หม่อมอุ๋ย-สมเกียรติ ขึ้นเวทีอนาคตใหม่ ถล่มรัฐธรรมนูญ พลังประชารัฐโว-ไร้องครักษ์ เย้ยเพื่อไทยค้านตลอด 4 ปี

“พุทธิพงษ์” มั่นใจ “บิ๊กตู่” เข้าสภาฯตอบฉลุยปมถวายสัตย์ฯ ไม่ต้องตั้งองครักษ์พิทักษ์นาย ทีมโทรโข่ง พปชร.ท้า พท.ตรวจสอบเข้มข้นครบเทอม 4 ปี เหน็บ ส.ส.อนาคตใหม่ทิ้งพื้นที่มัวยุ่งแก้รัฐธรรมนูญ “จุลพันธ์” ตื๊อ “ชวน” กล้าหาญร่นวันอภิปราย 16 ก.ย. ปชป.เกียร์ว่างไม่ส่ง ส.ส.พรรคช่วยอภิปราย ยันไม่มีหน้าที่เป็นองครักษ์ใคร “สุทิน” ขู่มีข้อมูลขย่มตอบสังคมยาก “ปิยบุตร” นำทีม 6 ขุนพลซักฟอก อนค.เปิดเวทีปลุกพลังสังคมกลาง ม.ขอนแก่น “ปรีดิยาธร-ประธานทีดีอาร์ไอ” ร่วมวง “หม่อมอุ๋ย” เฉ่ง รธน.ปี 60 เอื้อทหารสืบทอดอำนาจ “สมเกียรติ” จวกรวมศูนย์ใต้อุ้งมือคนกลุ่มเดียว “ธนาธร” อัดรัฐบาลนึกถึงแต่ความอยู่รอดของตัวเอง “นิด้าโพล-สวนดุสิตโพล” สะท้อนชาวบ้านมองรัฐบาลไม่มีความสามารถแก้เศรษฐกิจ วิตกกังวลของแพง-การบริหารงานของรัฐบาล

ก่อนจะถึงวันประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณตนไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญในวันที่ 18 ก.ย. ฝ่ายรัฐบาลมีเวลาแก้ปัญหาและเตรียมพร้อมแล้วจนแสดงความมั่นใจได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหมจะตอบชี้แจงต่อสภาฯได้อย่างชัดเจน ขณะที่พรรคฝ่ายค้านยืนยันไม่ได้จ้องล้มรัฐบาล แต่ต้องการใช้เวทีสภาฯเสนอแนะการแก้ปัญหา

“พุทธิพงษ์” โว “บิ๊กตู่” แจงได้ชัดถวายสัตย์ฯ

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงการรับมือการอภิปรายโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา152 กรณีถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 161 ว่า ไม่มีปัญหาอะไรเชื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม จะไป ตอบข้อซักถามด้วยตัวเอง และสามารถชี้แจงได้อย่างชัดเจน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์พูดหลายครั้งแล้วว่าปฏิบัติตามขั้นตอน แต่เมื่อฝ่ายค้านขอใช้สิทธิตามระบอบรัฐสภาเพื่อขอเปิดอภิปราย พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมใช้สิทธิตัวเองในการชี้แจง เมื่อชี้แจงแล้วทุกอย่างน่าจะจบ แต่ตอบไม่ได้ว่าหลังวันที่ 18 ก.ย.ฝ่ายค้านยังจะหยิบยกประเด็นนี้มาพูดกันอีกหรือไม่

...

คุยไม่ต้องตั้งองครักษ์แต่ขู่ประท้วง

นายพุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ขณะที่พรรค พปชร.เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่และพร้อมอยู่แล้ว ไม่ต้องตั้งองครักษ์พิทักษ์นายกรัฐมนตรี คิดว่าก่อนประชุมนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรอธิบายกรอบของการอภิปรายให้สมาชิกได้รับทราบ หากฝ่ายค้านอภิปรายเกินเลยนอกประเด็นหรือผิดข้อบังคับ ส.ส.ของฝ่ายรัฐบาล สามารถประท้วงให้เป็นไปตามข้อบังคับได้อยู่แล้ว เมื่อถามว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ฝ่ายรัฐบาลจะเสนอเปิดประชุมลับ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การประชุมลับมีข้อดี เพราะประเด็นการถวายสัตย์ปฏิญาณนั้นอาจมีเนื้อหาที่กระทบ– กระเทือนในหลายมิติ จึงเห็นว่าถ้าประชุมลับได้จะเป็นเรื่องดี เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยว่าในการอภิปรายนั้นไม่ควรมีประเด็นที่กระทบกระเทือนสถาบันหลักของชาติ เป็นเรื่องที่ควรระมัดระวัง แต่หากมติของสมาชิกเห็นว่าไม่ควรเปิดประชุมลับ เราพร้อมเห็นด้วยตามมติส่วนใหญ่

เชียร์ พท.ตรวจสอบเข้มข้นครบ 4 ปี

นายธนกร วังบุญคงชนะ รองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทย ระบุว่าเตรียมจัด ส.ส.ประสบการณ์สูงมาเป็นกรรมาธิการตรวจสอบรัฐบาลว่า ดีมากที่พรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมฝ่ายค้านจะใช้เวทีสภาฯตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างเข้มข้น สมกับเป็นฝ่ายค้านยุคใหม่จะคอยตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล จะก่อให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชน ดีกว่าการใช้วาทกรรมโจมตีไปวันๆ และเชื่อว่าฝ่ายค้านคงต้องทำหน้าที่อย่างเข้มข้น 4 ปีจนครบวาระ พร้อมจะให้ กมธ.ตรวจสอบเต็มที่ นายกฯกำชับให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงทำงานโปร่งใส ไม่ให้มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันเด็ดขาด มั่นใจนายกฯเพราะซื่อสัตย์สุจริต จะไม่ให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันเหมือนรัฐบาลในอดีต โดยเฉพาะการทุจริตจำนำข้าวที่รัฐบาลนี้ต้องมาชดใช้หนี้อยู่

เหน็บ อนค.ทิ้งพื้นที่มัวแต่ยุ่งแก้ รธน.

