"พลังประชารัฐ" แย้มโควต้า 8 เก้าอี้ให้ "ประชาธิปัตย์" 1 รองนายกฯ-3 รมว.-4 รมช. ด้าน "สามมิตร" ฮึดทวงคืนเกษตรฯ ยันมติทุกอย่างอยู่ที่ กก.บห.พรรค ผู้มีอำนาจคนนอกไม่มีสิทธิชี้ขาด เผยแบ่งเค้กเก้าอี้ รมต.ยังไม่จบ ต้องคุยกันอีก 

เมื่อวันที่ 27 พ.ค.62 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เข้าร่วมรัฐบาลโดยการหารือระหว่างแกนนำสองพรรค นายอุตตม ระบุว่า โควตารัฐมนตรีของประชาธิปัตย์ มี 7 คน 8 ตำแหน่ง คือ 1 เก้าอี้รองนายกฯ 3 เก้าอี้รัฐมนตรีว่าการ ได้แก่ รมว.กระทรวงพาณิชย์ รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ รมว.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วน 4 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย คือ รมช.คมนาคม รมช.มหาดไทย รมช.ศึกษาธิการ และ รมช.สาธารณสุข ขณะที่แกนนำกลุ่มสามมิตรที่เดินทางไปด้วย คือ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ มีทีท่าตกใจเนื่องจากที่ผ่านมารับทราบข่าวเรื่องโควตารัฐมนตรี จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ขณะที่ผู้มีอำนาจจริงในพรรคไม่ได้ยืนยันหรือบอกกล่าวอะไร ทำให้แกนนำกลุ่มสามมิตรต้องติดตามคณะส่งเทียบเชิญ เพื่อเกาะติดสถานการณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมจากพรรคพลังประชารัฐว่า ในการเจรจาจัดตั้งรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำนั้น ไม่จบง่ายๆเสียแล้ว เมื่อมีข่าวว่าแกนนำในพรรคเริ่มไม่พอใจการจัดสรรโควตาเก้าอี้รัฐมนตรี หลังกระทรวงเกรดเอโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ตกไปอยู่ในมือพรรคตัวแปรอย่างพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทย (ภท.) โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตรที่ไม่พอใจ และต้องการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คืน หลังมีข่าวจะยกให้พรรคประชาธิปัตย์ เพราะผ่านการดีลของผู้บุคคลที่มีอำนาจนอกพรรค โดยเห็นว่าประชาธิปัตย์ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว และได้กระทรวงพาณิชย์ไปอีก โดยมีรายงานข่าวว่าในวงหารือระหว่างการส่งเทียบเชิญว่า แกนนำพลังประชารัฐได้พูดคุยต่อรองขอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คืนจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยแลกกับกระทรวงศึกษาธิการ ที่ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ต้องการเก้าอี้ รมว.ศึกษาธิการ แต่ท่าทีของพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้จะไม่ยอมเงื่อนไขดังกล่าว

...

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นอกจากนี้การที่แกนนำพรรคพลังประชารัฐร่วมคณะไปที่พรรคประชาธิปัตย์ชุดใหญ่ รวมถึงการให้สัมภาษณ์ของ นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรค ที่ระบุว่า ต้องนำข้อเสนอทุกอย่างเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ให้มีมติก่อนเพื่อแสดงให้เห็นว่า การพูดคุยเจรจาต่อรองผ่านบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่ทำหน้าที่ประสาน ยังไม่ถือว่าเป็นมติพรรค โควตาดังกล่าวยังไม่ใช่ นายอุตตม ระบุว่า ต้องนำข้อเสนอทุกอย่างกลับมาเข้าที่ประชุมกรรมการบริหารพรรค เพื่อขอมติก่อนสรุปและท้ายที่สุดรายชื่อทั้งหมด จะเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นหลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ที่ต้องส่งรายชื่อบุคคลที่จะไปนั่งในกระทรวงต่างๆให้นายกฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติให้เหมาะสม หากบางกระทรวงยังไม่ลงตัวเรื่องบุคคล อาจให้คนนอกที่มีความสามารถเข้ามาทำหน้าที่ เพื่อให้ ครม.ใหม่มีความสง่างาม

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อเวลา 20.10 น. วันที่ 27 พ.ค.62 นายอุตตม ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า "วันนี้ตนและคณะผู้บริหารพรรคไปเรียนเชิญพรรคประชาธิปัตย์อย่างเป็นทางการ เพื่อร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล ส่วนเรื่องการแบ่งตำแหน่งรัฐมนตรีนั้น วันนี้ยังไม่ได้พูดคุยกันในรายละเอียด อาจมีการพูดคุยกันรอบ 2 เพื่อแบ่งงานและนโยบายของแต่ละพรรค ส่วนเงื่อนไขที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯนั้น ถ้าจะเป็นพรรคร่วมเรากันแล้ว ก็คาดหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนเช่นกัน อยากให้ทุกฝ่ายมองผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นที่ตั้ง ไม่ควรสร้างเงื่อน และต้องขอบคุณหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยและคณะผู้บริหาร ที่ต้อนรับอย่างอบอุ่น เชื่อว่าเราทำงานร่วมกันได้"

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าว ถูกโพสต์ไม่ถึง 10 นาที โดยได้มีการลบออกไป ต่อมาเวลา 20.50 น. นายอุตตม ได้โพสต์ลงเฟซบุ๊กอีกครั้ง ระบุว่า "ขอบคุณหัวหน้าพรรคและผู้บริหารทั้งสองพรรคที่ให้การต้อนรับอบอุ่น และเห็นในอุดมการณ์ที่เชื่อว่าเราจะสามารถทำงานร่วมกันได้.