• กระแส ‘วัคซีนทางเลือก’ ถูกพูดถึงอย่างมากในโซเชียลมีเดีย ท่ามกลางข่าวที่ไม่แน่นอนว่าตกลงแล้วเอกชนสามารถสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงได้หรือไม่ ซึ่งคำตอบของเรื่องนี้คือ “ตอนนี้เอกชนไม่สามารถซื้อวัคซีนจากบริษัทเวชภัณฑ์โดยตรง  และรัฐบาลไทยส่งมอบอำนาจการซื้อวัคซีนให้กับองค์การเภสัช (อภ.) ที่มีสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เป็นตัวกลางระหว่างการส่งมอบวัคซีนจากรัฐไปยังเอกชน”
  • ในระยะเวลากว่า 1 ปี รัฐบาลไทยซื้อวัคซีนได้เพียง 63 ล้านโดส จากวัคซีน 2 ยี่ห้อเท่านั้น จำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอต่อประชาชน เมื่อการระบาดระลอก 3 เริ่มต้นขึ้น รัฐบาลจึงจำเป็นต้องเริ่มเจรจากับบริษัทผลิตวัคซีนหลายแห่งอีกครั้ง
  • ในสถานการณ์การระบาดหนักทั่วโลก บริษัทเวชภัณฑ์ส่วนใหญ่จำเป็นต้องจำหน่ายวัคซีนให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศ เพื่อให้รัฐบาลกระจายวัคซีนที่ซื้อไปอย่างทั่วถึงทุกภาคส่วน

เวลานี้ องค์การอาหารและยา (อย.) อนุมัติวัคซีนโควิด-19 ไปแล้ว 3 ยี่ห้อ ได้แก่ ซิโนแวค (Sinovac) แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) และ จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson)

ส่วนวัคซีนที่กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการประเมินขอขึ้นทะเบียน คือ โมเดอร์นา (Moderna) ที่คาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ส่วนวัคซีนที่กำลังยื่นเอกสารประเมินคำขอขึ้นทะเบียนในลำดับถัดมา คือ โควาซิน (Covaxin) และสปุตนิก วี (Sputnik V)

คำถามตามมาของการขึ้นทะเบียนวัคซีนหลายยี่ห้อ คือ คนไทยมีสิทธิเลือกฉีดวัคซีนอื่นนอกเหนือจากวัคซีนที่รัฐบาลสั่งซื้ออย่าง ซิโนแวค และแอสตราเซเนกา หรือไม่

กรณีที่สามารถเลือกได้ตามความพึงพอใจหรือดุลพินิจของแพทย์ โอกาสที่ว่านั้นจะมาถึงในเร็ววันหรือเปล่า และตกลงแล้วปัญหาเรื่องวัคซีนไทยควรแก้ตรงจุดไหนมากที่สุด ไทยรัฐออนไลน์ได้รวบรวมความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็น ‘วัคซีนทางเลือก’ และการดำเนินงานของภาครัฐและเอกชนไว้ ดังนี้

...


จุดเริ่มต้นของการพูดถึง ‘วัคซีนทางเลือก’ ของรัฐบาล

อย่างที่ทราบ รัฐบาลตกลงซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกา 61 ล้านโดส และซื้อซิโนแวค 2 ล้านโดส รวม 63 ล้านโดส เวลานี้สามารถฉีดให้คนไทยได้ประมาณ 31.5 ล้านคน ด้วยตัวเลขที่ยังน้อยอยู่ โรงพยาบาลเอกชนจึงเสนอรัฐบาลว่า วัคซีนที่จะนำมาให้บริการประชาชนเพิ่มจากเดิม ควรเป็นวัคซีนทางเลือกนอกเหนือจาก 2 บริษัทดังกล่าว

ย้อนกลับไปวันที่ 9 เมษายน 2564 ประเทศไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 549 ราย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่งตั้ง นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการเพื่อเป็นคณะทำงานจัดหาวัคซีน ทำงานร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงร่วมหารือเรื่อง ‘วัคซีนทางเลือก’ ทว่าเวลานั้นรัฐบาลยังไม่สามารถแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโดยเอกชนแต่อย่างใด