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.และรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ได้ลงพื้นที่พบประชาชนในชุมชนวัดราชวรินทร์ แขวงสำเหร่และแขวงบุคคโล เขตธนบุรี เพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องราวร้องทุกข์ หลังได้รับร้องเรียนจากประชาชนถึงปัญหายุงลายในชุมชน ปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันและไม่มีไฟฟ้าส่องสว่างในจุดเสี่ยง จึงรับเรื่องไว้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาแก้ไขโดยเร่งด่วน ได้ตั้งทีมขึ้นมาดูแลพื้นที่อย่างใกล้ชิด หลัง จากนี้จะลงพื้นที่พบปะประชาชนเพื่อรับทราบปัญหาเพื่อช่วยแก้ไข และชี้แจงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป น่าเสียดายที่ ส.ส.ในเขตพื้นที่ไม่ได้ดูแลชุมชนอย่างใกล้ชิด ทำให้ปัญหาต่างๆไม่ได้รับการแก้ไข จนชาวชุมชนบ่นว่าได้รับเลือกตั้งเข้าสภาฯแล้วทิ้งพื้นที่ทิ้งประชาชน มุ่งแต่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขอให้ลงไปดูแลแก้ไขปัญหาของชาวชุมชนบ้าง หลังจากทราบข่าวนี้คงจะพาหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ลงพื้นที่ เพื่อสร้างกระแสเหมือนเดิม

พท.โหวตลับเลือกประธาน กมธ.

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการคัดเลือกประธานกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคที่ได้รับจัดสรร 10 คณะว่า ผู้จะมาเป็นประธานกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรค ต้องเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ เป็น ส.ส.อาวุโสที่ได้รับการยอมรับจากเพื่อนสมาชิกในพรรค เข้าใจกระบวนการทำงานของสภาฯเป็นอย่างดี ส่วนประสบการณ์ว่าต้องเคยเป็น ส.ส.กี่สมัย ถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาของแต่ละภาค วิธีการคัดเลือกขึ้นอยู่กับประธานแต่ละภาคจะกำหนดวิธีการ แต่ที่สุดแล้วกระบวนการคัดเลือกจะใช้ระบอบประชาธิปไตย ให้สมาชิกแต่ละภาคลงคะแนนลับเพื่อเลือกประธานกรรมาธิการในสัดส่วนของภาคด้วยการโหวตลับ โดยจะประชุมเพื่อโหวตกันในวันที่ 10 ก.ย.

ให้อดีต ปธ.กมธ.–รมต.เป็นที่ปรึกษา

นายสุทิน คลังแสง ประธานคณะกรรมาธิการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน กล่าวว่าจะให้สมาชิกสร้างกรอบการพิจารณากันเอง โดยพรรคจะให้ความเห็นประมาณ 30% เท่าที่ทราบแต่ละภาคสร้างกรอบกัน ว่าประธานกรรมาธิการต้องมีความอาวุโสมีความรู้ความสามารถเหมาะสมและตรงกับกรรมาธิการชุดนั้นๆ และให้โอกาสกับคนที่ยังไม่เคยเป็นประธานกรรมาธิการ รวมทั้งไม่เคยเป็นรัฐมนตรีมาก่อนให้ทำหน้าที่ ส่วนคนที่เคยเป็นรัฐมนตรีและประธานกรรมาธิการมาแล้ว จะทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำการทำงาน ซึ่งสัดส่วนในพรรคยังเหมือนเดิมโดยภาคอีสานจะมีกรรมาธิการ 6 คน ให้สมาชิกในภาคเลือกกันมา 5 คน ส่วนกลางช่วยเลือก 1 คน ภาคเหนือ 2 คน สมาชิกเลือกกันมา 1 คน ส่วนกลางช่วยเลือก 1 คน ภาคกลางและ กทม. จะมีทั้งหมด 2 คน ให้สมาชิกเลือก 1 คน และส่วนกลางจะเลือก 1 คน วันที่ 10 ก.ย. พรรคจะประชุม เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวและทุกอย่างจะชัดเจน

ล็อกเป้าขยี้ “บิ๊กตู่–วิษณุ” 2 ปมร้อน

นายสุทิน ยังกล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามมาตรา 152 กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณและการแถลงนโยบายที่ไม่กำหนดแหล่งที่มาของวงเงินงบประมาณ วันที่ 18 ก.ย.ว่า การอภิปรายจะพุ่งเป้าไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เพราะนายกฯเป็นผู้รู้เรื่องการถวายสัตย์ฯ ดีที่สุด และนายวิษณุเป็นมือกฎหมายของรัฐบาล จึงรู้เหตุผลว่าทำไมการแถลงนโยบายไม่แสดงที่มาของงบประมาณ ที่ผ่านมานายวิษณุได้ปกป้องและบิดเบือน 2 เรื่องที่อยู่ในญัตตินี้ตลอด ส่วนผู้อภิปรายหลักยังไม่ได้กำหนดชัดเจน แต่พรรคมีข้อมูลอยู่แล้วจะแสดงให้เห็นว่า สิ่งที่รัฐบาลทำส่งผลกระทบต่อการบริหารงานปัจจุบันและในอนาคตอย่างไร คิดว่าแม้การอภิปรายครั้งนี้จะไม่มีการลงมติ

แต่เชื่อว่าข้อมูลที่เราจะนำมาเปิดเผยจะทำให้รัฐบาลตอบประชาชนและชี้แจงเหตุผลต่อสังคมได้ยาก ขอเพียงอย่างเดียวว่าหากรัฐบาลรู้ตัวว่าผิดก็ยอมรับผิดอย่างสุภาพบุรุษ เปิดใจกว้างรับฟังคำแนะนำจากพวกเรา อย่าใช้โวหารกำกวมสร้างความไขว้เขวปัดความผิดออกจากตัวแล้วโยนไปให้กับส่วนอื่นที่ไม่สมควร เพราะการกระทำที่เกิดขึ้นเป็นของรัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบด้วยตัวเอง

