“พิชัย” ชี้ ต้องปรับลดงบทหาร หากไทยต้องการเป็นประเทศมีรายได้สูง เผย หลังรัฐประหารปี 49 งบทหารโตเกือบ 3 เท่า ซัด “ชิมช้อปใช้” ล้มเหลว แทบไม่มีผลต่อเศรษฐกิจ

วันที่ 1 ต.ค. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีต รมว.พลังงาน กล่าวว่า ตามที่อ้างว่า งบทหารของไทยไม่เพิ่ม หรือเพิ่มน้อยนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะหากมองย้อนหลังในปี 2549 ก่อนมีการปฏิวัติงบกระทรวงกลาโหม อยู่ที่ 85.9 หมื่นล้านบาท ในปี 2563 งบประมาณกระทรวงกลาโหมอยู่ที่ 2.33 แสนล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 271% หรือ เกือบ 3 เท่า ใน 14 ปี โดยในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ มีการเพิ่มของงบกระทรวงกลาโหมมากสุด โดย 5 ปี เพิ่มเฉลี่ยถึงปีละ 4.37% และมีสัดส่วนถึง 7% ของงบประมาณ ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่า ยังมีการจัดสรร จากงบกลาง และ งบความมั่นคง ไปใช้เพิ่มในด้านการทหารกันอีกมากในแต่ละปี ทำให้ค่าใช้จ่ายเพื่อการทหารของไทยสูงมาก และเป็นสาเหตุหนึ่งว่าทำไมเศรษฐกิจไทยถึงขยายตัวน้อย

ทั้งนี้ เพราะการใช้จ่ายด้านทหาร ไม่ได้สร้างผลดีต่อเศรษฐกิจ เรือดำน้ำไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง ตามที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการพรรค พปชร. เคยพยายามแก้ตัวไว้แบบข้างๆ คูๆ ดังนั้น หากประเทศไทยต้องการจะพัฒนามากขึ้น และต้องการเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ก็ควรจะต้องลดงบใช้จ่ายทางทหารลง เพราะปัจจุบันยังไม่เห็นว่า ไทยจะไปรบกับใคร อีกทั้งรูปแบบการรบในอนาคตอาจเปลี่ยนไป อาวุธยุทโธปกรณ์ที่จัดซื้อในปัจจุบัน อาจจะไม่มีประโยชน์แล้วในอนาคตก็เป็นได้ เท่ากับประเทศเสียเงินฟรี โดยไทยต้องเสียสละโอกาสการพัฒนาของประเทศ และความสุขของประชาชนเพื่อไปซื้ออาวุธ ที่กำลังจะตกยุคหมดสมัยแล้วก็เป็นได้ ดังนั้น หากไทยต้องการพัฒนาเร็วขึ้น งบทหารจะต้องถูกลดลงเพื่อนำมาจัดสรรพัฒนาประเทศในโครงสร้างพื้นฐานด้านอื่นๆ เช่น คมนาคม และการศึกษา เป็นต้น โดยทั้งนี้ หากเป็นไปได้ อยากเสนอให้มีการจัดตั้งกองกำลังร่วมของอาเซียน เพื่อความสามัคคีในกลุ่มประเทศอาเซียน และจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายทางทหารของทุกประเทศสมาชิก เพื่อที่จะได้มีเงินเหลือมาพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกให้เจริญมากยิ่งขึ้น

...

อย่างไรก็ดี การจัดทำงบประมาณในอนาคต ควรจะต้องนำทุกงบมาเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อปรับปรุงให้ทันต่อยุคสมัยและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ

