เข้าสู่ “ฤดูร้อน” ของประเทศไทย ที่มาพร้อมกับ “พายุฤดูร้อน” เกิดขึ้นต่อเนื่อง ลักษณะฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง มีลูกเห็บ ตกบางพื้นที่ สร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน พืชผลการเกษตรของประชาชน ไม่เว้นแม้แต่ต้นไม้ เสาไฟฟ้าหักล้มระเนนระนาดลงหลายพื้นที่...

แต่สิ่งที่น่าจับตา...เดือน เม.ย.-พ.ค.ของทุกปี มักเกิดปรากฏการณ์ “ดวงอาทิตย์” โคจรมาอยู่ตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทยพอดี ที่เรียกกันว่า “พระอาทิตย์ตั้งฉาก” ซึ่งเป็นช่วงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์เต็มที่

ทำให้มีผลให้อุณหภูมิสูงสุดรอบปีเฉลี่ยพุ่งทะลุสูงถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป

สาเหตุจากตำแหน่งที่ตั้งประเทศไทย อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ถึง 2 ครั้ง

ในปี 2559 เคยมีความร้อนสูง 44.6 องศาเซลเซียล ที่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

สังเกตได้ในช่วงนี้เวลาประมาณ 12.15 น. หากออกไป “ยืนกลางแดด” ดวงอาทิตย์จะอยู่ตรงตำแหน่งเหนือศีรษะ ทำมุม 90 องศาฯ จะไม่เห็นเงาตัวเอง โดยเงาตกอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง ในส่วน “ดวงอาทิตย์ฉาก” จะเริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่ทางภาคใต้สุด และไต่ระดับไล่ขึ้นภาคเหนือสุดของประเทศ

...

การนี้ “สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ” ระบุถึง “ดวงอาทิตย์” จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากใต้สุดของประเทศที่ อ.เบตง จ.ยะลา ในวันที่ 4 เม.ย.2563 เวลาประมาณ 12.15 น. เคลื่อนมา จ.สงขลา วันที่ 8 เม.ย. เข้ามา จ.ภูเก็ต วันที่ 10 เม.ย. ย้ายมาที่พัทยา ชลบุรี 24 เม.ย.

ปีนี้ “ดวงอาทิตย์” จะโคจรมาตั้งฉากกับกรุงเทพฯ 26 เม.ย. จ.อุบลราชธานี 1 พ.ค. จ.นครสวรรค์ 3 พ.ค. จ.ขอนแก่น 5 พ.ค. จ.สกลนคร 8 พ.ค. จ.อุดรธานี 9 พ.ค. จ.ลำปาง 12 พ.ค. จ.เชียงใหม่ 14 พ.ค. และมาสิ้นสุด อ.แม่สาย จ.เชียงราย วันที่ 22 พ.ค. ...

ดวงอาทิตย์ตั้งฉากที่เป็นปัจจัยต่ออุณหภูมิสูงนี้ น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้สภาพอากาศของประเทศไทย “ตกค่ากลาง” ที่ไม่ใช่ปรากฏการณ์ “เอลนีโญ หรือลานีญา” เพราะมีค่าความร้อนผิดปกติ และมีฝนน้อยกว่าปกติ

นับตั้งแต่ 29 ก.พ.2563 มีประกาศเข้าสู่ “ฤดูร้อนเต็มตัว” โดยเฉพาะช่วงเดือน มี.ค.นี้ มีอุณหภูมิสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อกันมาก่อนถึง 40 กว่าองศาฯ ในหลายพื้นที่ของประเทศ แต่ความโชคร้ายนี้...ก็มีความโชคดีให้เห็น... นับตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.เป็นต้นมา ได้เกิด “พายุฤดูร้อน” เข้ามาลดอุณหภูมิความร้อนอย่างต่อเนื่อง

เพราะตามธรรมชาติ...เมื่ออากาศ “ร้อนอบอ้าว” จากมวลอากาศร้อนยกตัวลอยขึ้น และปะทะกับอากาศเย็นด้านบนแล้วควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำในเมฆ และคลายความร้อนออกมา เป็นเหตุให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองอย่างแรงและรวดเร็ว

ทำให้มีพื้นที่ฝนตกหนักน้ำท่วมขังขึ้นหลายพื้นที่ เช่น ภาคกลาง ภาคตะวันออก ดังนั้นในเรื่อง “พระอาทิตย์ตั้งฉาก” คาดการณ์กันว่า...มีความร้อนสูง โดยเฉพาะวันที่ 26 เม.ย.นี้ พระอาทิตย์ตั้งฉากตำแหน่งพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ในบางพื้นที่จะมีอุณหภูมิสูง 43 องศาฯ ก็อาจมีพายุฤดูร้อนมาลดบรรเทาความร้อนนี้ลงได้

สาเหตุอีกประการในช่วงวันที่ 22-23 เม.ย.นี้ได้ติดตามหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีอากาศร้อนถึงร้อนจัด ในขณะที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศลาว เวียดนาม และทะเลจีนใต้

อีกทั้งมีลมใต้ และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคเหนือตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นอีกระลอกหลายพื้นที่...

