“บิ๊กตู่” แถลงหลังประชุม ครม. ย้ำ มีงบประมาณจ่ายเยียวยาได้แค่เดือนเดียว ส่วนอีก 2 เดือน ต้องรอจาก พ.ร.ก.กู้เงิน ยัน พยายามดูแลเต็มที่ ขอโทษคนยังไม่ได้รับการเยียวยา

วันที่ 15 เม.ย. 2563 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องการช่วยเหลือเยียวยา 5,000 บาท แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ว่า ที่ผ่านมาได้ดำเนินการช่วยเหลือตามมาตรการต่างๆ ในเบื้องต้นทั้งในระยะที่ 1 และ 2 อาทิ ลดค่าน้ำ-ค่าไฟ, คืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า, ให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาฟรี, การพักหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย เป็นต้น โดยต้องขอความร่วมมือจากธนาคารพาณิชย์ให้การช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบด้วย

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ระบุ ทราบดีว่ามีความสับสนอลหม่านอยู่มากพอสมควร จำเป็นสร้างความเข้าใจกันใหม่ให้ตรงกัน ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม ซึ่งภาครัฐพิจารณาจากฐานข้อมูลแรงงานที่อยู่ในระบบ 37 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบ 9 ล้านคน แรงงานในระบบ 11 ล้านคน และเกษตรกร 17 ล้านคน รวมถึงปัญหาในส่วนของนักศึกษาที่ทำงานหรือไม่ทำงานก็ต้องพิจารณาเช่นกัน เพราะการใช้เงินต้องเป็นตามกฎหมาย ไม่อยากให้มีข้อผิดพลาด แต่พร้อมรับฟังความคิดเห็นเสมอ “ผมเห็น แล้วก็เห็นใจ สงสาร เป็นหน้าที่ที่ผมต้องทำให้ท่าน ผมร้อนใจมากกว่าท่าน” นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลด้านผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อรวบรวมและบูรณาการข้อมูลเพื่อรับฟังความคิดเห็น ตรวจสอบ ช่วยเหลือเยียวยาให้มีความครอบคลุมทั่วถึง ส่วนเรื่องงบประมาณต้องใช้จากหลายส่วน ดังนี้

...

1. พ.ร.บ.ปรับโอนงบประมาณ จากทุกหน่วยงาน แต่ก็ต้องใช้เวลาพอสมควรเพราะต้องผ่านทั้ง 2 สภาด้วย กว่าจะได้เงินก่อนนี้ออกมาใช้ราวเดือน มิ.ย. ประมาณไม่เกิน 100,000 ล้านบาท

2. พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ตอนนี้ยังไม่มี มีแต่ตัวเลข ต้องกู้ออกมาเพื่อให้มีเม็ดเงินเยียวยาได้ ซึ่งก็ต้องมีขั้นตอนและรอการประกาศใช้ คาดว่าประมาณปลายเดือน เม.ย. - พ.ค. ซึ่งต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองโครงการ เป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย แต่จะได้เงินมาใช้ประมาณ พ.ค. - มิ.ย.

3. พ.ร.ก.ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เป็นเรื่องของการบริหารการเงินการคลังเพื่อไม่ให้ระบบวุ่นวายสับสนและเกิดปัญหาตามมา

“ทุกวันนี้เราใช้เงินรายจ่ายจากงบกลางปี 63 บางโครงการที่ยังไม่ได้ดำเนินการก็เอาคืนมาช่วยในช่วงนี้ก่อน วงเงินประมาณ 50,000 กว่าล้าน ครอบคลุมกรณี 5,000 บาท แค่เดือนเดียว เพราะฉะนั้นเดือนที่ 2 และ 3 ก็ต้องรองเงินจาก พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้าน นี่แหละคือสิ่งที่เป็นความยากง่ายของรัฐบาล เพราะเป็นภาระผูกพันกับรัฐบาลไปในวันข้างหน้าด้วย ต้องหาเม็ดเงินมาชำระหนี้ และจะทยอยกู้เป็นก้อนๆ ไม่ได้หมายความว่าเรามีเงิน 1 ล้านล้าน มาอยู่ในมือทั้งหมดทีเดียว คงไม่ใช่แบบนั้น และไม่ทันเดือน เม.ย.นี้อยู่แล้ว เราจ่ายได้แค่เดือนเดียวก่อน