พลเอกประยุทธ์ แถลงหลังการประชุมว่า ได้เชิญโรงพยาบาลเอกชนมาหารือด้วย หลักการสำคัญคือทำอย่างไรถึงจะมีวัคซีนเพิ่ม คำตอบที่ได้คือจำเป็นต้องแก้ไขกฎเกณฑ์ของ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เพื่อเปิดรับวัคซีนทางเลือก เนื่องจากตอนนี้มีวัคซีนแค่ที่รัฐบาลนำเข้า และต้องไปหาคำตอบว่าจะนำวัคซีนอื่นๆ เข้ามาอย่างไร

การกล่าวถึงวัคซีนทางเลือกของรัฐบาล ส่งผลให้ประชาชนจำนวนไม่น้อยให้ความสนใจกับความเคลื่อนไหวนี้ และอาจเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าโรงพยาบาลเอกชนสามารถซื้อวัคซีนโดยตรงจากผู้ผลิตได้ โดยไม่ต้องผ่านรัฐบาล


การตอบคำถามต่อข้อสงสัยเรื่อง ‘วัคซีนทางเลือก’

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน หนึ่งในคณะทำงานจัดหาวัคซีน เคยให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐออนไลน์เมื่อวันที่ 14 เมษายน ว่า “ขณะนี้ตลาดวัคซีนเป็นของผู้ขาย เพราะมีความต้องการในโลกสูงมาก คณะทำงานจะต้องเร่งสรุปและเจรจา ไม่เช่นนั้นจะทำให้การฉีดวัคซีนในไทยช้าลงอีก ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคตที่จะฟื้นตัวได้ช้า”

นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนระบุถึงสาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนโดยตรงจากบริษัทผู้ผลิตไม่ได้ เพราะการใช้วัคซีนของโลกยังอยู่ในเฟส 3 เป็นช่วงโรคระบาดที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน จึงต้องมีเอกสารแสดงเจตจำนง (letter of intent: LOI) จากหน่วยงานรัฐบาลของผู้ต้องการซื้อวัคซีน ขณะนี้หน่วยงานที่สามารถออกเอกสารในนามรัฐบาลไทยได้คือ อภ. เพื่อนำมาขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ส่วนเอกชนผู้ผลิตวัคซีนรายใดที่มีใบอนุญาตขายเวชภัณฑ์อยู่แล้ว เช่น จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน ก็สามารถส่งขึ้นทะเบียนกับ อย. ได้

ขณะเดียวกัน โซเชียลมีเดียทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ เกิดความสับสนถึงการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของภาคเอกชน เนื่องจากมีโรงพยาบาลบางแห่งเปิดให้ประชาชนผู้สนใจฉีดวัคซีนลงทะเบียน ท่ามกลางคำยืนยันของเจ้าหน้าที่รัฐและแพทย์ในคณะทำงานจัดหาวัคซีนที่ระบุว่า ภาคเอกชนที่ไม่ใช่ ‘บริษัทนำเข้าวัคซีน’ ยังไม่สามารถสั่งซื้อวัคซีนโดยตรงได้

วันที่ 3 พฤษภาคม 2564 รายการ ‘โหนกระแส’ เชิญ นายแพทย์โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พูดคุยในประเด็นโควิด-19 กับวัคซีนป้องกันไวรัส

นายแพทย์โสภณ มีคำตอบเรื่องวัคซีนทางเลือกไปในทางเดียวกับนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน โดยระบุว่า เอกชนสามารถจัดหาวัคซีนได้ รัฐไม่ได้ห้าม แต่มีข้อแม้ว่าเอกชนรายนั้นต้องเป็น ‘ผู้นำเข้าวัคซีน’ อยู่แล้ว ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้มีหน้าที่นำเข้าวัคซีนตั้งแต่แรก แต่จดทะเบียนเป็นโรงพยาบาล จึงไม่สามารถทำได้ โดยเงื่อนไขนี้เป็นเงื่อนไขสากล ไม่ใช่เงื่อนไขที่เพิ่งตั้งขึ้นมา

