พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ยืนยัน ต่อสัญญารถไฟฟ้าบีทีเอส 30 ปี เพื่อช่วยประชาชน ลดภาระค่าโดยสาร-ลดภาระหนี้รัฐบาล ยัน ไม่ได้เป็นการเอื้อเอกชนรายใดทั้งสิ้น
วันที่ 24 ก.พ. พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวชี้แจงกรณี นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย เรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เดิมจะสิ้นสุดปี 2572 แต่กทม.ได้มีการต่อสัญญาในส่วนต่อขยายที่ 1 เพื่อจ้างบีทีเอสเดินรถ และรฟม.ได้ทำส่วนต่อขยายในช่วงสีเขียวและสีเขียวใต้ ที่ผ่านมา รฟม.ก่อสร้างโดยใช้เงินกู้เพื่อสร้างทั้งสองส่วน แต่ในการจะดำเนินการในอนาคต จำเป็นต้องจ้างเดินรถและมีแนวโน้มว่า จะขาดทุน เพราะเป็นส่วนต่อขยายในช่วงชานเมือง จนไม่สามารถคืนเงินต้นและดอกเบี้ยได้
รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ทั้งโครงการนี้ มีหนี้แสนกว่าล้านบาท การบริการสาธารณะของกทม. ไม่มีสภาพคล่องจะแก้ไขปัญหานี้ได้ ในการแก้ไขปัญหาก่อนจะมีคำสั่งของคสช.นั้น มีผลกระทบที่ตามมา คือ ประชาชนต้องแบกภาระค่าโดยสารเต็มระยะสูงสุด 158 บาท หากรอให้สัมปทานหลักหมดอายุลง เอกชนรายใหม่ จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นจากสัมปทานเดิม และสัญญาจ้างเดินรถ หรือหากจะเปิดประมูลเอกชนรายใหม่ จะต้องใช้เวลา 2-3 ปีเพื่อพิจารณาตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน และประชาชนต้องแบกรับภาระ จึงเป็นที่มาของการมีคำสั่ง คสช. ซึ่งยืนยันว่า คำสั่งคสช.ไม่ได้เป็นการต่อสัญญาสัมปทาน แต่เป็นการไปหาทางออกว่า จะทำอย่างไรเพื่อลดภาระของประชาชน โดยจะมีขั้นตอนคล้ายกับพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ที่มีคณะกรรมการที่มีปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเข้ามามาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการรวดเร็วเพราะเวลาที่เดินไปนั้นหมายถึงดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายออกไปด้วย
...
พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การเจรจานั้นได้ยึดหลักประชาชนได้ค่าโดยสารเป็นธรรม กทม.และรัฐบาลต้องไม่มีภาระหนี้ และผลตอบแทนการลงทุนของเอกชนอยู่ในอัตราที่เหมาะสม ทั้งนี้ สัญญาสัมปทาน 30 ปี จากสัญญาเดิมที่เหลืออีก 10 ปีนั้น ในปี 2562-2572 ในช่วง10ปีแรก ยังคงเป็นสัญญาเดิม กทม.ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ โดยเอกชนจะเป็นผู้รับภาระแทนตลอด 10 ปี ปี 2573-2602 เริ่มสัญญาสัมปทานใหม่ หลังจากสัมปทานเดิมสิ้นสุดลง สัมปทานใหม่ อายุ 30 ปี โดยจะมีการแบ่งรายได้ให้ กทม. ทั้งหมดนี้เป็นการแก้ไขปัญหาโดยคำสั่งของ คสช. ซึ่งไมได้เป็นการเอื้อประโยชน์แก่ใครทั้งสิ้น