ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือที่เรียกกันว่าสภาพัฒน์จนติดปาก ได้เปิดเผยถึง โครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ตามที่หลายหน่วยงานเสนอมา ในรอบแรกพบว่ามีโครงการที่ผ่านการคัดเลือกและอยู่ระหว่างการคัดกรองจำนวน 213 โครงการ วงเงิน 101,482.29 ล้านบาทภายใต้ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงิน เพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบ

จากโควิด-19 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ปรากฏว่าโครงการของกระทรวงมหาดไทยได้รับการพิจารณามากที่สุด ประกอบด้วยโครงการอาสาสมัครบริบาลท้องถิ่นเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ระดับตำบล วงเงิน 1,080.58 ล้านบาท โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ ประยุกต์ โคก หนองนา โมเดล วงเงิน 4,953.78 ล้านบาท โครงการพัฒนาตำบลแบบบูรณาการ 2,701.87 ล้านบาท และโครงการชุมชนท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 546.13 ล้านบาท รวมกว่า 9.28 พันล้าน

ตามด้วยโครงการะดับจังหวัดใน 6 ภูมิภาค จำนวน 750 โครงการ หลังจากพิจารณาแล้วเสนอกลับมาใหม่ 461 โครงการ ผ่านความเห็นชอบรอบแรกจำนวน 162 โครงการ จ.ภาคเหนือ ผ่านไปแล้ว 23 โครงการ จำนวนเงิน 34 ล้านบาท ภาคใต้ ผ่านการพิจารณารอบแรก 29 โครงการ วงเงิน 148 ล้านบาท จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านรอบแรก 10 โครงการ วงเงิน 133 ล้านบาท

จังหวัดภาคตะวันออกได้รับการพิจารณาผ่านรอบแรก 3 โครงการ วงเงิน 34 ล้านบาท จังหวัดภาคอีสาน ผ่านรอบแรก 66 โครงการ วงเงิน 381 ล้านบาท จังหวัดภาคกลาง ผ่านรอบแรก 31 โครงการวงเงิน 91 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการปลีกย่อยที่เสนอเข้ามาอีกนับหมื่นโครงการ ในจำนวน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการด้านการเกษตร ส่งเสริมอาชีพชุมชน จากวงเงินกู้เพื่อการฟื้นฟู ทั้งหมด 4 แสนล้านบาท ให้จัดสรรอย่างไรก็ไม่พอตามความต้องการ

...

ที่สำคัญคือ การตรวจสอบงบประมาณและโครงการ เนื่องจากจำนวนโครงการปลีกย่อยที่มากมาย ต่อให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมากี่ชุดก็ไม่สามารถที่จะทำได้อย่างทั่วถึง

ปัญหาที่ตามมา ก็คือ การรั่วไหลของงบประมาณ โดยเฉพาะที่ลงไปในระดับท้องถิ่น ที่ผ่านมาโครงการเล็กๆ น้อยๆ ยังมีการชักหัวคิว ทุจริตคอร์รัปชันกันมากมาย

การตรวจสอบงบประมาณดังกล่าว จึงต้องใช้วิธีตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม ไม่ใช่ไปตั้งคณะกรรมการตรวจสอบขึ้นมาภายหลัง แต่ต้องเข้มงวดตั้งแต่การอนุมัติโครงการ และผู้ที่รับผิดชอบโครงการ

โดยเฉพาะที่จะเป็นรูปแบบของ งบ ส.ส. หรืองบพัฒนาจังหวัด ต้องยอมรับว่าอยู่บนความเสี่ยง ที่จะถูกตรวจสอบมากที่สุด ไม่ว่าจะกระทำโดยสุจริตหรือไม่ก็ตาม

และผลกระทบที่จะตามมาหลังการตรวจสอบ คือ ความล้มเหลวของโครงการไม่ประสบความสำเร็จ ล่าช้ากว่าเป้าหมายของโครงการที่วางเอาไว้ ระบบการตรวจสอบก็เหมือนดาบสองคม ไม่เป็นบวกก็เป็นลบ.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th