ถ้าวัคซีนยี่ห้อใดไม่มีผู้แทนภายในประเทศ บริษัทผู้นำเข้าวัคซีนที่ต้องการนำเข้าวัคซีนยี่ห้อใดก็ตาม จะต้องทำเรื่องขอเป็น ‘ผู้แทนแบบเป็นทางการ’ (authorized representative) นำเอกสารจากบริษัทวัคซีนมายื่นขึ้นทะเบียน อย. โดยกระบวนการอนุมัติจะใช้เวลาประมาณ 30 วัน เร็วขึ้นจากปกติที่ต้องทำเรื่อง 180 วัน แต่เวลานี้บริษัทวัคซีนเวลานี้ไม่ประสงค์ขายให้เอกชน

นายแพทย์นคร กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดโรคระบาด บริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลายเจ้าจะไม่ขายวัคซีนให้เอกชนโดยตรง แต่ขายให้ภาครัฐก่อน เนื่องจากภาครัฐสามารถกระจายวัคซีนได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ไม่ใช่การจัดหาแบบใครมีเงินได้ฉีดก่อน ไม่มีเงินไม่ได้ฉีด ซึ่งบริษัทวัคซีน 4 แห่ง ที่เจรจากับไทยทั้ง ไฟเซอร์, โมเดอร์นา, จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน และแอสตราเซเนกา ก็ใช้นโยบายดังกล่าวเช่นกัน

หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสเริ่มดีขึ้น บริษัทวัคซีนเล็งเห็นว่าประชาชนในประเทศได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงแล้ว การตกลงขายแก่ภาคเอกชน นับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สามารถทำได้และจะต้องคุยกันอีกที

ด้านนายแพทย์โสภณ เสริมข้อมูลเพิ่มเติมว่า เวลานี้ไทยมีวัคซีน 3 แบบ คือ วัคซีนภาครัฐ, วัคซีนทางเลือก ซึ่งเป็นวัคซีนที่ผู้นำเข้าวัคซีนซื้อเพื่อจำหน่ายแก่โรงพยาบาลเอกชน โดยมีการเก็บค่าใช้จ่าย และวัคซีนที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชน อาทิ การหารือร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับหอการค้า


ความคืบหน้าเรื่องการขึ้นทะเบียนวัคซีนจากคำบอกเล่าของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

วันที่ 3 พฤษภาคมที่ผ่านมา อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับสื่อมวลชนหลังหารือกับตัวแทนบริษัทนำเข้าวัคซีนโมเดอร์นาว่า

“จากการหารือมีความเข้าใจกันอย่างดี กระทรวงฯ พร้อมสนับสนุนการขึ้นทะเบียนของโมเดอร์นา ผู้ผลิตต้องส่งเอกสารมายังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อรับการพิจารณา สิ่งสำคัญคือเขาบอกว่าโมเดอร์นาต้องขายผ่านรัฐบาล หรือหน่วยงานภายใต้การกำกับของรัฐบาลเท่านั้น ง่ายๆ คือไม่ขายให้เอกชนโดยตรง จะต้องขายผ่านรัฐบาล”

ขณะนี้ อย. กำลังอยู่ในขั้นตอนพิจารณาคำขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของหลายบริษัท อาทิ วัคซีนโมเดอร์นา ที่มีบริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด (Zuellig Pharma) เป็นตัวแทนจำหน่าย คาดว่าการขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโมเดอร์นาจะลุล่วงในเดือนพฤษภาคม ก่อนถูกส่งต่อให้กับเอกชนผ่านการจัดซื้อของ อภ. โดยสมาคมโรงพยาบาลเอกชนจะเป็นตัวกลางระหว่างการส่งมอบจากรัฐไปยังเอกชน เพราะ อภ. ต้องการยอดยืนยันการสั่งซื้อจากภาคเอกชน เนื่องจาก อภ. ไม่สามารถตุนวัคซีนเพื่อรอให้เอกชนมาซื้อต่อได้อีกทอดหนึ่ง

