เริ่มต้นใหม่ กติกาต้องชัด การเลือกตั้งระดับชาติที่ผ่านมาด้วยกติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญปี 60 แม้จะผ่านพ้นมาจนได้รัฐบาลชุดใหม่ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ ถามว่ามีปัญหาหรือไม่? การลงคะแนนเลือกตั้งนั้นไม่มีปัญหา เพราะประชาชนมีประสบการณ์เพียงพอที่จะไปใช้สิทธิตามกติกาใหม่ คือการหย่อนบัตรเพียงใบเดียว ต่างกับที่ผ่านมาคือหย่อนบัตร 2 ใบ คือเลือกคนและเลือกพรรค แยกเป็นแบบเขต และปาร์ตี้ลิสต์ แต่ก็ผ่านมาได้
ทว่าปัญหาที่ตามมา ก็คือการทำให้มีพรรคการเมืองจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ตามมาด้วยรัฐบาลที่มีพรรคการเมืองสนับสนุนมากสุดเช่นกัน
ด้วยวิธีการนี้ปรากฏว่าพรรคการเมืองที่ได้ ส.ส.มากที่สุดไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ พรรคใหญ่ที่เคยได้คะแนนมากสุดทั้ง ส.ส.เขต และปาร์ตี้ลิสต์ก็เปลี่ยนไป
คือได้ ส.ส.เขตมากสุด แต่ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แม้แต่คนเดียว
กกต.ได้จัดการผลคะแนน ส.ส.ของแต่ละพรรคตามสูตรใหม่ จึงออกมาแบบแปลกประหลาดจน ถึงวันนี้ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
อ้างแต่กฎกติกาอย่างนั้นอย่างนี้ จึงเป็นปัญหาค้างคาใจ
กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบการเลือกตั้ง จึงถูกมองว่าเอียงข้าง เพื่อช่วยเหลือให้รัฐบาล คสช.ต่อท่ออำนาจ
พิงหลังด้วยรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งถูกตั้งข้อหาว่าดีไซน์มาเพื่อพวกเรา
มุ่งเจตนาเพื่อให้ชนะการเลือกตั้งและสามารถจัดตั้งรัฐบาลตามที่ต้องการ
นี่ก็เป็นปัญหาการเมืองที่ไล่เรียงกันมาเป็นทอดๆ บ่งบอกถึงความไม่ชอบมาพากลทางการเมืองจนถึงวันนี้
อีกครั้งที่กำลังจะเป็นบททดสอบการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น หลังจาก คสช.เข้ามายึดอำนาจและเข้าบริหารประเทศ
...
ทุกอย่างถูกยกเลิกไม่มีการเลือกตั้ง แต่เป็นการแต่งตั้งให้ผู้บริหารท้องถิ่นทำหน้าที่ต่อไปแบบไม่ต้องออกแรง
จนกระทั่งอีกไม่นานจะเริ่มต้นเลือกตั้งกันใหม่
ทางการเมืองในยุคสมัยนี้ต้องยอมรับว่าประชาชนทั้ง “ตื่นตัว-ตื่นรู้” พรรคการเมืองทุกระดับได้ให้ความสนใจที่จะส่งผู้สมัครในนามพรรคอันเป็นพื้นฐานการเมืองระดับท้องถิ่น
วันที่ 2 พ.ย.63 กกต.จะมีการประชุมเพื่อหาข้อสรุปวางกฎกติกาให้ชัดเจนทั้งระบบ เพื่อใช้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ทั้งเรื่องคุณสมบัติผู้สมัคร รัฐมนตรี-ส.ส.-พรรคการเมืองจะเข้ามาสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน เพราะยังมีข้อกังขาและต้องการความชัดเจน
มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาและยุ่งกันไปหมดอีก
กกต.จึงจำเป็นที่จะต้องวางกฎ กติกา ระเบียบ ข้อบังคับให้เรียบร้อยจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ตั้งแต่ระฆังยกแรก
พลังประชารัฐพรรคใหญ่แกนนำรัฐบาลอ้างถึงกฎกติกาเบื้องต้นแล้วตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัคร เพราะกลัวจะผิดกฎหมาย
หรือว่าเหตุผลอื่นคือจะเกิดความขัดแย้งภายในอันเกิดจากการส่งผู้สมัครก็ว่ากันไป
ที่สำคัญก็คือ กกต.จะต้องทำหน้าที่เป็นกลาง และวางกติกาให้ชัดเจนด้วย.
“สายล่อฟ้า”