การจัดซื้อเรือดำน้ำที่ลุกลามกลายเป็นประเด็นร้อนแรงทางการเมืองระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน ขัดแย้งกันแม้แต่ระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับพรรคประชาธิปัตย์ และอาจลามไปสู่การเมืองบนท้องถนนแต่อาจมีทางออกได้ แบบบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่น เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เตรียมแผนหาทางพูดคุยกันไว้แล้ว
นายกรัฐมนตรีแถลงว่า ในฐานะที่เป็นรัฐมนตรีกลาโหม ไม่เคยบอกว่าจะต้องซื้อให้ได้ เพียงแต่พูดถึงเหตุผล ความจำเป็น และแหล่งที่มาของงบประมาณจัดซื้อ ได้เตรียมการไว้แล้วว่าถ้าซื้อไม่ได้จะเจรจากับจีนอย่างไร นับเป็นท่าทีที่ผ่อนคลายลงไป เพราะก่อนหน้านี้ นายกรัฐมนตรีระเบิดอารมณ์ว่าให้ระวังแผ่นดินลุกเป็นไฟ
เป็นการพูดในขณะที่การเมืองร้อนแรง กรรมาธิการงบประมาณพรรคฝ่ายค้านประกาศจะตามล้มมติ ในที่ประชุม คณะกรรมาธิการชุดใหญ่ พรรคประชาธิปัตย์ก็ขู่จะโหวตสวนรัฐบาล หรือมิฉะนั้นก็งดออกเสียง ทำให้การประชุม กมธ.ต้องเลื่อนมาเป็นวันที่ 31 สิงหาคม จึงจะลงมติแต่ถ้าเจรจาได้ก็อาจไม่ต้องลงมติ
รัฐบาลคสช.พยายามซื้อเรือดำน้ำ มาตั้งแต่ปี 2558 แต่ต้องระงับเรื่องไว้ก่อน เนื่องจากทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจคัดค้าน จนกระทั่งทีมเศรษฐกิจชุดนั้นถูกปรับออกไป จึงซื้อเรือดำน้ำได้เป็นครั้งแรก ในปีงบประมาณ 2560 โดยทำสัญญาผ่อนส่งไปก่อน 1 ลำ ในขณะที่เศรษฐกิจยังเป็นปกติ และจะซื้ออีก 2 ลำ ในงบปี 2564
คราวก่อนรัฐบาลสามารถฟันฝ่า เสียงคัดค้านมาได้ แต่คราวนี้เสียงคัดค้านที่ดุดันกว่า เนื่องจากเป็นการจัดซื้ออาวุธราคาแพง เรือดำน้ำ 2 ลำ 22,500 ล้านบาท ขณะที่ประเทศประสบวิกฤติทางเศรษฐกิจร้ายแรง ผู้คนตกงานนับล้านๆ แม้รัฐบาลจะกู้เงินมาเยียวยาถึง 1 ล้านล้านบาท ก็ยังไม่พอ อาจจะต้องกู้อีกหลายล้านล้าน
...
ขณะที่ทั่วโลกกำลังแข่งกันฟื้นฟู เศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แต่ประเทศ ไทยจะแข่งขันซื้อเรือดำน้ำ นายกรัฐมนตรีน่าจะปรึกษาทีมเศรษฐกิจใหม่ เป็นการ ลงทุนที่คุ้มค่าหรือไม่ สมเหตุสมผลหรือไม่ สร้างหนี้อีกมหาศาลแค่ไหน อย่าให้นโยบายรัฐบาล “รวมใจสร้างชาติ” กลายเป็น “สร้างหนี้”
ทางออกที่ดีที่สุด สมเหตุสมผลที่สุดคือ ทำตามแผนสำรองของนายกรัฐมนตรี คือเปิดเจรจากับจีน เพื่อขอเลื่อนเวลาการจัดซื้อเรือดำน้ำ 2 ลำ จนกว่าฐานะทางเศรษฐกิจของเราจะพร้อม เป็นทางออกที่ไม่มีใครเสียหาย ทั้งจีนกับไทยต่างได้ทั้งสองฝ่าย ไม่ได้ยกเลิกสัญญา ไม่มีการ “จมเรือดำน้ำ” เชื่อว่าจีนคงเห็นใจ.