เมื่อเป็นเช่นนี้ปี 2563...“พระอาทิตย์ตั้งฉาก” คงไม่ใช่ช่วงเวลาที่ร้อนสูงสุดเหมือนกับทุกปี และไม่ร้อนจัดทำลายสถิติเดิมปี 2559 ร้อนสุด 44.6 องศาฯ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เพราะการที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากรับพลังงานแสงแดดเต็มที่ต้องมีปัจจัยหลายอย่างในการส่งผลต่ออุณหภูมิด้วย

เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ในวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากนี้อาจไม่ใช่วันที่มีอุณหภูมิสูงที่สุดเสมอไป หากเปรียบเทียบปี 2562...ที่เกิดพายุฤดูร้อนน้อย มีการสะสมอุณหภูมิสูงขึ้นในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. มีอุณหภูมิขยับถึง 42-44 องศาฯ

ประเด็นสำคัญในปี 2563 มีพายุฤดูร้อนมาเร็ว...ตั้งแต่วันที่ 3 มี.ค.2563 ในบางพื้นที่มีฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมขังด้วยซ้ำ สาเหตุจากการเกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติผิดปกติ ที่มาของ “อากาศแปรปรวน” ทำให้มีอุณหภูมิความร้อนสูงกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดมีพายุฤดูร้อนมาเร็ว รุนแรง และมีระยะเวลายาวนานผิดปกติเช่นกัน

กลายเป็น “ผลดี” ส่งเสริมสนับสนุนปริมาณน้ำฝนเติมเข้ามาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในเรื่อง “ภัยแล้ง” ส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ได้ระดับหนึ่ง ในการส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐให้มีน้ำไว้ใช้ได้อย่างเพียงพอ เพื่อบรรเทาแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำแล้งนี้ ที่สามารถลดผลกระทบให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำ

แต่ความชุ่มชื้นนี้ก็ไม่ได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศไทย ทำให้พื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง ภาคเหนือตอนบน ยังขาดแคลนปริมาณน้ำฝนเข้าไปเติมเขื่อนหลักต่างๆ ทำให้ประชาชนขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค

หนำซ้ำ...ยังมีพื้นที่อุณหภูมิร้อนจัดคาดอุณหภูมิสูงสุด 37-44 องศาฯ โดยเฉพาะพื้นที่เดิม เช่น อ.เถิน จ.ลำปาง เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ซึ่งประชาชนต้องดูแลสุขภาพจากสภาพอากาศร้อนจัด หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง ระวังอันตรายจากลมกระโชกแรง อยู่ห่างต้นไม้ใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง ป้ายโฆษณาไม่แข็งแรง

สภาพอากาศที่ร้อนจัดช่วงนี้ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมา โดยเฉพาะ “โรคฮีตสโตรก (Heat Stroke)” หรือ “โรคลมแดด” ที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาฯ

ซึ่ง...โรคนี้เกิดได้ทุกเพศทุกวัย และมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ทว่า...“อุณหภูมิร้อนจัด” ตามความเห็นทางการแพทย์ พบว่า “ไวรัสโควิด–19” ไม่ชอบทนอยู่กับความร้อน ส่งผลให้การกระจายตัวของโรคระบาดนี้น้อยลง และมีระยะเวลาอยู่ในอากาศร้อนจัดสั้นลง แสดงให้เห็นว่า ช่วงนี้ต่อเนื่องยาวไปจนถึงฤดูฝน ที่อาจช่วยลดกระจายเชื้อ ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบอุปสรรคยับยั้งการระบาดโรคก็ได้

เชื่อว่า...สถานการณ์ “โรคระบาด” น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้นต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีประกาศเข้าสู่ “ฤดูฝน” ในช่วงปลายเดือน พ.ค. และสิ้นสุดกลางเดือน ต.ค.2563 แต่สภาพอากาศก็ยังมีลักษณะร้อนจัดทุกพื้นที่ 37–38 องศาฯ ในบางพื้นมีอุณหภูมิ 40 องศาฯ ที่ยังคงยาวไปถึงเดือน มิ.ย.2563 ด้วยซ้ำ

ในเรื่องกระแสข่าวที่ว่า...มวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ซึ่งเป็นกระแสลมช่วยให้ก่อให้เกิดฤดูฝนนี้ อาจมีการนำพาสิ่งปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 พร้อมสารเคมีมาด้วย ถือว่า “เป็นข่าวปลอม ไม่ใช่เรื่องจริงเกิดขึ้นได้” เพราะเกณฑ์การเข้าสู่ฤดูฝนของประเทศไทย ประกอบด้วย...

มีฝนตกต่อเนื่อง กระแสลมสูงจากพื้นผิวระดับ 3.5 กม. อีกทั้งมีกระแสลมเปลี่ยนทิศตะวันตกเฉียงใต้ และทิศทางลมชั้นบนตั้งแต่ระดับความสูง 5 กม.ขึ้นไป เปลี่ยนทิศเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือ หรือลมตะวันออก ถูกนำไปวิเคราะห์การก้าวเข้าสู่ “ฤดูฝน”...ในช่วงนี้สภาพอากาศร้อนถึงร้อนจัด ขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพไว้ด้วย

ย้ำปัญหา...เชื้อโรคปนเปื้อนมากับกระแสลม ไม่อยากให้พี่น้องประชาชนเกิดความกังวลใจขึ้น แต่มีสิ่งหนึ่งที่สามารถเป็นไปได้ และต้องระมัดระวังในช่วงเข้าสู่ “ฤดูฝน” มักเกิดละอองฝน หรือฝนตกกระจายทั่วทุกพื้นที่ ต้องระมัดระวังสุขภาพ ในเรื่อง “ไข้หวัด” ควรต้องมีการป้องกันตัวเอง เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยขึ้นได้...

แม้ “ดวงอาทิตย์” ตั้งฉาก...ทำให้ “อากาศร้อน” จัดสุดรอบปี แต่ปีนี้อาจเป็นเรื่องดี...ที่มาช่วยลดเชื้อโรคปะปนอาศัยบนพื้นผิวให้มีอายุสั้นลง ลดกระจายตัวการระบาด ที่เป็นเรื่องของธรรมชาติทำลายกันเองก็ได้...