วันเสาร์สบายๆวันนี้ผมขออนุญาตเขียนถึง ยารักษาผู้ป่วยโควิด–19 ที่ชื่อ “ฟาวิพิราเวียร์” อีกสักวันนะครับ ผมเขียนจี้ กระทรวงสาธารณสุข ให้เร่งจัดซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ให้เพียงพอ เพื่อใช้รักษาผู้ป่วยโควิดแต่เนิ่นๆ แทนที่จะรอให้ป่วยหนักปอดอักเสบแล้วค่อยให้ยา เมื่อวันอังคารนี้ผมเขียนถึงข่าวดีที่ องค์การเภสัชกรรม สามารถผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ได้แล้ว และขอให้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา ถอนการขอสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบเม็ด รวมทั้งเรื่อง การแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรยา ผมยังเรียกร้องให้นายกฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศใช้ CL ยาฟาวิพิราเวียร์ วันนี้ทุกอย่างมีการเปลี่ยนแปลงแล้วครับ

วันเสาร์สบายๆวันนี้ ผมจึงขออนุญาตเรียนท่านผู้อ่านทีละเรื่อง

เรื่องแรก การใช้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” รักษาผู้ป่วยโควิด–19 วันพุธที่ 5 พ.ค. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯกทม. ได้เชิญคณะแพทย์จากหน่วยงานรัฐและเอกชนร่วมประชุม แนวทางการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์รักษาผู้ป่วยโควิด–19 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.อมร ลีลารัศมี นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย พล.อ.ต.นพ.สันติ ศรีเสริมโภค รองเลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมประชุมด้วย มีความเห็นร่วมกันว่า การให้ยาฟาวิพิราเวียร์แก่ผู้ป่วยเร็ว จะมีผลดีต่อผู้ป่วยมากกว่าการให้ยาช้า

ดังนั้น กทม. จะมีมาตรการเสริม จาก แนวทางปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข โดยคัดกรองผู้ป่วยตามอาการแบ่งเป็น สีเขียว เหลือง แดง โดย ผู้ป่วยสีเขียวบางส่วนจะได้รับการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ ตาม การประเมินของแพทย์ เช่น มีปริมาณไวรัสในร่างกายมากกว่าผู้อื่นและเสี่ยงต่อการลุกลามของโรค เชื่อว่า หากได้รับยารักษาต่อเนื่องระยะแรก 5–10 วัน จะช่วยไม่ให้กลายเป็น “ผู้ป่วยระดับสีเหลืองหรือแดง” ในอนาคต

...

การใช้ ยาฟาวิพิราเวียร์ รักษาวิธีนี้ จะเป็นไปตามการควบคุมของแพทย์ มีการใช้ยาอย่างสมเหตุผล มีระบบติดตามผลประเมินผล โดยมี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ร่วมให้คำแนะนำในการศึกษาติดตามและประเมินผลในครั้งนี้ด้วย หากพบว่าการรักษาเกิดประโยชน์ อาจนำไปเพิ่มเติมในคำแนะนำการดูแลรักษาระดับประเทศ ต่อไปในอนาคตได้

เรื่องที่สอง สิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์ เรื่องนี้ คุณวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แถลงเมื่อวันพุธที่ 5 พ.ค. เช่นเดียวกันว่า ได้มีคำสั่งปฏิเสธคำขอจดสิทธิบัตรยาฟาวิพิราเวียร์รูปแบบยาเม็ดแล้ว แต่ยังสามารถอุทธรณ์ได้ใน 60 วัน ทำให้ปัจจุบันไม่มีผู้ใดมีสิทธิผูกขาดในยาฟาวิพิราเวียร์ หาก องค์การเภสัชกรรม หรือ บริษัทยาสามัญไทยรายอื่น ประสงค์จะผลิตยาดังกล่าวเพื่อใช้ในประเทศก็สามารถดำเนินการได้

เรื่องนี้ถือเป็น ข่าวดีจริงๆ นอกจากจะ ผลิตใช้เองในประเทศให้เพียงพอได้แล้ว ยังส่งออกไปช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีประชากร 200 กว่าล้านคนได้อีกด้วย

คุณวุฒิไกร แถลงถึงประเด็น CL ที่ผมเขียนว่า ประเทศไทยไม่สามารถบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory License หรือ CL) เพื่อผลิตยาที่มีสิทธิบัตรขึ้นเองได้ เนื่องจากติดขัดที่กรมทรัพย์สินทางปัญญากำลังแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตร เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน การแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรที่มีการอ้างถึง ปัจจุบันเป็นเพียงร่างกฎหมายที่อยู่ภายในหน่วยงาน ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาด้วยความรอบคอบหลายขั้นตอนกว่าจะมีผลบังคับใช้ การใช้สิทธิ CL จึงยังเป็นอำนาจของกระทรวงทบวงกรมที่เกี่ยวข้องตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน

ทั้งหมดนี้เพื่อยืนยันว่า ไทยสามารถผลิตยา “ฟาวิพิราเวียร์” ได้อย่างเสรีแล้ว

จะได้เลิกอ้างยาไม่พอเสียที ยาฟาวิพิราเวียร์ 1.6 ล้านเม็ด ที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.แถลงว่า เก็บไว้ในคลังยา ควรจ่ายให้คนไข้ได้แล้ว อยู่ในคลังยาก็ไร้ประโยชน์ ยาต้องไปรอคนไข้ไม่ใช่รอให้คนไข้ป่วยหนักค่อยเบิกยา คิดสลับข้างกันได้แล้ว.

“ลม เปลี่ยนทิศ”