บี้เลิกสกัดฝ่ายค้านทำกิจกรรมพื้นที่

นายสุทินกล่าวด้วยว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านทั้ง 7 พรรค กำลังมีกิจกรรมฝ่ายค้านสัญจรไปพบประชาชนทุกภูมิภาค เพื่อรับฟังปัญหาและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแต่พบว่ากิจกรรมดังกล่าวได้รับการขัดขวางจากรัฐบาลในหลายรูปแบบ เช่น กดดันมหาวิทยาลัย ไม่ให้ฝ่ายค้านได้ใช้สถานที่ สกัดกั้นประชาชนไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านกลไกของรัฐ เราจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดใจกว้างในเรื่องนี้ เพราะขณะนี้ประเทศเข้าสู่ระบบกติกาประชาธิปไตยปกติแล้ว ไม่ได้อยู่ในอำนาจพิเศษของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บรรยากาศของประเทศควรเปลี่ยนไปจากเดิมได้แล้ว

จี้ “ชวน” กล้าหาญร่นอภิปราย 16 ก.ย.

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การที่สภาฯจัดให้อภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 วันที่ 18 ก.ย. วันสุดท้ายในสมัยประชุมนี้เชื่อว่ารัฐบาลมีเจตนาไม่บริสุทธิ์ ต้องการให้การอภิปรายของพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่ต่อเนื่อง ขาดเนื้อหาสาระสำคัญ รวมทั้งมีเวลาน้อย เพราะสุดท้ายสภาฯจะเร่งการอภิปรายต้องตัดผู้อภิปรายของ พรรคร่วมฝ่ายค้านให้ใช้เวลาที่มีจำกัด เพราะต้องยุติก่อนเวลา 24.00 น. รวมทั้งจะมีการเล่นเกมในสภาฯ มีแนวโน้มว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะมีการจัดทีม ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลประท้วงการทำหน้าที่ของฝ่ายค้าน จนทำให้การอภิปรายไม่ต่อเนื่องและไม่ได้สาระสำคัญ การกำหนดวันอภิปรายเป็นอำนาจของประธานสภาฯ จึงอยากให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯใช้อำนาจกำหนดวันอภิปราย วันที่ 16 ก.ย. เหมาะสมจะเป็นผลดีต่อทุกฝ่าย ทางรัฐสภาต้องกล้าหาญที่จะดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

ชาวบ้านรำคาญบทตบจูบซ้ำซาก

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีพรรคประชาธรรมไทยยืนยันยังไม่ได้ถอนตัวจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล พรรคพลังประชารัฐและพรรคเล็กจะเจรจาต่อรอง ข่มขู่ กดดัน เรียกรับ ผลประโยชน์เมื่อไม่ได้ก็โวยวาย แต่เคลียร์กันเสร็จพลิกลิ้นกลืนน้ำลายเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ไม่ควรทำให้เกิดข่าวลักษณะนี้บ่อยครั้ง เพราะทำให้ประชาชนสิ้นหวังและน่ารำคาญ ขณะที่ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจรัฐบาลยังแก้ไม่ได้ ปัญหาภัยแล้งน้ำท่วมกลับมาซ้ำเติม พวกท่านจะแยกห้องรวมห้องขอให้เป็นเรื่องภายใน อย่าใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อเจรจาต่อรองจะตบจูบกันอย่างไรไปทำกันหลังม่าน ไม่ต้องมาโชว์ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คิดว่าการที่ได้เป็นนายกฯอีกรอบ เพราะมี ส.ว. 250 คนช่วยโหวต ขณะที่ พรรคเล็กคิดว่าตัวเองมีความสำคัญ ข่าวลักษณะนี้เกิดขึ้นหลายครั้งในรัฐบาลนี้เริ่มต้นเป็นงูเห่า ลงท้ายเป็นแค่ลิงงอแงอยากได้กล้วย พอให้กล้วยกินอิ่มก็เงียบ

สวด “สมคิด” แกว่งปากหาเรื่องใส่ตัว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ พบกับประธานบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย แปซิฟิค แต่จากนั้นออกมาพูดตำหนิกับสื่อมวลชนว่าเป็นพวกตกยุคเห็นแก่ตัวนั้น ขอเตือนว่าคนเป็นรองนายกฯดูแลเศรษฐกิจต้องระวัง ยิ่งเศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ควรคิดในใจ คำพูดเหล่านี้กล่าวหารุนแรง กระทบความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทยอย่างมาก เขาถือว่ารัฐบาลไทยตบหน้าฉาดใหญ่กับบริษัทโตโยต้า คำพูดลักษณะเช่นนี้อันตราย รัฐบาลมีหน้าที่เชื้อเชิญด้วยเงื่อนไขที่ส่งเสริมการลงทุนไม่มีหน้าที่ไปด่า รัฐบาลควรงดใช้ปากพูดสิ่งที่ไม่เป็นผลดีต่อประเทศ แต่ควรไปทบทวนว่าได้ส่งเสริมด้านต่างๆที่จะสนับสนุนให้มีรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นขนาดไหน และระวังเรื่องนี้จะลุกลามไปถึงอีอีซีที่กำลังลูกผีลูกคนอยู่ในขณะนี้

อนค.จัด 6 ขุนพลซักฟอก “ประยุทธ์”

ที่ จ.ขอนแก่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงความพร้อมและการจัดทีมผู้อภิปรายของพรรคอนาคตใหม่กรณีการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนของนายกฯในวันที่ 18 ก.ย. ว่า เราเตรียมผู้อภิปรายไว้ 6 คน ตนจะเป็นคนเปิดตั้งใจว่าจะใช้เวลา 60 นาที จากนั้นอีก 5 คนจะขยายรายละเอียดต่อ ทั้งเรื่องการถวายสัตย์และเรื่องผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเกิดจากความไม่แน่นอนว่าการถวายสัตย์ฯไม่ครบถ้วนจะส่งผลต่อคณะรัฐมนตรีหรือไม่ นอกจากนั้นยังมีเรื่องการแถลงนโยบายที่ไม่ระบุที่มาของงบประมาณ เข้าใจว่านายกฯต้องปฏิบัติภารกิจ แต่ขอให้ท่านมาสภาฯ อย่าพยายามหาช่องทางขอเปิดประชุมลับหรือเร่งปิดประชุม หรือประท้วงจนไม่ได้อภิปรายกัน เชื่อว่าการอภิปรายครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อ ครม.ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการจะล้มรัฐบาล ถ้าจะล้มรัฐบาลคงขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้ว แต่เราต้องการช่วยกันแก้ไขปัญหาให้รัฐบาล โดยใช้วิถีทางของรัฐสภา ต้องเปิดโอกาสให้คนที่เสนอญัตติได้อภิปรายก่อน ไม่เห็นความจำเป็นที่ฝ่ายรัฐบาลต้องประท้วง

ยุชาวบ้านส่งเสียงดังๆหมดยุค คสช.

นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงกรณีเวทีบรรยายสาธารณะและเวทีสานเสวนาเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เข้าร่วมถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐจนต้องย้ายสถานที่จัดงานว่า สะท้อนให้เห็นว่าแม้เราจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่เสรีภาพในการรณรงค์มีอยู่จริงหรือไม่ ประชาชนต้องช่วยกันออกมาส่งเสียงว่าตอนนี้หมดยุค คสช.แล้ว ขอให้คืนความเป็นปกติสู่สังคมไทย การรณรงค์เพื่อร่างรัฐธรรมนูญต้องเดินสายอีกหลายจังหวัด หลายมหาวิทยาลัย หวังว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เพราะสิ่งที่จัดขึ้นเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง แต่ไม่คิดว่าแรงกดดันเช่นนี้จะทำให้การหาฉันทามติร่วมกันของประชาชนและพรรคการเมืองทำได้ยากขึ้น ดังนั้นอยากเรียกร้องไปยังประชาชนว่าเมื่อใดก็ตามที่เราจัดงานแล้วประชาชนเห็นด้วย และอยากมาร่วมฟัง แทนที่จะดูเฟซบุ๊กไลฟ์หรือคลิปอยู่ที่บ้าน แต่ขอให้รวมพลังตามไปฟัง เพื่อให้เขาเห็นว่ายิ่งพยายามยกเลิกหรือจำกัดเสรีภาพ ประชาชนไม่ยอมยังเดินทางไปรับฟังอยู่ดี

“ปรีดิยาธร–ทีดีอาร์ไอ” ร่วมถล่ม รธน.

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น พรรคอนาคตใหม่ จัดงานเสวนา “จินตนาการใหม่ ข้อตกลงใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” โดยมีนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ นายบัวพันธ์ พรหมพักพิง อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ร่วมเสวนา

“หม่อมอุ๋ย” ฉะเอื้อทหารสืบอำนาจ

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันนี้ พ่อค้าแม่ค้าขายของไม่ได้ สิ่งนี้เกิดจากทั้งสองปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ในส่วนของภายนอกเกิดจากประเทศมหาอำนาจทะเลาะกัน แต่ปัจจัยที่มากกว่านั้น คือปัจจัยภายในที่ทุกคนไม่ได้พูดกัน เพราะรัฐบาลแก้บ้างไม่ได้แก้บ้าง รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นการเอื้อให้กลุ่มทหารกลุ่มหนึ่งสืบทอดอำนาจ แต่หากเราได้คนที่เก่งและมีความเป็นผู้นำเป็นนายกรัฐมนตรี ประเทศยังไปต่อได้ แต่เราไม่ได้มีแบบนั้น ทำให้รัฐบาลพลเรือนในปัจจุบันไปต่อไม่ได้

เฉ่งรวมศูนย์ไว้แค่คนกลุ่มเดียว

นายสมเกียรติกล่าวว่า เรื่องรัฐธรรมนูญไม่มีผลกับปากท้องของประชาชนมากนัก แต่จะมีผลโดยตรงต่อการกำหนดอำนาจทางการเมืองในส่วนของ การรวมศูนย์อำนาจ ที่จะจำกัดอำนาจแค่เพียงคนกลุ่มเดียว คิดว่าการแก้ปัญหาโดยการใช้กฎหมายนั้นไม่สามารถใช้ได้ แต่ต้องใช้การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนในสังคม วิธีการแก้โดยใช้ยุทธศาสตร์ชาติ เป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจงเกินไป และไม่สะท้อนกับความเป็นจริง เพราะกว้างเกินไป

“ธนาธร” อัด รบ.นึกถึงแต่ตัวเองอยู่รอด

ด้านนายธนาธรกล่าวว่า สำหรับปัญหาน้ำท่วมรัฐบาลผสมในตอนนี้ ย่อมคิดถึงความอยู่รอดทางการเมืองมากกว่าการเมืองที่เป็นธรรม เมื่อรัฐบาลเกิดจากการรวมตัวของหลายพรรคการเมือง ปัญหาการจัดการลุ่มแม่น้ำชี ที่มีถึง 6 กระทรวง รัฐมนตรี 14 คน ที่เกี่ยวข้อง ต่างพรรคย่อมมีความเห็นต่างกัน การขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจย่อมเป็นไปไม่ได้ แม้จะเป็นปัญหาที่ทับถมมาหลายทศวรรษ รัฐบาลผสมย่อมไม่ได้มองเรื่องการแก้ปัญหาระยะยาว กติกาการเลือกตั้งที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนในโลกเกิดขึ้นที่ประเทศไทย อำนาจของประชาชนลดน้อยลงกลับไปเพิ่มอำนาจที่มาจากการแต่งตั้งโดยพวกของตัวเอง รัฐบาลไม่ต้องไปฟังเสียงของประชาชน แต่ต้องฟังคณะกรรมการยุทธศาสตร์ เพราะพวกเขามีอำนาจล้มรัฐบาลได้เช่นเดียวกับศาลรัฐธรรมนูญ

