“เรืองไกร” ส่งเอกสารให้ ป.ป.ช.สอบที่ดินภบท.5 กว่า 1,700 ไร่ ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ของ “ปารีณา” พื้นที่เดียวกับของ“แม่ธนาธร” “วราวุธ” สั่งถ้าบุกรุกป่าจริงให้ว่าตามกฎหมาย “อธิบดีป่าไม้” สำรวจพบเป็นที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ “เขาสนฟาร์ม” ชี้เป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ต้องตรวจสอบ ด้าน “ปารีณา” เผยรู้กฎหมาย ภบท.5 ครอบครองไม่ได้ ปัดไม่ได้แจ้ง ป.ป.ช.เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ใช้สิทธิ์เสียภาษีดอกหญ้าครอบครองเข้าทำประโยชน์มามากกว่า 10 ปี ตั้งแต่ยังไม่ได้เลี้ยงไก่ต่างกับกรณีบุกรุกป่าสงวนฯ
กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอีกปม หลัง น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ พาชาวบ้านร้องเรียนให้รัฐบาลทวงคืนที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่าประมาณ 500 ไร่ใน อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ล่าสุดนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติได้ส่งเอกสารให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบการครอบครองที่ดิน 1,700 ไร่ในพื้นที่เดียวกันของ น.ส.ปารีณา
เมื่อวันที่ 11 พ.ย. นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ เปิดเผยว่า ตนได้ส่งเอกสารคำร้องทางไปรษณีย์อีเอ็มเอสถึง ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบการครอบครองพื้นที่ ภบท.5 ของ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ ตามที่ได้ยื่นแจ้งบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ไว้ในปี 2562 ว่า มีที่ดิน ภบท.5 อยู่ในครอบครอง 58 รายการ เนื้อที่ 1,706 ไร่ ที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี เป็นการครอบครองถูกต้องหรือไม่ ซึ่งตนตามเก็บข้อมูลมาระยะหนึ่งแต่มาสะดุดใจกรณีที่ น.ส.ปารีณานำชาวราชบุรีขอคืนที่ดิน ภบท.5 ประมาณ 500 ไร่ จากนางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดาของนายธนาธร จึงไปค้นข้อมูลดูพบว่าเป็นที่ดินในตำบลเดียวกัน โดยเฉพาะ น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์ ยอมรับว่า ครอบครองที่ดินดังกล่าวนานแล้วนั้นยิ่งเป็นการมัดความผิด เพราะที่ ภบท.5 ตามกฎหมายไม่สามารถครอบครองได้
...
ขณะที่ น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ให้สัมภาษณ์กรณีนายเรืองไกร ยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้ตรวจสอบที่ดิน ภบท.5 กว่า 1,700 ไร่ ในพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี ผ่าน “รายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand เปิดความลับ” ทางช่อง 9 อสมท เอ็มคอตเอชดีว่า ที่ดินดังกล่าวได้มานานมากแล้ว เป็นที่ดินที่กรมป่าไม้อนุญาตให้เข้าทำกินได้ ทำกินมานานแล้วและได้เสียภาษีดอกหญ้ามามากกว่า 10 ปี และเสียทุกครั้งที่เรียกเก็บทำอย่างถูกต้อง เมื่อถามว่าที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แต่ได้รับการจัดสรรจากกรมป่าไม้ น.