รัฐบาล โว เศรษฐกิจไทยสัญญาณดีขึ้น สถานการณ์การคลังอยู่ในระดับเข้มแข็ง สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพียังอยู่ใต้กรอบวินัยการเงิน พร้อมรับทุกข้อเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เตรียมนำเข้า ครม.

วันที่ 4 ก.พ. 2564 นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงชี้แจงประเด็นภายหลัง นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้เเทนราษฎร คนที่สอง ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเพื่อการปฏิรูปการศึกษาภาคประชาชน และคณะ เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีเป้าหมายที่จะปฏิรูปการศึกษาหลักสูตรการเรียนการสอน การปรับโครงสร้างบริการการศึกษา รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องกับครู ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากร รวมถึงเทคโนโลยีและทรัพยากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ รัฐบาลรับไว้ทุกข้อเสนอ และจะนำร่าง พ.ร.บ.นี้ เตรียมเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาโดยเร็ว และทางรัฐบาลก็มีร่างที่เตรียมไว้ โดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นี้เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วเช่นกัน โดยเรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูป ซึ่งหลังจากนี้จะมีการปฏิรูปอื่นๆ เสนอเข้ามาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาก่อนเข้าที่ประชุมสภาฯ ในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

...

นายอนุชา ยังชี้แจงเรื่องสถานการณ์เศรษฐกิจไทยด้วยว่า มีสัญญาณดีขึ้น โดยอ้างอิงการรายงานจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โดยเป็นภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือน ธ.ค. 2563 ตัวเลขมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นในด้านต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น การส่งออกสินค้ากลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน ที่ร้อยละ 4.7 ต่อปี ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจไทยก็อยู่ในเกณฑ์ดี ดูได้จากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในอันดับต่ำ ส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศ อยู่ในอันดับที่สูง จากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยล่าสุดสะท้อนว่า เศรษฐกิจได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว และจะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2564

สำหรับสถานการณ์การคลังในประเทศ ยังอยู่ในระดับที่เข้มแข็ง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้แจงว่า สภาพคล่องมีเพียงพอต่อการดำเนินนโยบายของรัฐบาลในปัจจุบันและอนาคต เงินคงคลังยังอยู่ในระดับที่เพียงพอรองรับการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยงานภาครัฐ และดำเนินการนโยบายต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งระดับคงคลังปลายงวด ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2563 อยู่ที่ 473,001 ล้านบาท มากกว่าเงินคงคลังปลายงวด ณ สิ้นปีงบประมาณก่อนหน้านี้ถึงร้อยละ 49.5 ส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2563 มีจำนวนทั้งสิ้น 8.1 ล้านล้านบาท โดยมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ร้อยละ 52.1 ยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงิน ที่กำหนดให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ไม่เกินร้อยละ 60 และหนี้ที่เกิดขึ้นก็เป็นการนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่จะก่อให้เกิดการจ้างงาน และช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมดด้วย

“หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนมีความเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านจุดต่ำสุดในปี 2563 มาแล้ว และมีการปรับตัวจากตัวเลขต่างๆ ในทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากเรื่องเศรษฐกิจต่างๆ”