ถ้า ก.ม.สูงสุดไม่เป็นธรรมเกิดกลียุค

“ประชาชนไม่มีความหมายในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ หากกฎหมายสูงสุดไม่เป็นธรรมเมื่อไรจะนำไปสู่กลียุค ขณะที่อำนาจในการบริหารทรัพยากรนั้นเป็นอำนาจของฝ่ายการเมือง คำถามที่หลายคนถามคือก่อนแก้รัฐธรรมนูญ เราแก้ปัญหาปากท้องก่อนไม่ดีหรือ แต่ที่ผ่านมา เราแก้ปัญหาปากท้องกันอย่างเดียว โดยไม่มีใครกล้าพูดเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ สังคมไทยยังหาข้อสรุปไม่ได้ว่ากติกาการเมืองที่ดี ที่ทุกคนเห็นร่วมกันเป็นอย่างไร แต่สิ่งสำคัญคือแม้เราจะเห็นต่างกัน แต่เราเห็นต่างกันโดยไม่ต้องเข่นฆ่ากัน หาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ นำไปสู่การสร้างเศรษฐกิจที่เป็นธรรม” นายธนาธรกล่าว

ยกอริยสัจ 4 ทวงคืนอำนาจ ปชช.

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ บรรยายหัวข้อ “การเมืองไทยภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560” จัดโดยหลักสูตรรัฐศาสตรมหาบัณฑิตและหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น โดยนายปิยบุตรกล่าวตอนหนึ่งว่า การ บรรยายวันนี้อยากนำเรื่อง อริยสัจ 4 หัวใจสำคัญของพุทธศาสนามาเพื่อให้สอดคล้องกับนิสิต-นักศึกษา ที่มาร่วมฟัง อริยสัจข้อแรกคือ ทุกข์ ประเทศไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ขณะนี้หลายคนบอกว่าประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง สำหรับตนแล้วปัญหานี้สัมพันธ์กับปัญหาการเมืองแน่นอน เพราะระบอบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลมีเสถียรภาพและมีระบบตรวจสอบเข้มแข็ง จะทำให้เศรษฐกิจดีตามไปด้วย

ปลุกโชว์พลังฉันทามติรื้อ รธน.60

นายปิยบุตรกล่าวอีกว่า ต่อมาคือ สมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ เราจะดูเพียงรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 อย่างเดียวไม่ได้ ต้องย้อนกลับไปดูการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญหลายๆฉบับ รากเหง้าใจความคือประเทศนี้ยังตกลงกันไม่ได้ว่า อำนาจสูงสุดเป็นของใคร นี่คือสาเหตุที่ทำให้ไทยเดินหน้าประชาธิปไตยแล้วสะดุดตลอดเวลา ทำให้รัฐประหารเกิดขึ้นบ่อย และรัฐธรรมนูญถูกฉีกเปลี่ยนบ่อย สำหรับนิโรธ หรือความดับทุกข์ หลายคนอาจบอกว่าเมื่อรัฐธรรมนูญเป็นปัญหาก็แก้ไข แต่เมื่อไปดูพบว่าการเขียนไว้วิธีการแก้ไขนั้นยากมาก มีกลไกต่างๆวางไว้เต็มไปหมด สุดท้ายคือ มรรค หรือหนทางดับทุกข์ แม้การแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าประชาชนคนไทยเกือบทั้งหมดเอาด้วย แสดงพลังปรากฏกายออกมาว่าไม่ต้องการอยู่กับรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างกันเอง ส่งเสียงออกมาให้ผู้มีอำนาจได้ยิน และมาหาฉันทามติคิดว่าเป็นไปได้

ปชป.โต้ไม่ได้นิ่งนอนใจแก้ รธน.

ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หลังมีข้อสังเกตจากบางพรรคการเมืองว่าท่าทีของพรรคดูเงียบไปว่า เงื่อนไขการเข้าร่วมรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์ข้อหนึ่งคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ยืนยันว่าพรรคไม่เคยหยุดดำเนินการเรื่องดังกล่าว แต่เราต้องใช้เวลาพิจารณา โดยพรรคได้มอบให้คณะกรรมการกฎหมายที่มีนายถวิล ไพรสณฑ์ หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายรับผิดชอบดูแล ขณะนี้ได้จัดเตรียมข้อมูลรัฐธรรมนูญย้อนหลังไปทุกฉบับ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญประเด็นที่เราระบุไว้ โดยเฉพาะประเด็นที่รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขยาก เช่น การกำหนดในวาระแรกให้วุฒิสภา ต้องกำหนดให้ความเห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนวุฒิสภาคือ 83-84 คนที่ต้องยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ให้แก้ไขโดยง่าย ขณะที่วาระสามให้มี ส.ส.ร้อยละยี่สิบเห็นชอบ ถือเป็นเรื่องยากในการแก้ไข ยืนยันว่าพรรคไม่ได้นิ่งนอนใจ

อ้างติดน้ำท่วม-สางปัญหาทับถม

นายราเมศกล่าวอีกว่า แต่ที่มีพรรคอื่นบอกว่าทำไมไม่เร่งทำในช่วงนี้ เนื่องจากส่วนหนึ่งมีเรื่องน้ำท่วมทำให้กำลังคนของพรรคทั้งภาคเหนือและภาค อีสาน ต้องลงไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆจำนวนมาก ส่วนที่มีข้อเสนอให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นสิทธิที่จะเสนอได้ แต่ส่วนของพรรคต้องนำเข้าหารือที่ประชุม ส.ส.ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมสภาฯพิจารณาต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้พูดคุยกับพรรคการเมืองอื่น

