ครม.ไฟเขียวยุติร่างสัญญาขยายสัมปทานทางด่วน 15 ปี 8 เดือน ระหว่าง กทพ.-บีอีเอ็ม ลากยาวถึงปี 2578 แลกยุติข้อพิพาทรวม 17 คดี
เมื่อวันที่ 18 ก.พ.63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบร่างสัญญาระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (บีอีเอ็ม) กรณียุติข้อพิพาททั้งหมดที่เกิดขึ้นรวม 17 คดี เพื่อแลกกับการแก้ไขสัญญาให้บีอีเอ็มเป็นผู้รับสัมปทานบริหาร และจัดเก็บค่าผ่านทางด่วนเป็นระยะเวลา 15 ปี 8 เดือน โดยจะไปสิ้นสุดสัญญาพร้อมกันในวันที่ 31 ต.ค.2578
อย่างไรก็ตามหากประเด็นของการยุติข้อพิพาทไม่ถูกนำมาพิจารณาในวันนี้ สัญญาสัมปทานเดิมก็จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 ก.พ.2563 ซึ่งจะส่งผลให้ กทพ.จะต้องเปิดประมูลเพื่อหาเอกชนเข้ามาบริหารใหม่ แม้ว่า กทพ.จะมีแนวคิดที่จะจ้างบีอีเอ็มรับบริหารไปก่อน ก่อนที่จะเจรจาสัญญาใหม่แล้วเสร็จ แต่ในแง่ของกฎหมายไม่สามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายร่วมทุนฉบับใหม่ กำหนดไว้ว่าการร่วมทุนรัฐและเอกชนต้องประมูลใหม่อย่างเดียว
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ต้องรอมติ ครม.เพื่อแจ้งไปยังกระทรวงคมนาคม หลังจากนั้นจะส่งไปที่ประชุมคณะกรรมการ บอร์ด กพท.ให้บอร์ดรับทราบมติ ครม.ก็เข้าสู่กระบวนการยื่นเรื่องไปที่ศาลฯและอนุยาโตตุลาการ เพื่อถอนฟ้องทุกคดีหลังจากนั้นจะนัดเซ็นสัญญาต่อไป
ด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สำหรับข้อพิพาทที่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาตัดสินคดี มีจำนวน 11 คดี จากทั้งหมด 17 คดี โดยมี 6 คดีที่มีผลตัดสินแล้ว ซึ่ง BEM ชนะ 3 คดีที่เป็นประเด็นการสร้างทางแข่งขัน รวมเป็นเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งคดีแรก BEM ชนะคดี 4 พันกว่าล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ส่วนประเด็นการไม่ให้ปรับค่าผ่านทาง กทพ.แพ้ 2 คดี ขณะที่ประเด็นอื่น กทพ.ชนะ BEM คิดเป็นวงเงิน 491 ล้านบาท
...
"หากไม่ดำเนินการใดๆในวันนี้ 11 คดีที่เหลือคาดว่าจะใช้เวลากว่าจะได้ข้อยุติในปี 2578 โดยประเมินว่าจะมีค่าเสียหายประมาณ 3 แสนล้านบาทบวกดอกเบี้ย ดังนั้น ครม.จึงให้เจรจากับบีอีเอ็มโดยไม่ต้องจ่ายเงิน แต่ให้แลกเป็นระยะเวลาสัมปทานแทน" นายวิษณุ กล่าว