ในส่วนที่ยังขาดเหลือก็ให้ตรวจสอบคัดกรอง และตรงไหนที่ต้องให้เพิ่ม หรือมีปัญหาที่ระบบตรวจสอบคัดกรองออกไป เพราะสถานการณ์โควิด-19 เป็นสถานการณ์สำคัญ ผมยืนยันว่าพยายามจะดูแลท่านอย่างเต็มที่ตามขีดความสามารถที่รัฐมีอยู่ ขอให้ทุกคนเข้าใจด้วย การสร้างความเข้าใจหรือบิดเบือนในทางที่ผิด จะยิ่งทำให้การทำงานยากขึ้นเรื่อยๆ กราบเรียนย้ำอีกครั้ง เรามีเม็ดเงินที่จะดูแลให้ได้เพียงเดือนเดียวเท่านั้นก่อน”

นายกรัฐมนตรี ชี้แจงต่อไปอีกว่า ในช่วงแรกมียังไม่ได้ปรับงบประมาณมีเงินให้ได้ 5,000 บาท เพียง 3 ล้านคนเท่านั้น แต่เมื่อรับฟังความเดือดร้อนมีอยู่หลายกลุ่มหลายฝ่ายจึงต้องขยายเป็น 9 ล้านคน ยังต้องหามาเพิ่มอีกจากงบกลาง เงินรายจ่ายสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน 45,000 ล้านบาท แต่หลังจาก เม.ย. ไปต้องรอ พ.ร.ก.เงินกู้ รับรองว่าจะดูแลให้ครบทุกคน เข้าใจถึงความเดือดร้อน และเป็นห่วงเรื่องการหาประโยชน์ของคนบางกลุ่มรับจ้างลงทะเบียน คนแสวงหาประโยชน์เช่นนี้ถือว่าน่ารังเกียจ รวมถึงพวกปลอมแปลงในรับรองแพทย์เพื่อเอาเงินประกัน ไม่คิดว่าจะยังมีคนเหล่านี้อยู่ในประเทศไทย พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหนี้ผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ที่กำลังเป็นทุกข์ด้วย

สำหรับแรงงานในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 จำนวน 11 ล้านคน ใช้เงินจากกองทุกประกันสังคม 230,000 ล้านบาท ในการช่วยเหลือ และยังต้องหาเงินมาเพิ่มอีก ขออย่าว่ากันไปมา เพราะเป็นเหมือนกันเงินที่ทำให้แรงงานสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ และกำลังหารือในส่วนของเกษตรกร 17 ล้านคน พิจารณาหาเงิจากแหล่งอื่นตามกฎหมายงบประมาณ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง มาให้ในเดือนแรก ซึ่งเดือนต่อไปก็ต้องรอจาก พ.ร.ก.เงินกู้เช่นกัน ที่พูดกันไปว่า 3 เดือนยังไม่ได้ข้อยุติ แต่อยากช่วยประชาชน และการให้เงินเยียวยาเหล่านี้จะต้องมีการปรเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย ขณะที่มาตรการอื่นๆ ก็ให้กระทรวงการคลังรับเรื่องจากทุกหน่วยงานมาเพิ่มในมาตรการเยียวยา

อย่าวไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวว่า อยากให้ทุกคนประคับประคองตัวเองในช่วงนี้ รัฐบาลจะดูแลให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ เห็นใจจริงๆ คนที่ยังไม่ได้ 5,000 บาท อาจจะไปอยู่ในกลุ่มอื่นที่จะมีมาตรการตามมา ไม่ใช่ว่าไม่ได้ ยืนยันว่าทุกอย่างที่ทำต้องเป็นไปตามกฎหมายบนความถูกต้อง พร้อมขอโทษหากยังไม่ได้รับการเยียวยาโดยทั่วถึง ส่วนเรื่องการขายทองก็เป็นความกังวลเรื่องสภาพคล่องของร้านทอง ขณะนี้กำลังหารืออยู่ว่าจะทำอย่างไร อยากให้ทยอยไป อย่าไปทีเดียวทั้งหมด เพราะถ้าร้านทองไม่มีเงินจ่ายก็จะเกิดปัญหาขึ้น ขอให้เข้าใจ.