อย่าเพิ่งไปรีบด่วนตัดสินเหตุการณ์ใดๆ ถ้าที่ผ่านมายังไม่ได้หาข้อมูลรายละเอียดชัดเจนนำเปรียบเทียบให้ชัดเจนเสียก่อน โดยเฉพาะเหตุการณ์ใหญ่ระดับประเทศอย่าง "การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทย" ทุกยุคทุกสมัยคนไทยต้องออกมาใช้สิทธิ์ของตัวเอง และแน่นอนว่า "1 สิทธิ์ 1 เสียง" ตามระบอบประชาธิปไตย ห้ามซื้อห้ามขาย ห้ามกระทำการใดๆ เสมือนไม่รักษาสิทธิ์ หากทว่า บางสิ่งบางอย่างมัน "เหนือการควบคุม" ด้วยเหตุผลกลใดก็แล้วแต่ เชื่อเถอะว่าไม่มีใครอยากให้เรื่องแบบนี้มันเกิดขึ้น
ย้อนกลับไปเมื่อ 62 ปีที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งครั้งที่ 9 ในปี พ.ศ. 2500 ซึ่งข้อมูลได้จารึกเอาไว้ว่า เป็นการเลือกตั้งที่ได้ชื่อว่า "สกปรกที่สุดในประวัติศาสตร์" เหตุนี้เอง ก่อนหน้าที่เลือกตั้งจะเกิดขึ้น "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" (นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น) ได้ประกาศจะจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ให้บริสุทธิ์ เพื่อถวายเป็น "พุทธบูชา" เนื่องในโอกาสครบรอบวาระกึ่งพุทธกาล แต่จะสะอาดบริสุทธิ์สมความตั้งใจหรือไม่ คงต้องไปวัดดวงกันวันประกาศผล
"สกปรก จนคาดไม่ถึง"
เริ่มต้นเปิดม่านฉากขึ้นมา ก็มีการข่มขู่สารพัดจากบรรดานักเลง อันธพาล ที่ทางรัฐบาลเรียกว่า "ผู้กว้างขวาง" ข่มขู่บังคับให้ชาวบ้านเลือกแต่ผู้สมัครจากพรรครัฐบาล ซ้ำยังมีการใช้อุจจาระป้ายตามประตูบ้าน รวมทั้งใช้เครื่องบินโปรยใบปลิวประณามพรรคฝ่ายค้าน กระทั่งวันเลือกตั้งมาถึง ปรากฏว่า "มีการใช้คนฝ่ายรัฐบาลเวียนเทียนกันลงคะแนน" หรือเรียกกันว่า "พลร่ม" ขณะปิดหีบแล้วมีการยัดบัตรลงคะแนนเถื่อนเข้าไป หรือเรียกกันว่า "ไพ่ไฟ" ตลอดจนแอบเปลี่ยนหีบเลือกตั้งในที่ลับตาคน และมีเหตุขลุกขลักขึ้นในหลายพื้นที่
...
ในข้อมูลระบุไว้ด้วยว่า เหตุการณ์ครั้งนี้รุนแรงถึงขนาดมีการฆาตกรรมคนที่สนับสนุนผู้สมัครบางราย อีกทั้งการนับคะแนนยังใช้เวลานับกันยาวนานถึง 7 วัน 7 คืน เรื่องดังกล่าวไม่ได้ทำกันอย่างลับๆ เพราะสื่อทุกสำนักนำข้อมูลไปตีแผ่อย่างกว้างขวางในหนังสือพิมพ์ฉบับทุกฉบับยุคสมัยนั้น
"ประชาธิปัตย์ ต้องพ่ายแพ้"
ท้ายที่สุด ผลการเลือกตั้ง ปรากฏว่า พรรคเสรีมนังคศิลา ที่เพิ่งตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2498 เพื่อรองรับการเลือกตั้งของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ พลตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์ ได้รับเสียงข้างมากที่สุด ถึง 85 ที่นั่ง เฉพาะในจังหวัดพระนคร และจังหวัดธนบุรี อันเป็นเมืองหลวง ได้ถึง 8 ที่นั่ง โดย จอมพล ป. ได้รับเลือกมาด้วยคะแนนเป็นลำดับหนึ่ง ด้วยคะแนน 137,735 ตามมาด้วย พันตรี ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคฝ่ายค้านคู่แข่งสำคัญ ด้วยคะแนน 118,457 ซึ่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ได้เพียงแค่ 4 ที่นั่งเท่านั้น คือ พันตรี ควง อภัยวงศ์, นาวาโท พระประยุทธชลธี ของจังหวัดพระนคร และ นายไถง สุวรรณทัต กับ นายมนัส สุวรรณทัต ของจังหวัดธนบุรี และทั่วประเทศได้เพียง 31 ที่นั่งเท่านั้น
"ประท้วงใหญ่ - จอมพลสฤษดิ์ โผล่ ประกาศลั่น ไม่ทำร้ายประชาชน"
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ไม่อาจเป็นที่ยอมรับ ต่อมาในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2500 นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งประชาชนทั่วไป ได้ร่วมกันเดินขบวนประท้วงการเลือกตั้ง โดยเริ่มขบวนที่ท้องสนามหลวง และเดินไปเรื่อยโดยมีทำเนียบรัฐบาลเป็นจุดหมาย มีการลดธงชาติครึ่งเสาเพื่อไว้อาลัยการเลือกตั้ง หมายจะให้ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ชี้แจงการเลือกตั้งครั้งนี้ให้จงได้
เหตุนี้เอง "จอมพล ป. พิบูลสงคราม" ได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในวันเดียวกันนั้น ต่อมาเมื่อขบวนผู้ชุมนุมมาถึงสะพานมัฆวานรังสรรค์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งทางจอมพล ป.ได้แต่งตั้งให้เป็นผู้ควบคุมดูแลสถานการณ์ในขณะนั้น กลับถอดหมวกโบกรับกลุ่มผู้ชุมนุมด้วยมิตรไมตรี พร้อมให้เหตุผลว่า "ทหารจะไม่มีวันทำร้ายประชาชน" และนำพาผู้ชุมนุมเข้าสู่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเจรจากับ จอมพล ป.
ที่สุด จอมพล ป.ต้องลงมาเจรจาด้วยตนเองที่สนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า และได้ข้อสรุปว่า จอมพล ป.ยอมรับว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และจะจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ การชุมนุมจึงสลายตัวไป และมีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2500
ทหาร - ตำรวจ แตก 2 ฝ่าย เลือกข้างสนับสนุน
ต่อมาเหตุการณ์ได้ขยายตัวและบานปลาย กลายเป็นความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มทหารและตำรวจที่สนับสนุน จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ส่วนฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ที่ได้มีท่าทีเช่นนี้ ได้สร้างความนิยมขึ้นอย่างมากในหมู่ประชาชน แต่ก็ถือว่าเป็นการกระทำที่ท้าทายอำนาจจอมพล ป. เพราะหลังจากนี้ จอมพลสฤษดิ์ยังได้ประกาศด้วยตนเองผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเป็นนัยทิ้งท้ายโดยกล่าวถึงผู้ชุมนุมที่ผ่านมาว่า "แล้วพบกันใหม่ เมื่อชาติต้องการ"
"รัฐประหาร ยึดอำนาจจอมพล ป. "