อ้อนทุกฝ่ายต้องร่วมมือผลักดัน

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นญัตติขอตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ว่า ตอนนี้ต้องรอดูว่าจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯดังกล่าวเมื่อไหร่ จะเริ่มประชุมอย่างไรต่อไป คณะกรรมาธิการฯชุดนี้ต้องประกอบด้วย ส.ส.จากหลายพรรค เป็นสิ่งต้องแสวงหาความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่มีพรรคใดจะทำสำเร็จได้เพียงลำพัง สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรคได้นำเสนอไป ไม่ได้เป็นตัวที่จะประกบกับร่างของฝ่ายค้านที่เสนอไปก่อนหน้านี้ เป็นสิ่งที่เราคิดเองเขียนขึ้นเอง พรรคมีประสบการณ์ในเรื่องนี้แล้ว

ส.ส.พรรคไม่มีหน้าที่เป็นองครักษ์ใคร

นายองอาจยังกล่าวถึงการพิจารณาบุคคลไปเป็นประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญของ สภาฯ 4 คณะว่า การประชุม ส.ส. พรรควันที่ 10 ก.ย. จะพิจารณาเรื่องเกณฑ์การคัดเลือกจะดูประสบการณ์ ความรู้ความสามารถ ความอาวุโส และความสนใจในกรรมาธิการชุดนั้นๆ เมื่อถามถึงเสียงวิจารณ์ว่าบทบาท ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลดลงกว่าตอนเป็นฝ่ายค้านในสภาฯ นายองอาจกล่าวว่า ส.ส.พรรค ยังทำหน้าที่ในสภาฯเต็มที่ ส่วนการทำหน้าที่ตรวจสอบมักจะอยู่กับพรรคฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา ขณะที่การอภิปรายต้องยอมรับว่า ส.ส.รัฐบาลได้เวลาน้อยกว่าฝ่ายค้าน และพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้เป็นแกนนำรัฐบาล ทำให้มีโอกาสนำเสนอเนื้อหาสาระต่างๆน้อยลง แต่ยังคงทำงานไปได้ด้วยดี เมื่อถามว่าจะมี ส.ส.ของพรรคไปช่วยนายกฯชี้แจงญัตติ อภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติวันที่ 18 ก.ย.ด้วยหรือไม่ นายองอาจกล่าวว่า ส.ส.ของพรรคไม่มีหน้าที่ร่วมอภิปรายหรือต้องไปช่วยอะไร เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องของรัฐบาล และเรายังไม่รู้ว่าฝ่ายค้านจะพูดเรื่องอะไรบ้าง

แทงกั๊ก “อภิรักษ์–แป้ง” ชิงผู้ว่าฯกทม.

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรคดูแลพื้นที่ กทม.กล่าวถึงการพิจารณาบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ว่า ยังอยู่ในกระบวนการสรรหาบุคคล มีทั้งผู้สนใจอยากลงสมัครในนามพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ที่พรรคสนใจจะเชิญให้มาลงสมัครในนามพรรค จะนำรายชื่อของทั้ง 2 ส่วนนี้มาพิจารณาคัดเลือก ส่วนก่อนหน้านี้เคยมีชื่อนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน อดีตผู้ว่าฯกทม.อาจกลับมาลงสมัครอีกครั้ง เคยมีคนในพรรคหลายคนสนับสนุนให้นายอภิรักษ์มาลงสมัครผู้ว่าฯกทม. แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.เมื่อไหร่ ทุกคนยังมีเวลาพิจารณาตัดสินใจ เมื่อถามถึงกระแสข่าวที่ว่าเคยมีชื่อนางนวลพรรณ ล่ำซำ ผู้บริหารบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ อาจมาลงสมัครผู้ว่าฯกทม.ในนามพรรค นายองอาจกล่าวว่า ข่าวนี้มีมานานแล้ว หลายครั้งเวลาจะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มักจะมีชื่อนางนวลพรรณเสมอ เราไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นคนหน้าใหม่หรือหน้าเก่า แต่ต้องการคนเป็นนักบริหารมืออาชีพรู้เรื่องงาน กทม.และพร้อมจะเข้าไปทำงานได้จริง

ชี้คนกรุงแยกแยะการลงคะแนน

เมื่อถามว่า ผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมา พรรคไม่ได้ ส.ส.กทม.เลย การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ครั้งนี้จะวางกลยุทธ์อย่างไร นายองอาจ กล่าวว่า คน กทม.จะพิจารณาลงคะแนนเลือกตั้งแต่ละครั้งต่างกัน จะดูองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งครั้งนั้น ยกตัวอย่างการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ประชาชนจะดูตัวผู้สมัคร นโยบาย ความสามารถในการบริหารงานและพรรคการเมืองที่สังกัด ส่วนการเลือกตั้งทั่วไปเป็นเรื่องระดับชาติ คน กทม.จะดูการไปเป็นรัฐบาลและแนวทางการนำประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้ เห็นได้ว่าการตัดสินใจของคน กทม.จะแยกเป็นเรื่องๆไป

ทีม กทม.สัมมนาเตรียมเลือกตั้ง

ช่วงเช้า ที่พรรคประชาธิปัตย์ คณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ จัดสัมมนา “รวมพลัง กทม.ปชป.สู่ชัยชนะ ครั้งที่2” มีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และประธานคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์ กทม. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ประธานคณะกรรมการกระจายอำนาจ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตผู้ว่าฯกทม.อดีต ส.ส.กทม. อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และอดีตสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) ประธานสาขาพรรคใน กทม.เข้าร่วม โดยนายอภิรักษ์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ลงสมัครผู้ว่าฯกทม.สมัยแรกเมื่อปี 2547 ผ่านมา 15 ปีสิ่งต่างๆเปลี่ยนแปลงตามไป ชาว กทม.รวมถึงผู้ใช้ชีวิตในกรุงเทพฯมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปท่ามกลางโลกสมัยใหม่ยุคอินเตอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ แต่ปัญหาพื้นฐานของประชาชนยังใกล้เคียงเหมือนเดิม โลกสมัยใหม่ควรปรับตัวนำเทคโนโลยีและเครือข่ายสังคมออนไลน์มาใช้ประโยชน์เชื่อมโยงกับประชาชนกลุ่มต่างๆให้มีส่วนร่วมพัฒนากรุงเทพฯ ทำให้ประชาชนสัมผัสได้ว่าเราเปลี่ยนแปลง ร่วมสมัยเข้าใจโลก รวมพลังกันทุกภาคส่วนผ่านการสื่อสารด้วยสื่อโซเชียล เดินหน้าแก้ปัญหาต่างๆโดยไม่ต้องรอให้มีการเลือกตั้งก่อน

โพลชี้ รบ.ไม่มีความสามารถแก้ ศก.

วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้นหรือไม่” จาก 1,260 หน่วยตัวอย่าง โดยเมื่อถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในปัจจุบัน พบว่าส่วนใหญ่หรือร้อยละ 46.67 ระบุว่ารัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ร้อยละ 29.21 ระบุว่าสินค้าแพง รายได้ต่ำ ร้อยละ 24.13 ระบุเป็นผลกระทบจากภาวการณ์เศรษฐกิจโลก ร้อยละ 22.54 ระบุว่านักการเมืองไม่สนใจแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจริงจัง ร้อยละ 20.79 ระบุราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ร้อยละ 13.65 ระบุเป็นผลกระทบจากภัยทางธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น

มองเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับรื้อ รธน.

เมื่อถามถึงความเชื่อของประชาชนหากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ ร้อยละ 32.14 ระบุว่าไม่เชื่อ เพราะปัญหาเศรษฐกิจไม่เกี่ยวกับการแก้รัฐธรรมนูญ ขณะที่บางส่วนระบุว่าแก้ไปก็ไม่มีประโยชน์ แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลและขึ้นอยู่กับประชาชนมากกว่าร้อยละ 22.38 ระบุว่าค่อนข้างเชื่อ เพราะถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว รัฐบาลน่าจะสนใจการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และดึงดูดชาวต่างชาติมาลงทุนในประเทศมากขึ้น เป็นต้น

วิตกของแพง–การบริหารของ รบ.

ด้านสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,172 คน เกี่ยวกับความวิตกกังวลของคนไทยที่มีต่อ “การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม” ณ วันนี้ โดยในด้านการเมือง ร้อยละ 43.76 วิตกกังวลเรื่องการบริหารงานของรัฐบาล ร้อยละ 38.83 วิตกกังวลเรื่องพฤติกรรมของนักการเมือง ร้อยละ 33.20 การทุจริตคอร์รัปชัน เป็นต้น ในด้านเศรษฐกิจ ร้อยละ 62.39 ประชาชนวิตกกังวลเรื่องของแพง ค่าครอง ชีพสูง ร้อยละ 35.05 รายได้ไม่พอกับรายจ่าย มีหนี้สิน ร้อยละ 22.75 เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำ เป็นต้น สำหรับด้านสังคม ร้อยละ 54.81 ประชาชนวิตกเกี่ยวกับอาชญากรรมและความรุนแรง ร้อยละ 29.45 จิตสำนึกของคนในสังคม ร้อยละ 23.31 สถานการณ์น้ำท่วมและภัยแล้ง เป็นต้น

คนกรุงยังไม่มีว่าที่ผู้ว่าฯในดวงใจ

ขณะที่นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล นำเสนอผลสำรวจภาคสนาม เรื่อง สเปกของผู้ว่าฯ กทม.ที่คนกรุงต้องการ จำนวน 1,060 ตัวอย่าง โดยถ้าวันนี้เป็นวันเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ตั้งใจจะเลือกผู้สมัครจากพรรคใด เสียงส่วนใหญ่หรือร้อยละ 64 ยังไม่มีใครในใจ ร้อยละ 36 ระบุมีพรรคที่จะเลือกในใจแล้ว เช่น อนาคตใหม่ พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ เพื่อไทยและอื่นๆ เมื่อจำแนกออกตามกลุ่มอาชีพ กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 59.1 ระบุมีพรรคการเมืองในใจแล้ว ขณะที่กลุ่มอาชีพอื่น เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.4 พนักงานเอกชนหรือร้อยละ 69.5 และกลุ่มอาชีพอื่นๆ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.5 ยังไม่มีใครในใจ

ตั้งสเปกซื่อสัตย์ ไม่พัวพันทุจริต

นายนพดลกล่าวอีกว่า ที่น่าสนใจสเปกผู้ว่าฯกทม.ที่ต้องการ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.8 ระบุซื่อสัตย์สุจริต ไม่พัวพันทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 74.3 แก้ปัญหาเก่ง รวดเร็ว ไม่ขายฝัน พูดจริงทำจริง มีผลงาน และร้อยละ 24.5 ระบุอื่นๆ เช่น คนรุ่นใหม่ การศึกษาดี เสียสละ นโยบายจับต้องได้ น่าเชื่อถือ เป็นที่รู้จัก เป็นต้น ส่วนปัญหาเร่งด่วนที่ต้องการให้แก้ไข ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 79.6 ระบุปัญหาจราจร รถติด ความปลอดภัยทางถนน อุบัติเหตุ คนขาดวินัยจราจร ร้อยละ 56.9 ค่าครองชีพ ของแพง ทำมาหากินไม่ได้ ร้อยละ 55.1 น้ำท่วมขัง ร้อยละ 51.1 มลพิษ ขยะเน่าเหม็น สิ่งแวดล้อม ร้อยละ 50.4 อาชญากรรม ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 38.9 ปัญหาการให้บริการ รถโดยสาร ขนส่งมวลชน ร้อยละ 27.7 ถูกเรียกรับผลประโยชน์ ทุจริตคอร์รัปชัน และร้อยละ 28.6 ระบุอื่นๆ เช่น การศึกษา ยาเสพติดและไฟส่องสว่าง เป็นต้น

ยื่น กกต.สอบสถานะ ส.ส. “ไพบูลย์”

