คำกล่าวที่กลายเป็นอมตะวาจาสำหรับสังคมไทย “คุกมีไว้ขังคนจน” ดังกึกก้องขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในใจของบรรดาคนไทยผู้รักความเป็นธรรม เมื่อรู้ว่าอัยการสูงสุดมีคำสั่งเด็ดขาด สั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธ อยู่วิทยา ทายาทมหาเศรษฐีกระทิงแดง ในข้อหาขับรถโดยประมาททำให้ ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อถึงแก่ความตาย
ตามคำแถลงของ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายตำรวจก็เห็นพ้องตามอัยการ ส่วนเหตุผลไม่สามารถเปิดเผยได้ คำสั่งของอัยการสูงสุดเสมือนทำให้นายวรยุทธ เป็นผู้บริสุทธิ์ สามารถเดินทางกลับประเทศได้
คดีนี้เป็นคดีที่ยืดเยื้อมานานถึง 8 ปี เหตุเกิดตั้งแต่ปี 2555 มีการตั้งข้อหา ถึง 5 ข้อหา (1) ข้อหาเมาแล้วขับ อัยการสั่งไม่ฟ้อง (2) ขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หมดอายุความ (3) ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินเสียหาย หมดอายุความ (4) ชนแล้วหนี หมดอายุความ ข้อหาที่ 5 คือขับรถชนคนตาย
ในระหว่างการสอบสวนดำเนินคดีที่ผ่านมา มีนายตำรวจอย่างน้อย 7 นาย ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง ผู้ต้องหาได้หลบหนีไปต่างประเทศ ในสำนวนคดี ด.ต.วิเชียรผู้ตาย มีชื่อเป็นผู้ต้องหาด้วย ในข้อหา “ประมาทร่วม” รองโฆษกตำรวจชี้แจงว่าคดีนี้เป็นปกติ ไม่ใช่สองมาตรฐาน ขออย่าใช้วลี “คุกมีไว้ขังคนจน” แต่หลายคนเห็นต่าง เช่น พ.ต.ต.ชวลิต เลาหอุดมพันธุ์ ส.ส.พรรคก้าวไกล
พ.ต.ต.ชวลิตชี้แจงว่าตนเป็นคนทำคดีนี้เอง ทั้งบันทึกและถ่ายภาพพยานหลักฐานต่างๆ ยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ขับรถชนจริง เป็นการชนท้ายตรงๆไม่ใช่การปาดหน้า เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานทำรายงานภายใน 1 เดือน แต่กระบวนการสอบสวนยืดเยื้อมาหลายปี เป็นกระบวนการที่ไม่น่าพอใจอย่างยิ่ง งานสอบสวนจึงต้องได้รับการปฏิรูป
...
รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้อย่างชัดเจนให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศในด้าน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม การสอบสวนคดีอาญา ต้องมีการถ่วงดุลระหว่างตำรวจกับอัยการอย่างเหมาะสม รวมทั้งการปฏิรูปตำรวจ ต้องดำเนินการภายใน 1 ปีหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ขณะนี้ผ่านไปแล้วกว่า 3 ปี ยังเป็นแค่แผ่นกระดาษ
นั่นก็คือกระดาษรายงานผลการศึกษาและเสนอแนะเรื่องการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งตำรวจ ที่ศึกษามาหลายคณะกรรมการ แต่รัฐบาลไม่ยอมนำไปปฏิบัติ จึงยังมีระบบการสอบสวนที่ทำให้ “คุกมีไว้ขังคนจน” ส่วนการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งการปฏิรูปการเมือง กระบวนการยุติธรรม และปฏิรูป ตำรวจ เป็นเพียงพิธีกรรมทางการเมือง.