ท้ายที่สุด รัฐประหารเกิดขึ้นในเวลา 18.00 น. ของวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 พล.ท.ประภาส จารุเสถียร แม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) ใช้รถถัง รถหุ้มเกราะและกำลังพล กระจายกำลังออกยึดจุดยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น หอประชุมกองทัพบก ที่ถนนราชดำเนินนอก เป็นต้น ในส่วนของกองบัญชาการตำรวจกองปราบ ที่สามยอด ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ได้รับคำสั่งให้ยึดให้ได้ภายใน 120 นาที ก็สามารถยึดได้โดยเรียบร้อย
ร.ท.เชาว์ ดีสุวรรณ ในขณะที่ พล.จ.กฤษณ์ สีวะรา รองแม่ทัพภาคที่ 1 (ยศและตำแหน่งในขณะนั้น) พ.ท.เอิบ แสงฤทธิ์ พ.ต.เรืองศักดิ์ ชุมะสุวรรณ พ.อ.เอื้อม จิรพงษ์ และ ร.อ.ทวิช เปล่งวิทยา นำกำลังตามแผนยุทธศาสตร์ "เข้าตีรังแตน" โดยนำกองกำลังทหารราบที่ 1 พัน 3 บุกเข้าไปยึดวังปารุสกวัน ซึ่งเป็นกองบัญชาการตำรวจนครบาล จากนั้นจึงติดตามด้วยกองกำลังรถถัง ในขณะที่กองทัพเรือ พล.ร.อ.หลวงชำนาญอรรถยุทธ ผู้บัญชาการทหารเรือ ได้สั่งวิทยุเรียกเรือรบ 2 ลำ ยึดท่าวาสุกรี และส่งกำลังส่วนหนึ่งยึดบริเวณหน้าวัดราชาธิวาส เพื่อประสานงานยึดอำนาจ จนกระทั่งการยึดอำนาจผ่านไปอย่างเรียบร้อย
หลบหนีโดยไม่ต่อสู้
ขณะที่ฝ่าย จอมพล ป. พิบูลสงคราม รู้ล่วงหน้าก่อนเพียงไม่กี่นาที จึงตัดสินใจหลบหนีโดยไม่ต่อสู้ โดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ด พร้อมกับคนติดตามเพียง 3 คน เท่านั้นคือ นายฉาย วิโรจน์ศิริ เลขานุการส่วนตัว พ.ต.อ.ชุมพล โลหะชาละ นายตำรวจติดตามตัว และ พ.ท.บุลศักดิ์ วรรณมาศ ทั้งหมดได้หลบหนีไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา ก่อนลงเรือ จอมพล ป. ได้ให้ พ.ท.บุลศักดิ์ นำรถไปคืนสำนักนายกรัฐมนตรี และเข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติ คือ จอมพลสฤษดิ์ ว่า ทั้ง 3 ได้หลบหนีออกนอกประเทศไปแล้ว ขออย่าได้ติดตามไปเลย
ขณะที่ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ ยังมิได้หลบหนีไปเหมือนจอมพล ป. แต่ถูกควบคุมตัวเข้ากองบัญชาการคณะปฏิวัติ พร้อมกับกล่าวว่า "อั๊วมาแล้ว จะเอาอย่างไรก็ว่า" แต่ในวันรุ่งขึ้นก็ต้องเดินทางออกจากประเทศไทยไปยังสวิตเซอร์แลนด์
พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9
วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2500 พจน์ สารสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 9 ของราชอาณาจักรไทย ต่อมาในวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2500 กระทั่งวันที่ 23.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึกในบางจังหวัด โดยทรงยกเลิกกฎอัยการศึกทั้งหมด 46 จังหวัด และให้คงกฎอัยการศึกไว้ทั้งหมด 26 จังหวัด จากทั้งหมด 72 จังหวัด โดยนายพจน์ สารสิน นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2501 พลโทถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 10 ของราชอาณาจักรไทย ตามมติสภาผู้แทนราษฎร และในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2501 6.00 น. มีพระบรมราชโองการให้เลิกประกาศกฎอัยการศึก ใน 26 จังหวัด ที่ยังคงให้ประกาศกฎอัยการศึกไว้ เป็นอันจบเหตุการณ์เนื่องจากยกเลิกใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในวันและเวลาดังกล่าว โดยมีพลโท ถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
***จอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ แปลก พิบูลสงคราม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "จอมพล ป.พิบูลสงคราม" เป็นนายกรัฐมนตรีไทยที่ดำรงตำแหน่งนานที่สุด คือ 15 ปี 24 วัน รวม 8 สมัย เป็นยุคที่ มุ่งมั่นพัฒนาประเทศไทย ให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมนานาอารยประเทศ ปลุกระดมให้คนไทย "รักชาติ" และ "รัฐนิยม" กระทั่งต่อมาประเพณีหลายอย่าง ถูกประกาศให้เป็นวัฒนธรรมของชาติตามกฎหมาย เช่น การรำวง, ก๋วยเตี๋ยวผัดไทย จอมพล ป. เป็นผู้เปลี่ยนชื่อ "ประเทศสยาม" เป็น "ประเทศไทย" และเป็นผู้เปลี่ยน "เพลงชาติไทย" มาเป็นเพลงที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน