เหมือนจะไม่เคยมีเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย สำหรับการนับคะแนนข้ามวันข้ามคืน เพราะเท่าที่ผ่านๆ มา หลังจากปิดหีบเลือกตั้งเพียงไม่นาน ก็จะได้ทราบถึงผลคะแนนของพรรคที่เป็นผู้ชนะหรือได้จัดตั้งรัฐบาลทันที ภายในวันนั้น แต่การเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 62 กลับกลายเป็นว่า ผ่านมาจะ 4 วันแล้ว ยังไม่ประกาศผล คะแนน และตัวเลขยังไม่นิ่ง แถมโลกโซเชียลยังจ้องหาข้อผิดพลาดโจมตี กกต. เรื่องความล่าช้าและพิรุธอีกหลายอย่าง เท็จจริงอย่างไรอยู่ที่กระบวนการตรวจสอบ
แต่อย่าลืมนะคะว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ ระบบนับคะแนน และการคิดคำนวณนำไปประมวลภาพรวมของคะแนนทั้งประเทศ ระบบเหล่านี้ จึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และอาจจะมีความล่าช้ามากกว่าปกติ ขณะเดียวกันประชาชนน่าจะยังเข้าไม่ถึงระบบนับคะแนนที่ซับซ้อนมากนัก ผนวกกับสถานการณ์ความไม่ชัดเจนหลายอย่าง จึงมุ่งเป้าโจมตีไปยัง กกต. ว่าทำงานผิดพลาดครั้งใหญ่
เลือกตั้ง 54 ประกาศผลในวันเดียว เพื่อไทยชนะ
หากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 มีขึ้นในห้วงที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำรัฐบาล อันประกอบด้วยพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค และได้มีการชุมนุมของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา ทำให้คะแนนนิยมของรัฐบาลลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งก่อนสภาผู้แทนราษฎรจะครบวาระ
การเลือกตั้งครั้งนั้น มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งออกมาใช้สิทธิ์ทั้งสิ้น 75.03% จากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 46,921,682 คน พรรคที่ได้รับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อมากที่สุดคือ พรรคเพื่อไทย 15,744,190 คะแนน และรองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ 11,433,501 คะแนน
...
ผู้ใช้สิทธิ์เลือกพรรคเพื่อไทย คิดเป็น 44.72% ของจำนวนผู้ที่ออกมาเลือกตั้งในปี 2554 ผลปรากฏว่าพรรคเพื่อไทยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎรเกินกึ่งหนึ่ง 265 ที่ นับเป็นครั้งที่สองในรอบทศวรรษที่มีพรรคการเมืองได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร และ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" เป็นว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นพรรคฝ่ายค้านหลัก โดยได้ที่นั่งผู้แทนราษฎร 159 ที่
ความเคลื่อนไหวเลือกตั้งล่วงหน้า จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2554 หนึ่งสัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้งจริง มีผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิ์มากถึง 2.6 ล้านคน รวมทั้ง 1.07 ล้านคนในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งหลายคนไม่สามารถลงคะแนนได้เนื่องจากมีผู้ไปใช้สิทธิ์กันอย่างหนาแน่น ส่วนการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรนั้น มีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรถึง 147,330 คน เพิ่มขึ้นจาก 90,205 คน เมื่อปี พ.ศ. 2550 จำนวนผู้ลงทะเบียนในสิงคโปร์มีเกิน 10,000 คน และในสหราชอาณาจักรมีผู้ลงทะเบียนเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า คือ 4,775 คน เทียบกับ 2,296 คน และไม่พบว่ามีบัตรเสียเหมือนครั้งนี้
เลือกตั้ง 2 เมษายน 2549 ประกาศผลไว สุดท้ายยุบพรรค
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป 2 เมษายน พ.ศ. 2549 เป็นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จัดขึ้น โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากนายกรัฐมนตรี พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตรได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,778,628 คน จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 28,998,364 คน (64.76%) แยกเป็นบัตรเสีย 3,778,981 ใบ (คิดเป็น 13.03%) ไม่ประสงค์ลงคะแนน 9,610,874 คน (คิดเป็น 33.14%) แยกรายพรรค 15,608,509 คะแนน
ส่วนการใช้สิทธิเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 44,909,562 คน จำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง 29,088,209 คน (64.77%) แยกเป็นบัตรเสีย 1,680,101 ใบ (คิดเป็น 5.78%) ไม่ประสงค์ลงคะแนน (โหวตโน) 9,051,706 คน (คิดเป็น 31.12%)
แยกรายพรรค 18,356,402 คะแนน
พรรคไทยรักไทย 16,420,755 คะแนน (คิดเป็น 56.45%)
พรรคเกษตรกรไทย 675,662 คะแนน
พรรคพลังประชาชน 305,015 คะแนน
พรรคประชากรไทย 292,895 คะแนน
พรรคธัมมาธิปไตย 255,853 คะแนน
พรรคไทยช่วยไทย 146,680 คะแนน
พรรคพัฒนาชาติไทย 134,534 คะแนน
พรรคแผ่นดินไทย 125,008 คะแนน
อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2549 ซึ่งทหารได้ออกมายึดอำนาจวันที่ 19 กันยายน 2549 การเลือกตั้งวันที่ 15 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิดขึ้น
การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 22 เมื่อวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 เป็นการเลือกตังทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ภายหลังหลังจากที่รัฐบาลนาย ชวน หลีกภัย ได้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 แล้วเสร็จ จึงได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2543 แล้วกำหนดให้มีการเลือกทั่วไปใน วันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544