ส.ปารีณาตอบว่า ไม่ได้รับการจัดสรร เราสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้แต่จะต้องเสียภาษี เมื่อถามต่อว่า ใครอนุญาตให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ น.ส.ปารีณาตอบว่า มันเป็นกฎหมาย คือใครเข้าไปใช้ประโยชน์ได้แต่จะต้องเสียภาษี และเป็นการใช้ประโยชน์ด้านการเกษตร ซึ่งครอบครองมานานตั้งแต่ยังไม่ได้เลี้ยงไก่ มีการปลูกอ้อย ปลูกส้ม เลี้ยงหมู ทำมาหลายอย่างหลายแบบมานาน
เมื่อถามต่อว่า นายเรืองไกรไปค้นข้อมูลว่ามีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.เมื่อปี 2557 แต่ไม่ได้มีการระบุถึงพื้นที่ 1,700 ไร่นี้เลย เป็นการได้มาหลังปี 2557 หรือไม่ น.ส.ปารีณาตอบว่า ไม่ใช่ได้มา ไม่มีใครได้ไปทั้งนั้น เป็นที่ของหลวง แต่ว่าเราเข้าไปทำประโยชน์ได้พื้นที่ ภบท.5 มีเยอะมากทั่วประเทศไทย ปัจจุบันเกษตรกรทุกคนทำลักษณะเดียวกับตนทั้งนั้น คือครอบครองทำกินเสียภาษี แต่ไม่มีเอกสารสิทธิ เป็นการจ่ายภาษีคล้ายภาษีดอกหญ้า เราไปแจ้งบัญชีทรัพย์สินไม่ได้เพราะไม่ใช่ของของเรา บัญชีทรัพย์สินคือต้องเป็นทรัพย์สินของเราแต่นี่ไม่ใช่ของเราแต่เป็นทรัพย์สินของกรมป่าไม้ของหลวงเลยไม่ได้แจ้ง ป.ป.ช. แต่ปัจจุบันบัญชีทรัพย์สินปี 2562 ป.ป.ช.ขอให้แจ้ง แต่ไม่ได้แจ้งว่าเราเป็นเจ้าของ ถ้าดูรายละเอียดให้ดีคือ การประเมินราคาประเมินด้วยความลำบากมาก เพราะกรมที่ดินไม่รับประเมิน เพราะเป็นป่า ก็ใส่อะไรไปก็ได้เพราะเราไม่มีความสามารถในการประเมินได้อยู่แล้ว แต่ว่า ป.ป.ช.ขอความร่วมมือว่า ถ้ามีที่ดินประเภทของกรมป่าไม้ที่เข้าไปทำกินอยู่ให้แจ้งด้วยจึงได้แจ้งไป
เมื่อถามว่า ที่ดินที่เรียกว่า ภบท.5 ซึ่งเรียกว่าที่ดินมือเปล่า ใครเข้าไปครอบครองไม่ได้ จึงอาจเรียกว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์หรือเข้าไปบุกรุกในที่ต้องห้าม น.ส.ปารีณาตอบว่า แตกต่างกันระหว่างเข้าไปทำประโยชน์กับการเข้าไปบุกรุก คือที่ดินของป่าไม้ ภบท.ต่างๆมีหลายประเภท ป่าไม้เองมีป่าชุมชน เช่น กรณีที่นางสมพร มารดาของนายธนาธร ถูกชาวบ้านขอคืน และมีประเภทแบบป่าไม้สงวนรกร้าง ที่เข้าไปทำประโยชน์ได้เลย และป่าไม้ประเภทที่ไม่อนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเห็ดหรือหาอึ่ง ดังนั้น คนอาจจะสับสนว่า บางคนทำไมถูกข้อหาบุกรุกและต้องติดคุก ซึ่งการบุกรุกที่ป่าไม้มันติดคุกอย่างเดียว แต่ว่าบางประเภทเป็นป่าสงวนรกร้าง หรือป่าชุมชน แต่คนอาจจะไปตีรวมกันหมดว่าเป็นการบุกรุก
เมื่อถามว่า ที่ดิน ภบท.5 ของ น.ส.ปารีณา และนางสมพร ต่างก็อยู่ในเขต ต.รางบัว อ.จอมบึงเหมือนกัน น.ส.ปารีณาตอบว่า ตนอยู่หมู่ 6 นางสมพร อยู่หมู่ 13 ของเขาคาบเกี่ยว 3 หมู่บ้าน ของนางสมพร มี ภบท. 5 กับ นส. 2 ซึ่งชาวบ้านขอคืนเพื่อไปทำป่าชุมชน
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า มีคนส่งคลิปทั้งเสียงและภาพที่ น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์ มาให้เยอะมาก ตนได้สอบถามและสั่งการไปยังกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบและให้รายงานมาที่ตนเร็วที่สุด ตนมี 2 มุมมอง คือ เรื่องการแจ้งบัญชีทรัพย์สินที่ น.ส.ปารีณาได้จ่ายภาษีส่วนไหนก็ให้แจ้งส่วนนั้นด้วย ถ้าไม่แจ้งจะกลายเป็นอีกเรื่องหนึ่ง และเรื่องของการครอบครองพื้นที่ป่าที่กำลังตรวจสอบว่าอยู่ในระยะเวลาไหนอย่างไร และต้องไปดูที่ต้นตอการได้มา คืออาจจะมีการเสียภาษีภบท.5 มาก่อนหน้านี้ และเสียไปเรื่อยๆโดยไม่มีการตรวจสอบใดๆ และหากเป็นการบุกรุกพื้นที่ป่าจริงต้องดำเนินการตามกฎหมาย
ขณะที่นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้กล่าวว่า ผลการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นที่ตั้งพื้นที่หมู่ 6 ต.รางบัว อ.จอมบึง จ.ราชบุรี จำนวน 58 แปลง เนื้อที่ 1,706 ไร่ ลักษณะการใช้ประโยชน์บางส่วนเป็นที่ตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่ชื่อ “เขาสนฟาร์ม” จากการตรวจสอบภาพถ่ายทางอากาศบริเวณที่ตั้งโรงเลี้ยงไก่เกือบทั้งหมด เดิมอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี พ.ศ.2527 ปัจจุบันกรมป่าไม้ส่งมอบ ส.ป.ก.ประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเมื่อปี พ.ศ.2554 หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก.ที่จะเข้ามาตรวจสอบต่อ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า การครอบครองที่ดินภบท.5 ถือเป็นการครอบครองที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิใดๆรองรับ เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484 มาตรา 54 (30) ห้ามมิให้ผู้ใดก่อสร้าง แผ้วถางหรือเผาป่า หรือกระทำการด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น มาตรา 55 ผู้ใดครอบครองป่าที่ได้ถูกแผ้วถางโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตราข้างต้น ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลนั้นเป็นผู้แผ้วถางป่านั้น โดยกรณีการครอบครองที่ดินของ น.ส.ปารีณา เหมือนกับกรณีที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และกรณีเขายายเที่ยงของ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ อดีตนายกฯ เป็นต้น ที่ครอบครองที่ดินมือเปล่าไร้เอกสารสิทธิ ที่สำคัญสิ่งที่ น.ส.ปารีณาให้สัมภาษณ์เหมือนเป็นการรับสารภาพว่าบุกรุกที่ป่าสามารถดำเนินคดีได้เลย เพราะพื้นที่ ภบท.5 ไม่ว่าใครไม่มีสิทธิครอบครอง และไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ ทั้งกระทรวงมหาดไทย ได้ออกกฎว่าไม่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับเก็บภาษีบำรุงท้องที่ เพราะเป็นที่ดินผิดกฎหมาย และเป็นความเข้าใจผิดของชาวบ้านว่าเสียภาษีดอกหญ้าแล้วจะเป็นการทำตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่ดินของนางสมพรนั้นต้องดูเจตนาและการเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ โดยเป็นการซื้อที่ต่อมาจากบุคคลอื่นในลักษณะแปลงรวม เบื้องต้นยังไม่พบการเข้าไปใช้ประโยชน์หรือมีการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ ขณะนี้คณะกรรมการร่วมของกรมป่าไม้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งตรวจสอบพิกัดให้ชัดเจน