อนุทินระบุว่า กลุ่มเป้าหมายที่แพทย์และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสาธารณสุขจะฉีดวัคซีนโมเดอร์นา คือ ผู้ที่มีอายุ 18-60 ปี ส่วนไฟเซอร์ครอบคลุมผู้มีอายุ 12-18 ปี กลุ่มเป้าหมายนี้มีความจำเป็นได้รับการพิจารณาฉีดวัคซีนก่อน และถ้าไฟเซอร์ส่งวัคซีนมามากพอ ก็จะพิจารณาให้กับกลุ่มอื่นได้ด้วย

ส่วนกลุ่มที่ต้องให้ความสำคัญเรื่องระยะห่างระหว่างการรับโดสแรกและโดสที่สอง อาทิ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่หน้าด่านที่อายุต่ำกว่า 60 ปี จะได้รับวัคซีนซิโนแวคที่มีคุณสมบัติเด่นเรื่องระยะเวลา ส่วนแอสตราเซเนกาเหมาะแก่ผู้มีอายุ 18 ปี จนถึงผู้สูงอายุ ขณะที่เวลานี้วัคซีนยังมีจำนวนจำกัด รัฐบาลจะขอให้คนที่อายุไม่มากฉีดซิโนแวคก่อน

“แต่ถ้าวันที่มีวัคซีนเข้ามาจำนวนมากแล้ว อยากทำอะไรก็พยายามอำนวยความสะดวกให้ แต่ ณ วันนี้ ไฟเซอร์ก็ยังไม่เข้ามา เดือนหน้าก็มีแต่แอสตราเซเนกากับซิโนแวค ก็ต้องดูตามสถานการณ์ ดูตามความเหมาะสม

“ตอนนี้วัคซีนที่ใช้ทั่วโลกอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉิน ผู้ผลิตที่ขึ้นทะเบียนก็ออกตัวว่านี่เป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่สามารถเรียกร้องการชดใช้อะไรได้ เพราะฉะนั้น ผู้นำวัคซีนไปใช้ต่างรับสภาพอยู่แล้วว่า นี่คือสถานการณ์ฉุกเฉิน การสั่งผ่าน อภ. ทาง อภ. จะมีบันทึกข้อตกลงไว้ว่า อภ. เป็นผู้นำเข้าเท่านั้น

“หากการนำไปใช้เกิดผลข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ อภ. ไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบ เอกชนนำไปใช้ต้องแจ้งต่อผู้มารับการฉีดวัคซีนให้ทราบ ในส่วนของภาครัฐจะมีมาตรา 41 ของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดูแลอยู่ แต่ไม่รู้ว่าครอบคลุมถึงเอกชนหรือไม่ แต่เอกชนต้องมีมาตรการดูแลตรงนี้ด้วย” อนุทินระบุ

กรณีที่คนตั้งคำถามต่อรัฐบาล ว่าทำไมถึงไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกยี่ห้อวัคซีน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า “เราไม่ได้สั่งวัคซีนทุกชนิดเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ตอนไม่มีก็ถามว่าทำไมไม่มีวัคซีน พอมีแล้วทำไมถึงไม่มียี่ห้อนี้ เพราะฉะนั้น เมื่อมีความต้องการหลากหลายรัฐก็ต้องเป็นผู้กำหนด”

อย่างไรก็ตาม หนึ่งสิ่งที่หน่วยงานเอกชนมีความกังวล และต้องการคำตอบที่แน่ชัดจากรัฐ คือมาตรการคุ้มครองความปลอดภัยหรือการชดเชยที่เหมาะสม กรณีเกิดอาการแพ้วัคซีน ทางสมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ออกแบบการประกันความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) โดยเบี้ยกรมธรรม์ต่างๆ จะรวมอยู่ในค่าวัคซีน ครอบคลุมทั้งค่ารักษาพยาบาล รวมถึงกรณีเสียชีวิต