นายพิชัย กล่าวต่อว่า นอกจากการใช้งบทหารและความมั่นคงจำนวนมากแล้ว การจัดสรรงบด้านอื่นก็มีการใช้อย่างสะเปะสะปะ มีการแจกเงินอย่างไม่มียุทธศาสตร์ในโครงการประชารัฐและบัตรคนจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการแจกเงินเที่ยว 1,000 บาท หรือที่เรียกว่า "ชิมช้อปใช้" ซึ่งเป็นการแจกเงินแบบสูญเปล่า แถมยังมีปัญหาการลงทะเบียนที่ทำได้ยาก มีข้อจำกัดปิดกั้นประชาชนจำนวนมาก ที่ไม่มีความชำนาญในการเข้าไปลงทะเบียน และเมื่อเวลาใช้จริงก็เกิดปัญหาระบบล่ม ทำให้ประชาชนจำนวนมาก ต้องทิ้งของที่จะช้อปไว้ในรถเข็นในห้างสรรพสินค้า ซึ่งยิ่งตอกย้ำว่า แจกเงินแล้วเงินตกไปอยู่กับนายทุนเจ้าของห้างสรรพสินค้า และซื้อสินค้าของนายทุนทั้งหมด ประชาชนผู้มีรายได้น้อยไม่ได้รับผลประโยชน์เลย ไม่ต่างอะไรกับนโยบายช้อปปิ้ง แล้วหักภาษีได้ที่รัฐบาลทำอยู่หลายครั้งแล้วต้องยกเลิกไป เพราะพิสูจน์แล้วว่า ไม่เกิดประโยชน์อะไร เป็นการใช้เงินอย่างสูญเปล่าเหมือนกัน อีกทั้งในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ ใครจะมีกะใจไปเที่ยว นอกจากพวกที่มีแผนจะเที่ยวอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้ทำให้มีการเที่ยวมากขึ้น ขนาด รมว.คลัง ยังไม่กล้าตอบเลยว่า ทำโครงการ "ชิมช้อปใช้" แล้ว จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเท่าไหร่ ซึ่งคงแทบไม่มีผลเลย

ทั้งนี้ น่าจะนำเงินจำนวนดังกล่าวไปทำโครงการให้ประชาชนรากหญ้าสามารถนำไปต่อยอดหารายได้เพิ่มขึ้นได้ จะดีกว่ามาก หรือ นำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงสถานท่องเที่ยวให้สวยงามและสะดวกสบาย เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อหารายได้เพิ่มจากการท่องเที่ยว ที่จะมีการกระจายรายได้เข้าสู่ประชาชนทุกระดับมากกว่า

"หากจำกันได้โครงการแจกเงินเที่ยวนี้เคยถูกนำเสนอก่อนการเลือกตั้งแล้ว แต่ถูกสังคมโจมตีหนักมาก จนต้องยกเลิกไป แต่หลังจากเลือกตั้งแล้วก็ยังนำมาปัดฝุ่นทำใหม่ ทำให้คิดว่า รัฐบาลมีกรอบคิดไอเดียเพียงเท่านี้แค่นั้นหรือ ซึ่งย้ำคิดย้ำทำแต่เรื่องไม่เกิดประโยชน์ พลเอกประยุทธ์น่าจะกูเกิลเข้าไปอ่านว่า ตอนก่อนเลือกตั้งถูกด่าไว้อย่างไร และตอนนี้ถูกด่าอย่างไร ซึ่งไม่ต่างกันเลยแต่ก็ยังจะทำ หากกรอบคิดของรัฐบาลมีเท่านี้จริงๆ ก็น่าจะลาออกแล้วให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำแทนจะดีกว่ามาก ประเทศจะได้พัฒนาในแนวทางที่ถูกต้อง ไม่ใช่อยู่ในสภาพแบบทุกวันนี้ ซึ่งขนาดพูดเรื่องกูเกิลเอง ที่บอกว่า “ประชาชนไม่ค่อยเปิด ทำให้ปัญหาเกิดเพราะเขาไม่เรียนรู้” ประชาชนได้ยินกันทั้งประเทศ แต่ยังกล้าบอกว่าถูกบิดเบือน ซึ่งอยู่กันในยุคที่มีเทคโนโลยีขนาดนี้แล้วประชาชนคงตัดสินได้ว่าใครกันแน่ที่บิดเบือน" นายพิชัย กล่าว...