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ อดีตสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า วันที่ 10 ก.ย. คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของ กกต.คณะที่ 5 มีหนังสือเชิญตนไปให้ถ้อยคำกรณีร้องกล่าวหา น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. เนื่องจากเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆหรือไม่ และจะยื่นให้ กกต.ตรวจสอบสถานภาพ ส.ส.ของนายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป จากกรณี กกต.ประกาศให้พรรคประชาชนปฏิรูปสิ้นสภาพ เป็นคนละกรณีกับการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค มีปัญหาว่าสมาชิกภาพ ส.ส.นายไพบูลย์จะสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ที่เปิดโอกาสให้หาพรรคใหม่ภายใน 60 วันหรือไม่ และต้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคต่อไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 92 (4)หรือไม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรคนี้หรือไม่

ร้องสอบคุณสมบัติ “อุตตม”

นายเรืองไกรกล่าวอีกว่า ประเด็นที่ 2 คือคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เนื่องจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาว่านายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯไม่มีความผิดในคดีปล่อยกู้ของธนาคารกรุงไทยให้กลุ่มกฤษดานคร แต่ในคำพิพากษาส่วนหนึ่งระบุว่า คณะกรรมการบริหารธนาคารกรุงไทย มีเจตนาฝ่าฝืนประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีเจตนาช่วยเหลือผู้กู้เงินได้รับเงินสินเชื่อ 9,900 ล้านบาท โดยไม่ได้รักษาประโยชน์ของธนาคารผู้เสียหาย และมีการใช้อำนาจโดยมิชอบกระทำผิดหน้าที่ของตนเบียดบังเอาทรัพย์ของธนาคารผู้เสียหายเป็นของตนหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต นายอุตตมเป็นหนึ่งในกรรมการชุดดังกล่าว อาจมีผลถึงคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตม เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 160 (4) ระบุไว้ว่า รัฐมนตรีต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมาตรา 170 (4) บัญญัติว่าความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัวเมื่อขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 160 จึงมีเหตุไปร้องขอให้ กกต.ตรวจสอบว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายอุตตมจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่

ติง “หม่อมเต่า” อย่ารับลูกคนวิ่งเต้น

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกระแสข่าวมีการวิ่งเต้นกับนักการเมืองในพรรครวมพลังประชาชาติไทย ขอเก้าอี้อธิบดีในกระทรวงแรงงานว่า ไม่เห็นด้วยที่ข้าราชการจะไปวิ่งเต้นขอเก้าอี้ แต่ถ้าเป็นเรื่องจริงพรรคการเมืองไม่ควรไปรับลูก เพราะผู้บริหารที่มาแก้ปัญหาแรงงาน ต้องเป็นคนวิสัยทัศน์กว้างไกล ที่ผ่านมายุค คสช. การแต่งตั้งอาจดูคนที่ทำตามคำสั่งได้รวดเร็ว แต่ตอนนี้รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง รัฐมนตรีมาจากหลายพรรค โดยเฉพาะ รมว.แรงงาน มาจากพรรคเล็กร่วมรัฐบาลไม่ควรปล่อยให้มีเรื่องแบบนี้ ที่ผ่านมาการแต่งตั้งเหมาะสมแล้ว ส่วนที่มีการย้ายข้ามห้วยมาทำให้ผู้ใช้แรงงานและนายจ้างเสียโอกาส เข้ามาแล้วต้องศึกษาดูงานยังทำงานทันทีไม่ได้ กระทรวงแรงงานดูแลทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน สวัสดิการ ค่าจ้าง ความปลอดภัยดูแลคนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่รัฐบาลกลับมองเป็นกระทรวงเกรดบีเกรดซี จริงๆแล้วคนที่ต้องมาดูกระทรวงแรงงานควรเป็นคนจากพรรคพลังประชารัฐ เพราะนโยบายแต่ละนโยบายเกี่ยวข้องกับแรงงานและนายจ้างเป็นหลัก

กลุ่มไล่รัฐบาลรวมตัวตามนัด

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนราชดำเนินกลาง กลุ่มรณรงค์ไม่เอารัฐบาลเถื่อน นำโดยนายไตรรัตน์ ผลศิริวัจน์ หรือทนายแฟรงค์ และกลุ่มเลือกข้างประชาธิปไตย นำโดยนายภัทรพล ธนเดชพรเลิศ หรือไก่บิ๊กแมน รวมตัวชุมนุมขับไล่รัฐบาลตามที่ประกาศไว้ว่าจะมีขึ้นทุกสัปดาห์จนกว่าจะครบ 1 ล้านคน ปรากฏว่า มีผู้ชุมนุมเข้าร่วมราว 50 คน ทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่มักมาชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดง อย่างไรก็ตามมีอดีต ส.ส.และนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาลหลายคนเข้าร่วม อาทิ นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักษาชาติ นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.พิษณุโลก นายไพโรจน์ อิสระเสรีพงษ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย เขตหนองจอก

หวังจุดชนวนขยายมวลชนเรือนแสน

นพ.ทศพรกล่าวว่า การชุมนุมแม้จะมีคนน้อย แต่ถือได้ว่าเป็นการจุดชนวนต่อไปจะขยายฐานมวลชนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากสื่อโซเชียลมีอิทธิพล เมื่อมีการนำเสนอภาพการชุมนุมออกไป คนที่ติดตามเฝ้าดูอาจมีจำนวนนับแสนนับล้านคนแต่ไม่ได้มาร่วม แต่เมื่อถึงจุดที่จำเป็นจริงๆที่ทุกคนทนไม่ได้จะออกมาแน่ และในฐานะเป็นนักการเมืองเหตุที่มาร่วมเพราะมองเห็นว่าเป็นหน้าที่ที่จะต้องออกมาไม่ปล่อยดูดายให้ประชาชนทำอย่างเดียว โดยเฉพาะขณะนี้สิ่งที่ต้องร่วมกันกับภาคประชาชนคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยพลังประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศออกมาผลักดัน