นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ มั่นใจ งบประมาณปี 63 ผ่านฉลุย แม้มีส.ส.เสียบบัตรแทนกัน อ้าง ยึดแนวคําวินิจฉัยศาลรธน.ที่ 8/2551
2 ก.พ. นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ได้แสดงความเห็นด้านกฎหมายในกรณีที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งความเห็นของ ส.ส. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามมาตรา 148 วรรค 1 ประเด็นหลัก คือ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ การยื่นคำร้องดังกล่าวมีขึ้นหลังจาก ส.ส.มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3 นั้น
นายไพบูลย์ กล่าวว่า คำวินิจฉัยร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 น่าจะสอดคล้องกับแนวของคําวินิจฉัยที่ 8/2551 วันที่ 8 ก.ค.2551 เรื่อง นายกรัฐมนตรีขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติสํานักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ซึ่งแม้ว่าคดีดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ร่างพระราชบัญญัติสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.… ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และเป็นอันตกก็ตาม แต่เหตุที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตกไป ปรากฏในคำวินิจฉัยที่ 8/2551 มีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเข้าประชุมเพียง 50 คน ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น คือ 121 คน จึงมีจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไม่ครบองค์ประชุม และถือว่าการประชุมเพื่อลงมติในวาระที่หนึ่ง ขั้นรับหลักการเป็นการประชุมโดยไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง
ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 วรรคหนึ่ง คือ การกำหนดจำนวนของสมาชิกสภาที่มีจำนวนมากเพียงพอที่จะมาร่วมกันแสดงความคิดเห็นและแสดงเจตนาในลักษณะของมติที่ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ อันเป็นหลักการประชุมสภาที่ใช้อยู่ในนานาประเทศ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้มีบทบัญญัติว่าด้วยองค์ประชุมของสภาผู้แทนราษฎรกำหนดให้มีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาจึงจะเป็นองค์ประชุม เพื่อให้การประชุมพิจารณาตรากฎหมายนั้นเป็นไปอย่างรอบคอบในการพิจารณาทุกวาระ และเมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประชุมไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา ย่อมมีความหมายว่าการประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุมจะถือว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ และหากมีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่ไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎรที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้
...
ดังนั้นการยื่นคำร้องกรณี ส.ส. มีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 วาระ 2 และ 3 โดยข้อเท็จจริงมีจำนวนเพียง 2-3 เสียงเท่านั้น แม้การออกเสียงดังกล่าวจะไม่เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีผลใดๆ ที่จะทำให้การพิจารณา วาระ 2 และ 3 ไม่ครบองค์ประชุมและไม่ได้มติเสียงข้างมาก ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 120 ซึ่งมีหลักการเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 126 เช่น ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ในวาระที่ 3 สมาชิกเข้าประชุม 450 เสียง ผลลงมติเห็นด้วย 253 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 196 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง
นายไพบูลย์ จึงเห็นว่าด้วยแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 8/2551 ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย 2563 ซึ่งตราขึ้นโดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรออกเสียงลงคะแนนครบองค์ประชุมและการลงมติเห็นชอบด้วยเสียงข้างมากตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 120 ทั้งวาระ 2 และ 3 จึงเป็นร่างพระราชบัญญัติที่ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ.