"ภูมิใจไทย" มอบสัดส่วน กมธ.วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ให้ "นักวิชาการ-ภาคประชาสังคม 3 คน" ในสัดส่วนที่ได้รับมา 4 คน เอาจริงต้าน 3 สารพิษ "พาราควอต-ไกลโฟเซต-คลอร์ไพริฟอส"
เมื่อวันที่ 13 ก.ย.62 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม โดย ส.ส.จากทุกพรรคการเมืองต่างอภิปรายไปในทางเดียวกันว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ตัว ประกอบด้วย พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนไทยจำนวนมาก หลังจากสมาชิกได้อภิปรายอย่างกว้างขวาง ที่ประชุมลงมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนน 399 ต่อ 0 เสียง ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญชุดดังกล่าว จำนวน 39 คน
ทั้งนี้เป็นที่น่าสนใจว่า พรรคภูมิใจไทย เสนอชื่อกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาผลกระทบการใช้สารเคมีของสภาผู้แทนราษฎร ในสัดส่วนพรรคภูมิใจไทย 4 ท่าน 1) ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาสุขภาพ โรคอุบัติใหม่ คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.จุฬาฯ แกนนำการต่อต้าน 3 สารเคมี ที่มีมวลชนสนับสนุนจำนวนมาก เป็นที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข 2) รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ นายกสภาเภสัชกรรม เป็นกรรมการวัตถุอันตราย 3) นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) ที่มีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ใหญ่ที่สุด 4) นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ที่มีท่าทีไม่เห็นด้วยกับการใช้สารเคมีอันตรายในภาคการเกษตร ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของพรรคภูมิใจไทย ในการขับเคลื่อนนโยบายคัดค้านการใช้สารเคมีทางการเกษตร
การมอบสัดส่วนในคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ที่มีสัดส่วนนักวิชาการและภาคประชาสังคม ถึง 3 คน ที่มีแนวทางต่อต้านการใช้สารเคมีพิษภาคการเกษตรนั้น แสดงให้เห็นว่าพรรคภูมิใจไทยเอาจริงกับเรื่องนโยบาย แบนสารเคมีพิษภาคการเกษตร ทั้ง 3 ตัวคือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส โดยที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย และ นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศเป็นนโยบายอย่างเป็นทางการ ในการแบนสารเคมีทั้ง 3 ชนิดดังกล่าว โดยให้นโยบายกรมวิชาการเกษตร หยุดอนุญาตนำเข้าไปแล้ว
...