การเลือกตั้งครั้งนี้ ถือเป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ส่งผลให้กฎกติกาทางการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของระบบการเลือกตั้ง มีการเปลี่ยนแปลงไปจากการเลือกตั้งครั้งก่อน อาทิ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 500 คน โดยเป็นสมาชิกซึ่งมาจากระบบการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ (Party lists) จำนวน 100 คน และสมาชิกมาจากระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง (One man one vote) จำนวน 400 คน (มาตรา 98) นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังได้ให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้ควบคุมและจัดให้มีการเลือกตั้ง
ในการเลือกตั้งครั้งนี้มีพรรคการเมืองส่งผู้สมัครมากเป็นประวัติการณ์ถึง 43 พรรค มีจำนวนผู้สมัครรวมทั้งหมด 3,722 คน แบ่งเป็นจำนวนผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 940 คน และแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 2,782 คน ภายหลังจากประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน พบว่ามีพรรคการเมืองเพียง 5 พรรคเท่านั้นที่ส่งผู้สมัครลงสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อครบ 100 คน อันได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคไทยรักไทย พรรคชาติไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติพัฒนา และสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง มีเพียงพรรคไทยรักไทย เพียงพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น ที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขตเลือกตั้งจำนวน 400 คน รองลงมาคือ พรรคประชาธิปัตย์ โดยได้ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งจำนวน 398 คน
การเลือกตั้งเสร็จสิ้นภายในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ.2544 ถูกประกาศออกอย่างเป็นทางการ "พรรคไทยรักไทย" ได้รับคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นและเป็นพรรคการเมืองพรรคแรกที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้พรรคเพิ่งเริ่มก่อตั้งมาได้เพียง 2 ปีเศษเท่านั้น โดยได้คะแนนเสียง 247 ที่นั่ง จากจำนวนที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 ที่นั่ง และได้รวมตัวเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคชาติไทยที่มีคะแนนเสียง 40 ที่นั่ง
พรรคความหวังใหม่ 36 ที่นั่ง และพรรคเสรีธรรม 14 ที่นั่ง เป็นผลให้รัฐบาลผสมชุดนี้มีคะแนนเสียงรวมทั้งสิ้น 337 ที่นั่ง และเป็นผลให้พรรคฝ่ายค้านมีจำนวนที่นั่งในสภาเหลือเพียง 163 ที่นั่ง นั่นคือ พรรคประชาธิปัตย์จำนวน 128 ที่นั่ง พรรคชาติพัฒนา 31 ที่นั่ง พรรคราษฎร 2 ที่นั่ง พรรคถิ่นไทย 1 ที่นั่ง และพรรคกิจสังคม 1 ที่นั่ง เท่านั้น
เลือกตั้ง 24 มีนาคม 62 ผ่านมา 4 วัน ยังแย่งกันจัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่าประชาชนจะพากันไปลงคะแนนเสียงกันเสร็จสิ้นแล้วเมื่อ 4 วันก่อน แต่ทาง กกต. ยังไม่มีการสรุปคะแนนหรือชี้ชัดตัดสินเด็ดขาดว่าพรรคไหนเป็นผู้ชนะ จากเดิมที กกต.กำหนดไว้ว่า จะสามารถเปิดเผยผลการเลือกตั้ง 95% ได้ในเวลาประมาณ 20.00 น. วันที่ 24 มีนาคม 2562 กระทั่งต่อมา นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ได้แถลงผลนับคะแนน 90% และขอเลื่อนการประกาศผลเลือกตั้ง 95% เป็นวันที่ 25 มีนาคม แทน
ส่วนการประกาศผลอย่างเป็นทางการนั้น กกต.ได้ระบุไว้ก่อนหน้านั้นก็คือ ภายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 ซึ่งยังอยู่ในกรอบการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วัน โดยเดือนเมษายนนั้น กกต. มีกำหนดพิจารณาให้ใบเหลือง ใบแดง หรือ จัดให้มีการเลือกตั้งซ่อม ตรวจนับคำนวณผล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ วันที่ 9 พฤษภาคม คาดว่า กกต. จะประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการได้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้การนับคะแนนและสรุปผลผู้ชนะล่าช้า เกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุ เช่น 1.รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.กติกาการเลือกตั้ง 3.กกต. และ 4.วิธีการนับคะแนน และถึงแม้ตอนนี้พรรคเพื่อไทย จะออกมาแถลงข่าว หาแนวร่วมจัดตั้งรัฐบาลได้เกิน 250 เสียงแล้ว แต่ยังเป็นสถานการณ์ที่ปริ่มน้ำ ไม่แข็งแรงพอที่จะมีรัฐบาลที่สมบูรณ์แบบ ซึ่งก็ต้องดูท่าทีของ พรรคภูมิใจไทย ว่าจะยอมเทคะแนนไปฝั่งไหน หลังจากนั้นก็ว่ากันไปอีกทีตามสถานการณ์บ้านเมือง
**เพราะรัฐธรรมนูญใหม่ การประมวลผลแบบใหม่ นับคะแนนก็แบบใหม่ รวมไปถึงกติกาใหม่ๆ บานตะไท นอกจากประชาชนคนไทยต้องสร้างความเข้าใจเรื่องระบบเลือกตั้งใหม่ทั้งหมดแล้ว กกต.เอง อาจจะยังต้องปรับจูนความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ด้วยเช่นกัน เพราะอย่าลืมว่า ครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกของ กกต. ที่ต้องทำอะไรภายใต้ความกดดันใหม่ๆที่ยังไม่คุ้นชินนัก