วันที่ 4 พฤษภาคม โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง อาทิ โรงพยาบาลกรุงเทพ และโรงพยาบาลเมดพาร์ค ได้ออกมาชี้แจงประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสังคมว่า โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเริ่มเปิดให้ประชาชนจองวัคซีนที่ตนประสงค์จะฉีด ทางโรงพยาบาลกรุงเทพระบุว่า ไม่เป็นความจริง เนื่องจากโรงพยาบาลยังไม่ได้ทำการสั่งซื้อหรือจองวัคซีนทางเลือกไม่ว่ายี่ห้อใดก็ตาม จึงไม่สามารถเปิดให้ทำการจองได้ ส่วนโรงพยาบาลเมดพาร์คระบุว่า เพียงแค่ให้ความช่วยเหลือรัฐบาลในการกระจายวัคซีนจากการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘หมอพร้อม’ เท่านั้น


เมื่อเอกชนซื้อโดยตรงไม่ได้ ทำไมถึงมีข่าวลือว่าไฟเซอร์เข้ามาในไทยแล้ว?

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนไทยจำนวนมากมีความคิดเห็นว่า วัคซีนไฟเซอร์คือวัคซีนที่น่าไว้วางใจมากที่สุดในตอนนี้ โดยวัดจากการฉีดในหลายประเทศทั่วโลก และวัดจากอัตราการเกิดผลข้างเคียงระดับต่ำ ตามมาด้วยโมเดอร์นาที่ถูกพูดถึงมาก หลายคนจึงตัดสินใจรอให้รัฐบาลไทยเจรจาสั่งซื้อวัคซีนดังหลายยี่ห้อเข้ามาในประเทศ หรือรอให้รัฐบาลอนุญาตให้ฉีดวัคซีนอื่นนอกจากซิโนแวคและแอสตราเซเนกา

ระหว่างติดตามผลการซื้อ-ขาย วัคซีนไฟเซอร์ วันที่ 4 พฤษภาคม ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในชื่อ โทนี่ วูดซัม (Tony Woodsome) ตั้งคำถามว่าผ่านคลับเฮาส์ว่า ทำไมถึงไม่เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอเป็นอันดับแรก

“เราต้องรอให้สยามไบโอไซเอนซ์เสร็จก่อนหรือ เอาจากที่อื่นก่อนได้ไหม ตอนนี้มันเร่งด่วน ต้องเร่งด่วนจริงๆ ประเทศไหนมีเหลือ ไปขอเจรจาแบ่งซื้อได้ไหม แลกเปลี่ยนได้ไหม เอาของเข้ามาก่อน ไฟเซอร์สิงคโปร์เหลือไหม อิสราเอลเหลือไหม ไปคุยสิครับ”

ทักษิณมองว่า รัฐบาลไทยต้องเข้าสู่ภาวะไล่หาวัคซีนจากทั่วโลก และขอให้รัฐบาลเปิดกว้างให้ทุกฝ่ายจัดหาวัคซีนได้อย่างเสรี ไม่ใช่รวบอำนาจการจัดหาไว้ที่รัฐบาลอย่างเดียว ก่อนทิ้งท้ายประเด็นวัคซีนทางเลือกว่า “วัคซีนไฟเซอร์ได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ไม่รู้ว่าเข้ามาเท่าไร คาดว่าคงไม่มาก และนำมาใช้แค่ไม่กี่คน” โดยอ้างอิงจากข้อมูลของ The New York Times ซึ่งมีแผนผังแสดงว่าวัคซีนของบริษัทไฟเซอร์ถูกส่งไปยังพื้นที่ใดในโลกบ้าง

5 พฤษภาคม 2564 นายแพทย์ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ชี้แจงถึงการแชร์ข้อมูลตามที่ทักษิณกล่าวไว้ในคืนก่อนหน้าว่า ยังไม่มีการนำวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาใช้ในประเทศไทย

บริษัทไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จะต้องยื่นเป็นผู้ขอรับอนุญาตนำเข้า ก่อนทำเรื่องขออนุมัติยื่นขึ้นทะเบียน เมื่อได้รับทะเบียนแล้วก็จะต้องให้ผู้ได้รับอนุญาตทำเรื่องขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำเข้าอีกครั้ง เวลานี้บริษัทไฟเซอร์ยังอยู่ระหว่างเจรจา และจะยื่นขึ้นทะเบียนเร็วๆ นี้ และทางบริษัทมีนโยบายขายวัคซีนให้กับภาครัฐเท่านั้น

ส่วนกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูล ระบุถึงพื้นที่ที่อนุญาตให้ใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉิน นายแพทย์ไพศาลชี้แจงว่า “จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกับบริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าวไม่ใช่เว็บไซต์ของบริษัท เป็นเพียงเว็บไซต์ของสำนักข่าวต่างประเทศแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าทางบริษัทจะมีการแถลงข่าวชี้แจงอีกครั้ง”

วันที่ 6 พฤษภาคม ไฟเซอร์ชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า

“ตามที่ได้มีข้อความปรากฏเกี่ยวกับโควิด-19 ของไฟเซอร์ไบโอเอนเทคในประเทศไทยจากหลายแหล่งข่าวและสื่อออนไลน์หลายแห่ง บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ขอเรียนชี้แจงเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและการดำเนินงาน รวมถึงจุดยืนบริษัท ดังนี้

1. ไฟเซอร์มุ่งมั่นและยืนยันจะร่วมมือกับรัฐบาลในประเทศต่างๆ เพื่อให้คนทั่วโลกรวมถึงประชาชนชาวไทยได้สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของเราได้อย่างเท่าเทียม

2. ในภาวะของการระบาด ณ ขณะนี้ ไฟเซอร์จำเป็นต้องมุ่งจัดลำดับความสำคัญ โดยมุ่งเน้นการส่งมอบวัคซีนผ่านหน่วยงานรัฐบาลแห่งชาติเท่านั้น

3. ในขณะนี้ ไฟเซอร์อยู่ระหว่างการทำงาน และหารืออย่างต่อเนื่องกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนชาวไทย

4. เราขอรับรองว่าไฟเซอร์-ไบโอเอนเทค ไม่มีนโยบายจำหน่ายวัคซีนโควิด-19 ผ่านตัวแทนหรือตัวกลางใดๆ ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันไม่ไม่เคยมีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ผ่านสำนักงานในประเทศไทยแต่อย่างใด”

การถกเถียงและเฝ้ารอวัคซีนทางเลือก ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมไทย สิ่งที่ควรกังวลและถูกวิพากษ์วิจารณ์อาจไม่ใช่ประเด็นเรื่องเอกชนสามารถซื้อวัคซีนด้วยตัวเองได้หรือไม่ เพราะในสถานการณ์การระบาดหนักทั่วโลก บริษัทเวชภัณฑ์จำนวนมากจำเป็นต้องจำหน่ายวัคซีนให้กับรัฐบาลแต่ละประเทศ

หรือประเด็นที่ควรตระหนักและวิจารณ์ควรเป็นเรื่องเวลา ผ่านไปหนึ่งปี รัฐบาลกลับซื้อวัคซีนได้เพียง 63 ล้านโดสเท่านั้น และจำนวนดังกล่าวไม่เพียงพอต่อประชาชน

หากรัฐบาลทราบถึงข้อกำหนดของบริษัทเวชภัณฑ์ที่ตอนนี้จะขายให้แก่รัฐเท่านั้น รัฐควรเร่งการจัดซื้อให้รวดเร็วกว่านี้หรือไม่ เพื่อส่งมอบวัคซีนต่อไปยังภาคเอกชน ให้เพียงพอต่อความต้องการของคนในประเทศ เพื่อไม่ให้ตัวเลขการสูญเสียและจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงไปมากกว่านี้