คณะอนุ กก.ป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ เผย ผลงาน “ป.ป.ท.-ศอตช.” ลงพื้นที่ 144 ครั้ง 52 จังหวัด เน้นให้คำแนะนำ เสริมจรรยาบรรณ ลดกระทำผิดในโครงการงบฯ 4 แสนล้าน เพื่อแก้ปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคม รับผลกระทบจากโควิด-19
วันที่ 23 มี.ค. รองศาสตราจารย์ (รศ.) ดร.จุรี วิจิตวาทการ ประธานคณะอนุกรรมการการป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้มีการสร้างกลไกเฝ้าระวังการจ่ายงบประมาณ ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา ฟื้นฟู เศรษฐกิจและสังคมที่ได้ผลกระทบจากโควิด-19 จำนวน 400,000 ล้านบาท ทางคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ได้สร้างกลไกในการดำเนินงาน 2 ส่วนคือ 1. ภาพรวมของการป้องกันการทุจริต ตั้งแต่การเฝ้าระวัง แจ้งเบาะแส เพื่อเป็นการป้องกันและลดโอกาสการทุจริต 2. ด้านปราบปราม มีกระบวนการตรวจสอบและดำเนินงานตามมาตรการปกครองและวินัย
...
ทั้งนี้ ในส่วนของการป้องกันฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)โดยสำนักงานป.ป.ท.ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดทำเว็บไซต์ "ไทยเฝ้าระวัง" และมีศูนย์ปฏิบัติการไทยเฝ้าระวังทำหน้าที่บูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ACT) กอ.รมน. สำนักนายกรัฐมนตรี(กธจ.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) และหน่วยงานอื่นๆ ภายใต้ ศอตช. พร้อมทั้งมีทีมผู้เชี่ยวชาญทำการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
รศ.ดร.จุรี กล่าวอีกว่า การดำเนินงานระยะแรกเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2563 - เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามพร้อมให้คำปรึกษาแนะนำ ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาการดำเนินงานที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตเพื่อส่งเสริมให้หน่วยงานต่างๆ ที่ได้รับงบประมาณไปทำโครงการช่วยเหลือประชาชนในด้านเศรษฐกิจและสังคม ตามนโยบายรัฐบาลทำงานด้วยความโปร่งใส และร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อไปได้โดยไม่หยุดชะงัก ขณะเดียวกัน ป.ป.ท. และศอตช. ยังทำการหาข่าวในพื้นที่เป้าหมายก่อนดำเนินการ ขณะดำเนินการ และหลังลงพื้นที่ โดยได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่รัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ และยังได้รับความร่วมมือจากทีมงานต่างพื้นที่ เพื่อนำข่าว หรือเบาะแสที่ได้มาวิเคราะห์ข่าว กรองข่าวด้วย
“หากพบว่ามีพฤติกรรมสุ่มเสี่ยง หรือส่อไปทางทุจริต ก็จะประมวลข้อมูล และส่งเรื่องไปให้หน่วยงานปราบปรามของ ศอตช. ทำการตรวจสอบ เพื่อดำเนินการต่อไป” รศ.ดร.จุรี กล่าวและว่า การดำเนินงานข้างต้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญอย่างมากกับทุกโครงการที่ได้รับการอนุมัติงบประมาณ และควรกระจาย หรือปูพรมลงพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ไม่จำเป็นต้องมุ่งเป้าไปที่ใดที่หนึ่งเท่านั้น เพราะทุกโครงการมีความสำคัญและมีงบประมาณสูง อีกทั้งเป็นเงินกู้ของรัฐมาใช้จ่าย จึงต้องป้องกันการทุจริตเชิงรุกด้วยการลงพื้นที่คู่ขนานไปกับการปราบปรามเชิงรุกด้วยเช่นกัน ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ป้องกันมิให้เกิดการทุจริต หรือหากมีการทุจริตจะต้องนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ แม้โครงการนี้ จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2564 แต่ก็ยังคงให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
อนึ่ง การดำเนินการภายใต้กลไกการเฝ้าระวังและลดโอกาสการทุจริตดังกล่าว สำนักงาน ป.ป.ท.ได้ดำเนินการแล้ว และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ โดยลงพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันการทุจริตเชิงรุกและร่วมบูรณาการกับหน่วยงานต่างๆ สามารถกระจายการเฝ้าระวังได้ถึง 10 โครงการ ลงพื้นที่เฝ้าระวัง 137 ครั้ง ประชุมกำชับให้ดำเนินการตามหลักธรรมาภิบาลและแผนบริหารความเสี่ยงในภูมิภาคต่างๆ 7 ครั้ง มีการลงพื้นที่รวมทั้งสิ้น 144 ครั้ง ใน 52 จังหวัด สำหรับกรณีที่ได้รับการแจ้งเบาะแสหน่วยตรวจเยี่ยมขับเคลื่อนจะลงพื้นที่ทันทีโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า
ส่วนความเสี่ยงของการดำเนินงาน 9 ด้าน ในการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อทำสื่อประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษาพัฒนาระบบ การจัดซื้อจัดจ้างพัฒนาพื้นที่ การขุดสระ การพัฒนาแหล่งเก็บน้ำ การจ้างแรงงาน การจัดซื้อวัสดุ การจัดซื้อครุภัณฑ์ การก่อสร้าง การอบรมสัมมนา การเบิกจ่ายงบประมาณในโครงการต่างๆ จะเริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2564 ซึ่งจะมีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้งบประมาณของหน่วยงานราชการเกิดความเสียหาย และข้าราชการไม่ถูกลงโทษ
รศ.ดร.จุรี กล่าวต่ออีกว่า ในอนาคตคณะอนุกรรมการชุดนี้ใน ศอตช. จะมีการร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ องค์การภาคประชาสังคม และภาคีหรือเครือข่ายต่างๆ จัดทำเครื่องมือให้ความรู้ และกำหนดมาตรการสร้างความตระหนักเรื่อง คุณธรรม จริยธรรมและธรรมาภิบาลอย่างเข้มแข็ง เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบ รวมทั้งช่วยเผยแพร่ภาพลักษณ์ที่ดีและความเชื่อมั่นต่อประเทศ