัง เสียงคนร้องขายขนม “อ้อยจีนบางใหญ่ อ้อยไทยบางโควัด ข้าวหลามตัดวัดระฆัง ขนมฝั่งกุฎีจีน แม่เอ๊ย”
ขนมดีที่แม่ค้าสมัยนั้นร้องขาย ที่เหลืออยู่ถึงวันนี้ มีเจ้าเดียวคือขนมฝรั่งกุฎีจีน
เมื่อพม่ายกทัพมาทีใด ก็มักหลงระเริงชิมผลไม้ อยู่แถวแม่กลองท่าจีน ธนบุรี เป็นแรมปี กว่าจะเข้าตีกรุงศรีอยุธยา
กรุงแตก ราษฎรอยุธยา รวมทั้งขุนนางใหญ่ ดูเหมือนจะอพยพหนีพม่า มาอยู่เมืองธนบุรี อยู่แถวนี้รับประกันได้ไม่อด
พระเจ้าตากสินรบชนะพม่า เหตุผลหนึ่งที่ทรงเลือกเอาเมืองธนบุรีเป็นเมืองหลวง ก็น่าจะเป็นเพราะเมืองธนบุรีเป็นเมืองมีผลไม้อุดมสมบูรณ์
ทั้งกรุงเทพฯ และธนบุรี เคยมีคูคลองมากมาย ฝรั่งยกให้เป็นเวนิสแห่งที่สอง
มาถึงวันนี้ บ้านเมืองพัฒนาทันสมัย คูคลองมากมายฝั่งกรุงเทพฯ ถูกถมทำถนน ฝั่งธนฯท้องร่องสวน ก็ถูกความเจริญรุกล้ำ เอาสวนเป็นเมือง
ชื่อบางที่ติดมากับผลไม้รสดี เงาะบางยี่ขัน ฝรั่งบางเสาธง สับปะรดบางบำหรุ ฯลฯ หายไป เหลือเค้าให้เด็กรุ่นหลังๆรู้อยู่บ้าง เช่น ส้มบางมด
ร่องรอยของกรุงเทพฯ ธนบุรี ฝั่งซ้ายทำนา ฝั่งขวาทำสวน ที่เคยถูกเรียกรวมกันว่าเมืองบางกอก...เหล่านี้ ถ้าย้อนอดีตเอากลับมาได้ น้ำท่วมใหญ่แค่ไหน เราคงไม่เดือดร้อนเท่าใดนัก
เผลอๆจะมีหลายคนเตรียมเรือรอน้ำมา จะได้ไปพายเรือเล่น สักระวา ฉันจะลาไปเที่ยวทุ่ง...สนุกสนานสำราญใจกันไปเสียอีก.
...
กิเลน ประลองเชิง